ภิกษุห้าร้อยรูป : พูดถึงดินภายนอก

ภิกษุห้าร้อยรูป : พูดถึงดินภายนอก

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

โก อิมํ ปฐวี วิเชสุสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ
โก ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ

ใครจะรู้แจ้งแผ่นดินนี้ พร้อมทั้งยมโลก (มนุษย์โลก)นี้ และเทวโลกด้วย ใคร
จะเลือกบทแห่งธรรมที่เราแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนคนผู้ฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น

 

เสโข ปฐวี วิเชสุสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ
เสโข ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ

พระเสขะจะรู้แจ้งแผ่นดินนี้ด้วยพร้อมทั้งยมโลก (มนุษย์โลก)นี้ และเทวโลก
ด้วย พระเสขะจะเลือกบทแห่งธรรมที่เราแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนคนผู้ฉลาดเลือก เก็บดอกไม้ ฉะนั้น

 

ภิกษุห้าร้อยรูปพูดถึงดินภายนอก, ตรัสให้พิจารณาดินภายใน ด้วยการเลือกบทธรรมที่พระเสขะเลือก

 

พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในชนบท กลับมาถึงพระเชตวัน กรุงสาวัตถีแล้ว ภิกษุกลุ่มหนึ่ง นั่งคุยกันในอุปัฏฐานสาลา (ศาลาเป็นที่บำรุง, โรงฉัน) ถึงเส้นทางจาริก เช่น ที่หมู่บ้านโน้นเป็นที่ ราบลุ่มมีหล่มเลนมาก หมู่บ้านโน้นเป็นที่ดอน ทางเดินจึงมีกรวดหินมาก หมู่บ้านโน้นติดเทือกเขา มีดินลูกรังมาก... พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงสอบถามถึงเรื่องที่กำลังสนทนากันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นทูล ว่า กำลังคุยกันเรื่องพื้นปฐพีของหมู่บ้านต่างๆ ที่พระองค์เสด็จไป พระเจ้าข้า, พระศาสดาตรัสว่า "สิ่งที่พวกเธอพูดถึงนั้นเป็นปฐพีภายนอก พวกเธอควรสนใจปฐพีภายในจะดีกว่า" แล้วตรัสภาษิต ๒ คาถานี้ จบพระเทศนา ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปบรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

 

อธิบายพุทธภาษิต

 

"ปฐวี" ในที่นี้หมายถึง อัตภาพ (กายใจ,รูปนาม) จะรู้แจ้ง (วิเชสฺสติ) คือ รู้ตลอด ได้แก่ กระทำให้แจ้งด้วยญาณของตน, ยมโลก ได้แก่ อบายโลก ๔ (เช่น นรก เป็นต้น) อิมํ สเทวกํ-นี้ พร้อมทั้งเทวโลก หมายถึง รู้ตลอดคือกระทำให้แจ้งซึ่งมนุษย์โลกนี้กับ ทั้งเทวโลกด้วย, บทแห่งธรรม (ธมุมปทํ) คือ ใครจะคัดเลือก คือ จักใคร่ครวญ (อุปปริกฺขิสฺสติ) จักรู้ตลอด (ปฏิวิชฺฌิสฺสติ) จักทำให้แจ้ง (สจฺฉิกริสฺสติ) ซึ่งบทธรรมนั้น คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่ทรงแสดงดีแล้ว (ธมุมปทํ สุเทสิตํ) ตามความเป็นจริง เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกเก็บ ดอกไม้อยู่ ฉะนั้น, แล้วทรงเฉลยว่า พระเสขะ ได้แก่ พระอริยบุคคล ๗ ตั้งแต่ผู้ดำรงอยู่ในโสดา ปัตติมรรคจนถึงท่านผู้ดำรงอยู่ในอรหัตตมรรค เป็นกลุ่มคนที่รู้แจ้งแผ่นดิน คือ อัตภาพนี้ ยมโลก และเทวโลก, พวกท่านชื่อว่า พระเสขะ เพราะยังต้องศึกษาในสิกขา ๓ เหล่านี้ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อคร่าฉันทราคะ (ความพอใจรักใคร) ให้ออกไปจากอัตภาพนั้น ด้วยอรหัตตมรรค (ท่านถือว่ากำลังกำจัดฉันทราคะ)

นายมาลาการ (ช่างร้อยดอกไม้ จัดดอกไม้) เข้าไปเลือกดอกไม้ในสวน เลือกเอาเฉพาะดอก ที่สวยดีตามที่ต้องการ ฉันใด, พระเสขะก็เป็นเช่นนั้น เลือกสรรบทแห่งธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว มาพิจารณา ปฏิบัติตามจนกระทำให้แจ้งโพธิปักขิยธรรมได้ (ดู ธ.อ.๒/๔-๖)

 

คติธรรมความรู้ พระเสขะเลือกบทแห่งธรรมคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ดุจเลือกดอกไม้ที่เหมาะกับอัธยาศัยของตน แล้วปฏิบัติทำให้แจ้งปฐวีภายใน คืออัตภาพของตนได้


พิมพ์