พระมหากัสสปเถระ : ผู้เป็นดุจหงส์

พระมหากัสสปเถระ : ผู้เป็นดุจหงส์

อรหันต์ ฮิต: 1393

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

อุยฺยุญชนฺติ สตีมนฺโต น นิเกเต รมนฺติ เต หํสาว ปลฺลลํ หิตฺวา โอกโมกํ ชหนุติ เต.

ท่านผู้มีสติ ย่อมขวนขวาย ไม่ยินดีในที่อยู่ ละความห่วงใยทั้งปวง เหมือนหมู่หงส์ไม่หวงเปือกตมบินไป ฉะนั้น


พระมหากัสสปะเป็นที่รู้จักของชาวราชคฤห์ทั่วไป จึงตามเสด็จได้ถึงแค่ซอกมาปมาทะ

พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ (ออกพรรษาแล้ว) ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “โดยกาลล่วงไปถึงเดือน (= อีก ๑๕ วัน) เราจะหลีกออกไปสู่ที่จาริก” ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วได้รีบทำกิจต่างๆ ที่ควรทำ เช่น ย้อมจีวร และระบมบาตรให้พร้อมเพื่อติดตามเสด็จ แม้แต่ พระมหากัสสปเถระ ก็ยังซักจีวรทั้งหลายเตรียมพร้อม, ภิกษุบางพวกเห็นท่านซักจีวรแล้วตั้งข้อ สังเกตกันว่า ในเขตกรุงราชคฤห์มีมนุษย์อยู่ ๑๘ โกฏิ ประชาชนเหล่านั้นต่างรู้จักพระมหากัสสปะ บางคนเป็นญาติ บางคนเป็นผู้อุปัฏฐาก ไม่มีใครไม่รู้จักพระเถระ พวกเขานับถือและทำสักการะ แก่ท่านด้วยปัจจัย ๔ พระเถระจะไปจากกรุงราชคฤห์ได้อย่างไรกัน ถ้าท่านจะตามเสด็จ ก็จะตามไปได้ไม่เกินซอกชื่อ “มาปมาทะ” ท่านว่าซอก (สถานที่แห่งหนึ่งเขตกรุงราชคฤห์ ไม่ไกลจากเขตพระนคร) ชื่อ มาปมาทะ เป็นสถานที่ๆ พระศาสดาเสด็จถึงแล้ว มักหยุดและตรัสบอกให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง, กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่พระองค์เห็นสมควรให้กลับ ไม่ต้องติดตามเสด็จ ด้วยพระพุทธดํารัสว่า “เธอทั้งหลายจงกลับเสียจากที่นี่ อย่าประมาท” ซอกนั้นจึงเรียกว่า “ซอกมาปมาทะ (ซอกอย่าประมาท)”

เมื่อถึงวันที่ ๑๕ พระมหากัสสปะและภิกษุบริวารก็ติดตามเสด็จเพื่อออกจาริก พระศาสดาทรงดําริว่า ในเขตพระนครราชคฤห์นี้มีมนุษย์อยู่มากถึง ๑๘ โกฏิ ล้วนเกี่ยวข้องกับพระมหากัสสปะ ถ้าไม่เป็นญาติก็เป็นคนอุปัฏฐาก พวกเขาต้องการภิกษุในงานมงคลและอวมงคล พระวิหาร (เวฬุวัน) ไม่ควรว่างเปล่าจากภิกษุ จึงตรัสให้พระมหากัสสปะนำภิกษุบริวารกลับ พระเถระรับว่า “ดีล่ะ พระพุทธเจ้าข้า”

ภิกษุเหล่านั้นจึงโพนทะนากันว่า “เห็นไหมล่ะ เป็นจริงอย่างที่เราพูดไว้ แม้พระมหากัสสปะจะซักจีวร แต่ท่านก็จะไม่ตามเสด็จไปหรอก” พระศาสดาทรงทราบถ้อยคําเหล่านั้นแล้วตรัสกับภิกษุพวกนั้นว่า พระมหากัสสปะไม่ได้กลับเพราะติดข้องในตระกูลหรือในปัจจัยทั้งหลาย แต่เธอ กลับเพราะทําตามคำของเรา, แม้แต่ในปางก่อนเธอก็ตั้งความปรารถนาจะไม่ติดข้องในปัจจัย ๔ เป็นผู้ทำตนดุจดังพระจันทร์ลอยเด่นไม่ติดข้องกับอะไรๆ เป็นไปตามที่เธอตั้งความปรารถนาไว้ ตั้งแต่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปทุมุตตระ...เวลาเราสอนข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติอริยวงศ์ เราก็จะอ้างถึงกัสสปะผู้เป็นบุตรของเรากัสสปะเหมือนพระยาหงส์ร่อนลง ในเปือกตม ร่อนลงแล้วก็บินไป แล้วตรัสภาษิตนี้

อธิบายพุทธภาษิต : ท่านผู้ถึงความสมบูรณ์ของสติ ในที่นี้หมายถึง ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมขวนขวาย (รักษา, เสพเนืองๆ) สืบต่ออยู่ในคุณที่บรรลุแล้ว เช่น ฌาน และวิปัสสนา เป็นต้น ด้วยการเข้าออกฌานสมาบัติ และการพิจารณาขันธ์ เป็นต้น, ฝูงนกกินเหยื่อในเปือกตมอิ่มแล้ว ก็บินไปโดยไม่มีความหวงแหนแหล่งน้ำนั้นว่า “น้ำของเรา ดอกบัวของเรา หรือหญ้าของเรา” บินแล่นไปในอากาศ ฉันใด พระขีณาสพทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น เข้าสู่ตระกูลก็ไม่ติดข้อง ออกจากตระกูลหรือที่อยู่นั้นแล้ว ก็ไม่หวงแหนว่า “วิหารของเรา บริเวณของเรา หรืออุปัฏฐากของเรา” ไปแล้ว, ชหนุติ (ย่อมละ), โอกโมกํ (ความห่วงใย) คือ อาลัย (ตัณหา) ดู ธ.อ.๒/๓๐๖-๓๐๙

คติธรรมความรู้ พระอรหันต์เป็นผู้ไม่ติดข้องในตระกูลอุปัฏฐาก หรือในปัจจัย ๔ ว่าเป็นของเรา เหมือนพระยาหงส์กินอาหารในสระแล้ว ก็บินไปโดยไร้ความหวงแหน

พิมพ์