โสดาบัน

โสดาบัน

ปริยัติธรรม

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดคำวัด, วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร, กรุงเทพฯ: 2548
"โสดาบัน 3" พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 4 มกราคม 2548 สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2559

โสดาบัน แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสธรรม (แห่งพระนิพพาน) หรือ ผู้ที่มี "ดวงตาเห็นธรรม" ถือเป็นอริยบุคคลระดับแรกใน ๔ ระดับ คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์

การละสังโยชน์

โสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการคือ

  1. สักกายทิฏฐิ (กา-ยะ-) คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตนเป็นอัตตาทิฎฐิ เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน
  2. วิจิกิจฉา (กิด-) คือ ความสงสัยในพระรัตนตรัย และในกุศลธรรมทั้งหลาย
  3. สีลัพพตปรามาส (ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด) คือ ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ที่เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่น การประพฤติวัตรอย่างโค การนอนบนหนามของพวกโยคี เป็นต้น

การบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต (นักบวช) เท่านั้น แม้แต่คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุเป็นอริยบุคคลได้ ผู้บรรลุโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมากได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

ประเภท

โสดาบัน แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

  1. เอกพีชี (เอ-กะ-) ผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว ก็จะบรรลุเป็นอรหันต์
  2. โกลังโกละ ผู้ไปจากสกุลสู่สกุล คือจะมาเกิดอีกเพียง ๒-๓ ชาติเท่านั้น แล้วจะได้สำเร็จเป็นอรหันต์
  3. สัตตักขัตตุงปรมะ (ปะ-ระ-) ผู้มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

การที่โสดาบันแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังที่เพราะว่าอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ สติ และปัญญา แก่กล้าแตกต่างกัน ผู้ที่อินทรีย์ ๕ ถึงความแก่รอบสม่ำเสมอ ก็สามารถบรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว โสดาบันประเภทนี้เอกพีชีโสดาบัน

ตัวอย่างบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลในพุทธกาล

  1. นางวิสาขา
  2. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
  3. นางสิริมา
  4. พระนางสามาวดี
  5. พระเจ้าพิมพิสาร

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

โสดาบัน แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสธรรม (แห่งพระนิพพาน) ถือเป็นอริยบุคคลระดับแรกใน ๔ ระดับ คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์

คุณสมบัติของบุคคลโสดาบัน

คุณสมบัติของพระโสดาบันเท่าที่รู้กันดีโดยทั่วไป ก็คือ การละสังโยชน์ ๓ ข้อต้น (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส) ได้ ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติฝ่ายลบ หรือฝ่ายหมดไป แต่ความจริง มีคุณสมบัติฝ่ายบวก หรือฝ่ายมีด้วย และตามหลักฐานปรากฏว่า ท่านเน้นคุณสมบัติฝ่ายมีเป็นอย่างมาก

คุณสมบัติฝ่ายมีนั้น มีหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็รวมอยู่ในหลักธรรมสําคัญสําหรับตั้งเป็น เกณฑ์ได้ ๕ อย่าง คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ (ความเสียสละ) และปัญญา ในที่นี้ จะรวบรวมคุณสมบัติต่างๆ ทั้งฝ่ายหมดและฝ่ายมีมาเรียงไว้ โดยแสดงเฉพาะสาระสําคัญ ดังนี้

คุณสมบัติฝ่ายมี

๑. ด้านศรัทธา: เชื่อมีเหตุผล เชื่อมั่นในความจริง ความดีงาม และกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล มั่นใจในปัญญาของมนุษย์ที่จะดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาได้ตามทางแห่งเหตุผล และเชื่อในสังคมที่ดีงามของมนุษย์ซึ่งจะเจริญ งอกงามขึ้นได้ตามแนวทางเช่นนั้น ความเชื่อมั่นนี้แสดงออกด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาใน พระรัตนตรัย เป็นศรัทธาซึ่งแน่วแน่ มั่นคง ไม่มีทางผันแปร เพราะเกิดจากญาณ คือความรู้ ความเข้าใจ

๒. ด้านศีล: มีความประพฤติ ทั้งทางกาย วาจา และการเลี้ยงชีพ สุจริต เป็นที่พอใจของอริยชน มีศีลที่เป็นไทคือเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของตัณหา ประพฤติตรงตามหลักการ ตามความหมายที่แท้ เพื่อความดี ความงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความขัดเกลาลดกิเลส ความสงบใจ เป็นไปเพื่อสมาธิ โดยทั่วไปหมายถึง ศีล ๕ ที่ประพฤติอย่างถูกต้อง จัดเป็นขั้นที่บําเพ็ญศีลได้บริบูรณ์

๓. ด้านสุตะ: เป็นสุตวา อริยสาวก หรืออริยสาวกผู้มีสุตะ คือได้เรียนรู้อริยธรรม รู้จักอารยธรรม นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา
๔. ด้านจาคะ: อยู่ครองเรือนด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่ มีน้ําใจเผื่อแผ่เสียสละ ยินดีในการให้ การเฉลี่ยเจือจานแบ่งปัน
๕. ด้านปัญญา: มีปัญญาอย่างเสขะ คือรู้ชัดในอริยสัจ ๔ มองเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา เป็นอย่างดี จนสลัดมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายในรูปแบบต่างๆ ได้สิ้นเชิง หมดความสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น เรียกตามสํานวนธรรมว่า เป็นผู้รู้จักโลกแท้จริง
๖. ด้านสังคม: พระโสดาบันเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมสําหรับสร้างความสามัคคีและเอกภาพของหมู่ชน ที่ เรียกว่า สาราณียธรรม ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักข้อสุดท้ายที่ท่านถือว่า เป็นดุจยอดที่ยึดคุมหลักข้ออื่นๆ เข้าไว้ทั้งหมด กล่าวคือ ข้อว่าด้วยทิฏฐิสามัญญตา

สาราณียธรรม มี ๖ ข้อ คือ

๑) เมตตากายกรรม แสดงออกทางกายด้วยเมตตา เช่น ช่วยเหลือกัน และแสดงกิริยาสุภาพเคารพนับถือกัน
๒) เมตตาวจีกรรม แสดงออกทางวาจาด้วยเมตตา เช่น บอกแจ้งแนะนําตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพต่อกัน
๓) เมตตามโนกรรม คิดต่อกันด้วยเมตตา เช่น มองกันในแง่ดี คิดทําประโยชน์แก่กัน ยิ้มแย้มแจ่มใส
๔) สาธารณโภคี แบ่งปันลาภอันชอบธรรม เฉลี่ยเจือจานให้ได้มีส่วนร่วมทั่วกัน
๕) สีลสามัญญตา มีความประพฤติสุจริตเสมอกับผู้อื่น ไม่ทําตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่
๖) ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นชอบร่วมกับเพื่อนร่วมหมู่ ในอารยทฤษฎี ซึ่งนําไปสู่การกําจัดทุกข์

ในข้อความที่ชี้แจงความหมายของอารยทฤษฎี หรือทิฏฐิที่เป็นอริยะ ในข้อ ๖ นั้น มีลักษณะที่เป็น ธรรมดาของพระโสดาบัน ซึ่งควรนํามากล่าวในที่นี้ ๒ อย่าง คือ

๑) เป็นธรรมดาของบุคคลโสดาบันที่ว่า เมื่อต้องอาบัติ (ละเมิดวินัย) ซึ่งแก้ไขได้ ก็จะรีบเปิดเผยแสดงให้พระศาสดาหรือเพื่อนร่วมหมู่คณะที่เป็นวิญญูได้ทราบทันที แล้วสังวรต่อไป เปรียบเหมือนเด็ก อ่อนแบเบาะเหยียดมือหรือเท้าไปถูกถ่านไฟเข้าจะรีบชักกลับทันที

๒) เป็นธรรมดาของบุคคลโสดาบันที่ว่า ทั้งที่เป็นผู้เอาใจใส่คอยขวนขวายช่วยเหลือกิจธุระทั้งหลาย ทั้งงานสูงงานต่ำ ทั้งเรื่องใหญ่เรื่องย่อย ของเพื่อนร่วมหมู่คณะ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีความใส่ใจอย่าง แรงกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาไปด้วย เหมือนแม่โคลูกอ่อน เล็มหญ้ากินไป ก็คอยแลระวังลูกน้อยไปด้วย คือ ทั้งช่วยส่วนรวม ทั้งคอยฝึกตนให้ก้าวต่อไปในมรรคา

๗. ด้านความสุข: เริ่มรู้จักโลกุตรสุข ที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส (เพราะได้บรรลุอริยวิมุตติแล้ว)

คุณสมบัติฝ่ายหมด หรือฝ่ายละ (แสดงเฉพาะที่สําคัญ และน่าสนใจพิเศษ)

๑. ละสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดใจได้ ๓ อย่าง คือ

๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าเป็นตัวของตน ติดสมมติเหนียวแน่น ซึ่งทําให้เห็นแก่ตัวอย่างหยาบ และเกิดความกระทบกระทั่ง มีทุกข์ได้แรงๆ)
๒) วิจิกิจฉา (ความสงสัยไม่แน่ใจต่างๆ เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขา เป็นต้น ซึ่งทําให้จิตไม่น้อมดิ่งไปในทางที่จะระดมความเพียรมุ่งหน้าปฏิบัติให้เร่งรุดไปในมรรคา)
๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือเขวเกี่ยวกับศีลพรต คือการถือปฏิบัติศีล กฎเกณฑ์ ระเบียบ วินัย ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมต่างๆ ไม่บริสุทธิ์ตามหลักการ ตามความมุ่งหมาย ที่มุ่งเพื่อความดีงาม เช่น ความสงบ เรียบร้อย และความเป็นบาทฐานของสมาธิ เป็นต้น แต่ประพฤติด้วยตัณหาและทิฏฐิ เช่น หวังผลประโยชน์ตอบแทน หวังจะได้เป็นนั้นเป็นนี้ เป็นต้น ตลอดจนประพฤติด้วยงมงายสักว่าทําตามๆ กันมา)

๒. ละมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ความใจคับแคบ หวงแหน คอยกีดกันผู้อื่น ทั้ง ๕ อย่าง คือ

๑) อาวาสมัจฉริยะ (หวงที่อยู่อาศัย หวงถิ่น)
๒) กุลมัจฉริยะ (หวงตระกูล หวงพวก หวงสํานัก หวงสายสัมพันธ์ เทียบกับที่พูดกันบัดนี้ว่าเล่นพวก)
๓) ลาภมัจฉริยะ (หวงลาภ หวงผลประโยชน์ คิดกีดกันไม่ให้คนอื่นได้)
๔) วัณณมัจฉริยะ (หวงกิตติคุณ หวงคําสรรเสริญ ไม่พอใจให้ใครมีอะไรดีมาแข่งตน ไม่พอใจให้ใครสวยงาม ได้ยินคําสรรเสริญคุณความดีของคนอื่นแล้ว ทนไม่ได้)
๕) ธรรมมัจฉริยะ (หวงธรรม หวงวิชาความรู้ หวงคุณพิเศษที่ได้บรรลุ กลัวคนอื่นจะรู้หรือประสบผลสําเร็จเทียมเท่าหรือเกินกว่าตน)

๓. ละอคติ คือความประพฤติผิดทาง หรือความลําเอียง ได้ทั้ง ๔ อย่าง คือ

๑) ฉันทาคติ (ลําเอียงเพราะชอบ)
๒) โทสาคติ (ลําเอียงเพราะชัง)
๓) โมหาคติ (ลําเอียงเพราะหลง หรือเขลา)
๔) ภยาคติ (สําเอียงเพราะกลัว)

๔. ละราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง ขั้นหยาบหรือรุนแรง ที่จะทําให้ถึงอบาย ไม่ทํากรรมชั่วขั้นร้ายแรงที่จะเป็นเหตุให้ไปอบาย
๕. ระงับภัยเวรโทมนัสและทุกข์ทางใจต่างๆ ที่จะพึ่งเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามศีล ๕ เป็นผู้พ้นจากอบายสิ้นเชิง ความทุกข์ส่วนใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว ความทุกข์ที่ยังเหลืออยู่บ้าง เป็นเพียงเศษน้อยนิดที่นับเป็นส่วนไม่ได้

ความจริง คุณสมบัติฝ่ายหมดและฝ่ายมีนี้ ว่าโดยสาระสําคัญ ก็เป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จะละ สักกายทิฏฐิได้ ก็เพราะมีปัญญาหยั่งรู้สภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยพอสมควร เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจชัดขึ้น อย่างนี้ วิจิกิจฉา คือความสงสัยคลางแคลงใจก็หมดไป ศรัทธาที่อาศัยปัญญาก็แน่นแฟ้น

พร้อมนั้น ก็จะรักษาศีลได้ถูกต้องตามหลักการ ตามความมุ่งหมาย กลายเป็นอริยกันตศีล คือ ศีลที่ อริยชนชื่นชมยอมรับ สีลัพพตปรามาสก็พลอยสิ้นไป เมื่อจาคะเจริญขึ้น มัจฉริยะก็หมดไป เมื่อราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง ก็ไม่ตกไปในอํานาจของอคติ และราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็เพราะปัญญาที่มองเห็นความ จริงของโลกและชีวิต ทําให้คลายความยึดติด เมื่อสิ้นยึดติด ถือมั่นน้อยลง ความทุกข์ก็ผ่อนคลาย และรู้จัก ความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

กล่าวโดยย่อว่า ความเป็นโสดาบัน เป็นชีวิตระดับที่ยอมรับได้ว่าน่าพอใจ และวางใจได้ ทั้งในด้าน คุณธรรม และในด้านความสุข

ในด้านคุณธรรม ก็มีคุณความดีเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันว่า จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความ เดือดร้อนเสื่อมโทรมเสียหายเป็นภัยแก่สังคมหรือแก่ใครๆ ตรงข้าม จะมีแต่พฤติกรรมที่อํานวยประโยชน์เกื้อกูล แก่การดํารงอยู่และดําเนินไปด้วยดีของชีวิตตนและสังคม และคุณธรรมนั้นก็มั่นคง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปเอง ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน คือ เพราะมีปรีชาญาณที่ให้เกิดทัศนคติอย่างใหม่ต่อโลกและชีวิตเป็น ฐานรองรับ

ส่วนในด้านความสุข พระโสดาบันก็ได้พบกับความสุขอย่างใหม่ทางจิต ที่ประณีตล้ําลึก อันประจักษ์ เฉพาะตนว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงล้ํา ซึ่งแม้ตนจะยังเสวยกามสุขและหรือโลกยสุขอื่นๆ อยู่ ก็จะไม่ยอมให้ความสุขที่ หยาบกว่าเหล่านั้นเกินเลยออกนอกขอบเขต ซึ่งจะเป็นเหตุนรอนความสุขที่ประณีต คือจะไม่ยอมสละโลกุตรสุข อันประณีต เพื่อมาเติมส่วนขยายปริมาณให้แก่โลกิยสุขอันหยาบกว่าอีกต่อไป พูดอีกนัยหนึ่งว่า กามสุขและโลกิย สุขอันหยาบ ถูกทําให้สมดุลด้วยโลกุตรสุขอันประณีต

ความสุขนี้ เป็นทั้งผล และเป็นทั้งปัจจัยพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับคุณธรรมที่ประพฤติ จึงเป็นหลักยืนยันถึง ความไม่ไหลเวียนกลับลงต่ําอีกต่อไป มีแต่จะช่วยค้ําชูส่งเสริมให้ก้าวสูงขึ้นไปในเบื้องหน้า

ความเป็นโสดาบัน มีคุณค่าเป็นที่น่าพอใจ ทั้งแก่ตัวบุคคลนั้นเองและแก่สังคมอย่างนี้ ท่านจึงจัดผู้บรรลุ โสดาปัตติผลเป็นสมาชิกชุดแรกเข้าใหม่ของชุมชนอารยะ เป็นจุดต้นที่ชีวิตอารยชนเริ่มแรก นับเนื่องในอริยสงฆ์ หรือสาวกสงฆ์ที่แท้ อันเป็นสังคมแม่พิมพ์ที่พระพุทธศาสนามุ่งประสงค์จะใช้เป็นแบบหล่อหลอมมนุษยชาติ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นถึงคุณค่าและความสําคัญของความเป็นโสดาบันอย่างมากมาย ดังจะทรงเร่งเร้า ให้เวไนยชนหันมาสนใจภูมิธรรม หรือระดับชีวิตขั้นนี้ อย่างจริงจัง และยึดเอาเป็นเป้าหมายของการดํารงอยู่ใน โลก เช่นตรัสว่า การบรรลุโสดาปัตติผล ดีกว่าการได้ไปสวรรค์ ประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าการได้ฌานสมาบัติ ศาสดาผู้นําศาสนาที่มีสาวกมากมาย เป็นผู้ปราศจากกามราคะด้วยกําลังเจโต วิมุตติ ประกอบด้วยกรุณาคุณ สั่งสอนลัทธิเพื่อเข้ารวมกับพรหม ทําให้สาวกไปสวรรค์ได้มากมาย นับว่าเป็นผู้ ประเสริฐมากอยู่แล้ว แต่บุคคลผู้เป็นโสดาบัน แม้ยังมีกามราคะอยู่ ก็ประเสริฐยิ่งกว่าศาสดาเหล่านั้น

ขอยกพุทธพจน์ในธรรมบทมาอ้าง เป็นตัวอย่าง

“เลิศล้ํา เหนือความเป็นเอกราชบนผืนปัฐพี ดีกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์ ประเสริฐกว่าสรรพ โลกาธิปัตย์ คือ ผลการตัดถึงกระแสแห่งโพธิธรรม (โสดาปัตติผล) ”

หากยังรู้สึกว่านิพพานห่างไกล และยากเกินไปที่จะเข้าใจ ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึก อ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละ เป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็น โสดาบัน เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึก และเข้าใจได้ง่ายกว่าสําหรับคนสมัยปัจจุบัน ในเวลาเดียวกัน ภาวะโสดาบัน นั้นก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน หรือที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น ปฐมทัศน์แห่ง นิพพาน (เห็นนิพพานครั้งแรก) นับว่าได้ผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย

เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ยกเอาภาวะโสดาบันเป็นเป้าหมายขั้นแรก ที่จะปฏิบัติ และชักชวนกันก้าวไปให้ถึง เป็นทั้งจุดหมายของชีวิต และจุดหมายของสังคม และในระหว่างนั้น แม้ยังก้าวไปไม่ถึง ก็มีขั้นตอนที่แสดงถึง ความก้าวหน้าในท่ามกลาง คือ ความเป็นสัทธานุสารี (ผู้แล่นรุดไปด้วยศรัทธา หรือผู้ก้าวหน้าไปด้วยความ เชื่อ) และธัมมานุสารี หรือธรรมานุสารี (ผู้แล่นรุดไปด้วยความเข้าใจธรรม) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ ออกดําเนินไปแล้วสู่ความเป็นโสดาบัน เป็นผู้เดินทางแล้วหรืออยู่ในมรรคา มีแต่เดินหน้าอย่างเดียว ไม่ถอยกลับ ซึ่งท่านจัดให้เข้าอยู่ในชุมชนอารยะ หรือหมู่สาวกสงฆ์ด้วย

แม้หากว่า ถ้าโอ้เอ้ ห่วงหน้าห่วงหลัง ยังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้น เตรียมพร้อมที่จะเดินทางได้ เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม” เริ่มได้ชื่อว่าเป็นอริยสาวกผู้มีสุตะ (สุตวา อริยสาวก) คือผู้ได้เล่าเรียนอริยธรรม รู้จักอารยธรรม หรือเป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียก แล้ว เป็นเบื้องต้นที่จะเรียกว่าผู้มีการศึกษา เป็นขั้นของผู้ที่รู้จุดตั้งต้นของทางแล้ว และมีอุปกรณ์ซึ่งเป็นปัจจัย ของการเดินทางเตรียมไว้แล้ว กําลังเดินมุ่งออกจากบริเวณป่าที่หลง เพื่อมาเข้าสู่หนทาง แม้ยังอาจก้าวๆ ถอยๆ อยู่บ้าง แต่ก็พร้อมที่จะเดินทางได้

สําหรับชีวิตขั้นต้น หรือกัลยาณปุถุชนนี้ ซึ่งมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ยังไม่มั่นคงแน่นแฟ้นโดย ลําพังตนเอง ก็จะมีสุตะ คือการเล่าเรียน การหาความรู้ หรือความรู้ที่ได้จากการสดับ เป็นคุณสมบัติสําคัญ ซึ่ง อาจจะอบรมสั่งสมให้ถึงขั้นเป็นพาหุสัจจะ คือความเป็นพหูสูต (ผู้มีสุตะมาก หรือคงแก่เรียน)

สุตะนี้แล คืออุปกรณ์สําคัญของการเดินทางในการพัฒนาชีวิต ที่จะก้าวไปในอริยมรรคา เริ่มตั้งแต่ทําให้ รู้จุดที่ทางตั้งต้น” เป็นปัจจัยช่วยเสริมสร้างศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาต่อๆ ไป เพราะเมื่อมีความรู้ถูกต้อง แล้ว ศรัทธาก็เกิดขึ้น และมีแรงที่จะปฏิบัติคุณธรรมอื่นๆ เมื่อรวมสุตะเข้ากับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เท่าที่มี อยู่ในระดับนี้ เรียกว่าเป็นสัมปทา (ความถึงพร้อม, สมบัติ, คุณสมบัติที่มีอย่างเต็มที่)๕ หรือทรัพย์๕ ระดับโลกีย์ เมื่อก้าวหน้าไปเป็นโสดาบันแล้ว สัมปทา หรือทรัพย์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นระดับโลกุตระไปเอง

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ เกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลโสดาบันที่ปรากฏเด่นชัด ออกมาภายนอก คือ การไม่มีความหวงแหนในทรัพย์สมบัติ ดังมีคําบรรยายในบาลีว่า

“(บุคคลโสดาบัน) ครองเรือนตัวยใจปราศจากความตระหนี่ มีความเสียสละเต็มที่...ยินดีใน การให้ และการแบ่งปัน”

“สิ่งของที่ควรให้ได้ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด เท่าที่มีในสกุล บุคคลโสดาบันเฉลี่ยแบ่งปันกับ คนมีศีลมีกัลยาณธรรม ได้ทั้งหมด”

ด้วยเหตุนี้ พฤติการณ์ของอริยสาวกเหล่านั้นจึงมีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าลักษณะว่าศรัทธาเพิ่ม แต่ โภคะลด หรือคุณธรรมงอก แต่ทรัพย์หด ในทางวินัยสงฆ์ พระพุทธเจ้าถึงกับได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้าม พระภิกษุ มิให้รับอาหารจากครอบครัวที่สงฆ์ประกาศตั้งให้เป็นเสขะ

ตามพุทธบัญญัตินี้ ครอบครัวใด ศรัทธาเข้มแข็งมากขึ้น แต่ทรัพย์สมบัติลดน้อยยากจนลง สงฆ์อาจ ประชุมพิจารณาสมมติ คือตกลงกันแต่งตั้งครอบครัวนั้นเป็นเสขะ (เสกขสมมต, ไม่ว่าเขาจะเป็นเสขะจริงหรือไม่ เพราะคุณธรรมภายในมองกันไม่เห็น แต่ถือเอาพฤติกรรมเป็นหลัก) ภิกษุใดไม่เจ็บไข้ และเขามิได้นิมนต์ไว้ ไป รับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ย่อมต้องอาบัติ คือละเมิดวินัย มีความผิด

คติที่เห็นได้ในเรื่องนี้ที่สําคัญ มี ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นวิธีการยกเอาคุณธรรมที่เป็นนามธรรมภายในตัว หรือคุณสมบัติของบุคคล ออกมาประกาศ หรือ ทําให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์แก่สังคม โดยให้มีผลทางปฏิบัติระดับสังคมในกรณีที่สมควร

๒. แสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้มีคุณธรรมถึงขั้นนี้ มีศรัทธาถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือเข้าถึง ธรรมแล้ว เมื่อทําความดี จะไม่ห่วงผลที่จะได้ตอบแทนแก่ตน พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทําบุญโดยไม่หวังรอผล (หมายถึงอิฏฐารมณ์ต่างๆ ที่สนองความปรารถนาของตน) จะไม่มีปัญหาให้เกิดความคิดสงสัยว่า ทําไมทําดีไม่ได้ ดี หรือทําบุญแล้วทําไมไม่รวย ไม่ได้ผลประโยชน์ที่หวัง เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะเขามองเห็นธรรมแล้ว เรียกว่า มี ธรรมจักษุ หรือปัญญาจักษุ คือตาปัญญา ที่มองเห็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายสว่างชัด มิใช่มีแต่มังสจักษุ หรือ ตาเนื้อหนัง ที่มองเห็นแต่สิ่งเสพเสวยของอินทรีย์ ๕

ควรย้ําอีกครั้งหนึ่งว่า บุคคลโสดาบันนี้ มีความมั่นคงในคุณธรรมโดยสมบูรณ์ แม้จะประสบสภาพไม่ เกื้อกูลทางวัตถุมากสักเท่าใด ความมั่นใจในคุณธรรมก็ไม่มีทางเสื่อมถอย เมื่อได้มองเห็นเหตุผลแห่งธรรม ประจักษ์แจ้งแล้ว เมื่อเดินอยู่ในทางแห่งความดีงามถูกต้องแล้ว ก็ไม่อาจมีผู้ใด แม้แต่เทวดา จะมาชักจูงให้เขว ออกไปได้ และไม่ว่าจะด้วยเครื่องล่ออย่างใด เรียกอย่างสมัยใหม่ก็คงว่า มีความเข้มแข็งทางจริยธรรมเต็มที่

ในหลักนี้ พระอรรถกถาจารย์ยกเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีขึ้นเป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่า บุคคลระดับนี้ จะเดินแน่วอยู่ในทางของความดีงาม ไม่ยอมอยู่ใต้อิทธิพลแม้ของเทวดา เป็นผู้ที่เทพเจ้าไม่อาจล่อ หรือบังคับข่มขี่ได้ แต่ตรงข้าม กลับเป็นผู้ที่เทพทั่วไปจะต้องยอมปราชัย และเคารพบูชา

คำสอนพระอริยเจ้า

พระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายลำดับต่อไปนี้ก็จะขอนำเอาสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือเป็นหลักสูตรสำคัญขั้นสุดท้ายในพระพุทธศาสนามาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ทั้งนี้ก็เพราะว่าการศึกษาอย่างอื่นได้ให้การศึกษามาแล้วตามสมควร หวังว่าคงจะเป็นที่อิ่มสำหรับบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายแล้ว ทั้งนี้ก็เหมือนกับหมอผู้ให้ยา ตามธรรมดาการให้ยาแก่คนที่เป็นโรคก็จะต้องให้ยาทุกๆ อย่างที่มีความจำเป็น เมื่อโรคเป็นมาประเภทใดก็ให้ยาประเภทนั้น เมื่อหายจากไข้หรือว่าอาการไข้ดีขึ้นแล้ว หมอก็ให้ยาตัดตอน หมายความว่า เป็นยาตัดรากของโลก ไข้จะได้หายเด็ดขาด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้แต่การฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน สำหรับนักปฏิบัติก็ต้องพยายามศึกษาทุกอย่างเพื่อความเข้าใจในเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในการที่จะริดรอนกิเลสให้หมดไป สำหรับเวลานี้ อาตมาคิดว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคงจะมีความเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์สอนมาแล้ว

สำหรับในตอนนี้ก็จะขอให้ยาตัดรากของโรค คือสังโยชน์ ๑๐ ประการ คำว่า สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจ ทำให้จิตใจของเราตกอยู่ภายในอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทีนี้การที่จะปฏิบัติตนให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าก็ต้องรู้จักกฎรู้จักเกณฑ์ รู้จักทางเดิน ถ้าเราไม่รู้จักกฏไม่รู้จักเกณฑ์ ไม่รู้จักทางเดิน เข้าไปสู่จุดตรง ผลแห่งการปฏิบัติก็ย่อมมีผลไม่สมบูรณ์ ทีนี้การที่จะปฏิบัติให้มีผมสมบูรณ์ก็ต้องมุ่งความเป็นพระอริยเจ้าเป็นอันดับต้น และก็มุ่งพระนิพพานเป็นอันดับสุดท้าย การจะมุ่งพระนิพพาน ความเป็นพระอรหัตผล บางทีท่านพุทธศาสนิกชนอาจจะหนักใจ ว่าอยู่ๆ จะเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงพระนิพพาน ฉะนั้น จึงขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามขั้นตามตอนดังต่อไปนี้

สำหรับขั้นตอนที่เราจะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าคืออรหัตผล องค์สมเด็จพระทศพลทรงจัดไว้เป็น ๔ ขั้นตอน คือ

  1. อย่างเบาเรียกว่า พระโสดาบัน
  2. กิเลสบางไปนิด เรียกว่า พระสกิทาคามี
  3. จัดว่าเป็นอันดับสำคัญ ตัดโลกีย์วิสัยได้ เรียกว่า พระอนาคามี
  4. ตัดกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทปหาน เรียกว่า พระอรหันต์

สำหรับในตอนต้นเป็นจริยาที่ปฏิบัติแบบเบาๆ พอที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเป็นผู้ใหม่ในพระพุทธศาสนาจะพึงปฏิบัติได้ แต่ทว่าขอบรรดาท่านทั้งหลายโปรดสร้างความเข้าใจว่าพระอริยเจ้านี่มีปฏิปทาคือตัดกิเลสได้ไม่เสมอกัน อย่างพระโสดาบันยังไม่ถือว่าตัดกิเลสได้เด็ดขาด เป็นแต่เพียงขังกิเลสเข้าไว้ เหมือนกับเราจับเสือเข้ามาขังไว้ในกรง เสือยังมีกำลังทุกอย่างพอที่จะกัดคนได้ พอที่จะทำร้ายคนได้ แต่ว่าเสือไม่สามารถออกจากกรงได้ ความดุร้ายของเสือยังมีอยู่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใดพระโสดาบันก็เหมือนกัน ยังมีความรักในเพศ ยังมีความโลภความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง ตามที่ท่านเขียนกันไว้บอกว่า มีความรัก มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาลง แต่สำหรับจิตใจของอาตมายังถือว่าไม่เบา เป็นแต่เพียงขังเสือไว้ในกรง หรือขังกิเลสไว้ในกรงเท่านั้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราจะเห็นได้ว่า ดูตัวอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อายุเพียง ๗ ปีได้พบกับองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นางฟังเทศน์จบเดียวได้พระโสดาบัน และต่อมาเมื่ออายุ ๑๖ ปี นางก็แต่งงานและมีบุตร ๒๐ คน และก็มีเครื่องประดับประดาที่เรียกว่า เครื่องมหาลดาปสาธน์ ราคาถึง ๑๖ โกฏิ ยังมีการทำไร่ไถนา ทำมาหากินเป็นปกติ เราจะเห็นว่าพระโสดาบันยังมีอะไรทุกอย่างอย่างคนธรรมดา และทำไมจึงเรียกกันว่าพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร ฟังกันต่อไป

ที่บอกไว้อย่างนี้ก็เพื่อความเบาใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท เพราะว่าความเป็นพระโสดาบันไม่ใช่สิ่งเกินวิสัยสำหรับเราที่จะทำได้ มาดูสังโยชน์ที่พระโสดาบันตัด คือ

๑. สังกายทิฏฐิ พระโสดาบันตัดได้เพียงเบาๆ เพียงแค่รู้ตัวว่าจะตายเท่านั้น มีความรู้สึกอยู่เสมอว่ายังไงๆ เราก็ตายแน่ ชีวิตของเราไม่สามารถจะทรงอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยได้ พระโสดาบันมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราแก่ลงไปทุกวันๆ แล้วก็มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าร่างกายของเรามีความทรุดโทรมมันจะมีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ นี่เป็นความรู้สึกของพระโสดาบันในขั้นสักกายทิฏฐิ ยังไม่ถึงกับตัดเด็ดขาด ตามที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถทรงแนะนำว่าท่านทั้งหลายจงเจริญมรณานุสสติไว้เสมอ ให้รู้ตัวว่าเราจะต้องตาย นี่เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องตายแล้ว พระโสดาบันมีความเชื่อในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สงสัย ทั้งนี้เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราตายแล้วจากความเป็นคน ถ้ากิเลสหรือสิ่งที่เป็นอกุศลมันยังมีอยู่ เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ทีนี้อาการเวียนไปเวียนมานี่มันไม่แน่ ถ้ากุศลนำไปก็ไปสู่แดนของความสุข ถ้าอกุศลนำไปก็ไปสู่แดนของความทุกข์ ฉะนั้น พระโสดาบันจึงเลือกทางเฉพาะทางเดียว คือทางด้านกุศลโดยเฉพาะ เรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาตามเหตุตามผล หลังจากนั้นแล้วคนที่จะเป็นพระโสดาบันก็ต้องหาทางเลือกว่าการตายแล้วเราจะต้องไปนรกบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง มาเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้ายังไม่หมดกิเลสการเกิดมันยังมีอยู่ เราก็แสวงหาที่เกิดที่ดีที่จะพึงหาได้ อย่างน้อยที่สุด เราก็จะเกิดเป็นคนประเภทชนิดที่จำกัดการเกิด จะไม่ยอมเกิดประเภทที่เรียกว่านับชาติกันไม่ถ้วน เพราะว่าพระ

โสดาบันมีกระบวนการเกิดอยู่ ๓ แบบ คือ

  1. เป็นพระโสดาบันขั้นหยาบที่เรียกกันว่า สัตตักขัตตุง อย่างนี้ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ แต่การเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานไม่มี จะเกิดในช่วงเทวดาหรือพรหมหรือมนุษย์เท่านั้น แต่ว่าต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ จึงจะถึงอรหัตผล
  2. โกลังโกละ ถ้ามีอารมณ์อย่างกลางก็จะเกิดอีก ๓ ชาติ
  3. เอกพิชี ถ้ามีอารมณ์ใจอย่างเข้มก็จะเกิดอีกชาติเดียว

ทีนี้ทำอย่างไร พระโสดาบันก็มีทางทางเดียวคือตัดอบายภูมิเสีย จะไม่พยายามให้ตนต้องตกลงไปสู่อบายภูมิ คือเกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจะเป็นมนุษย์ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ดี บุคคลผู้จะเป็นพระโสดาบันจะได้เลือกหนทางจุดหนึ่งเป็นทางที่จะกำจัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ นั่นก็คือรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์อย่างจริงจัง เมื่อมีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจังแล้ว ก็พยายามตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ยอมเป็นผู้บกพร่องในศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฆราวาสมีศีล ๕ บริสุทธิ์ สำหรับสามเณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ มีอารมณ์จิตยับยั้ง

ถ้าจะถามว่าพระโสดาบันยังมีความรักไหม ก็ต้องตอบว่าพระโสดาบันมีความรักในเพศ ยังมีการแต่งงาน แต่ว่าความรักของพระโสดาบันอยู่ในขอบเขต คำว่าขอบเขตหมายถึงว่าขอบเขตของความรัก ไม่นอกใจคนรัก ไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร เพราะเกรงว่าจะขาดศีล

พระโสดาบันยังมีความโลภไหม ก็เห็นจะต้องตอบว่าพระโสดาบันยังต้องการความร่ำรวย จะตอบว่ามีความโลภมันก็ไม่ชัดหรือจะตอบว่าไม่โลภเลยมันก็ไม่ชัด ก็ยังอยากรวยอยู่ แต่ว่าความร่ำรวยของพระโสดาบันไม่ผิดศีล คือไม่คดไม่โกง ไม่ยื้อไม่แย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม อันนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน

ถามว่าพระโสดาบันยังมีความโกรธไหม ก็ต้องตอบว่า พระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ว่าความโกรธของพระโสดาบันนี้มันยังคึกคักๆ อยู่ในใจ ที่เคยกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าจับเสือขังกรงเข้าไว้ โกรธแต่ว่าไม่ทำอันตรายให้แก่บุคคลอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ความไม่พอใจมีอยู่ แต่ว่าการลงมือกระทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นไม่มี นี่เป็นจริยาของพระโสดาบัน

ถ้าจะถามว่า “พระโสดาบันยังมีความหลงไหม” ก็ต้องตอบว่าพระโสดาบันยังมีความหลง คือยังมีความหลงในการมีคู่ผัวตัวเมีย คนถ้ายังรักยังแต่งงานอยู่ก็ถือว่ามีความหลง แต่ว่าความหลงของพระโสดาบันก็ยังมีขอบเขต ไม่เลยอำนาจของศีล คือไม่ทำลายศีล พระโสดาบันมีความโกรธ ความโกรธจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอำนาจของความหลง อันนี้ความโกรธมีขึ้นมาได้ก็อยู่ในขอบเขตของศีล ได้แต่โกรธอย่างเดียวไม่ทำลายใคร พระโสดาบันยังมีความอยากร่ำรวย ก็ยังถือว่าหลงเหมือนกัน เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายนำไปไม่ได้เวลาตาย แต่ยังถือว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องกินที่จะต้องใช้ ก็เลยยังถือว่ายังมีความหลง แต่ว่าหลงอยู่ในขอบเขตของศีล ไม่คดไม่โกงใคร นี่เรียกว่าหลงเหมือนกัน แต่ว่าหลงสั้น ไม่หลงยาว ถ้าเราจะมองดูหน้าของพระโสดาบันหรือจริยาของพระโสดาบันแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัทจะเห็นว่าไม่มีอะไรหนัก ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีกำลังใจสักนิดหนึ่ง พยายามรักษาอารมณ์สมาธิตามที่เคยปฏิบัติมา และพยายามแก้ไขอารมณ์ของสมาธิว่า ที่สมาธิของเราทรงตัวอยู่ไม่ได้เพราะอะไร เพราะ ราคะจริต เพราะจิตรักสวยรักงามเกินไป จนกระทั่งมีอารมณ์ฟุ้งซ่านทนไม่ไหว ถ้าไม่ได้ของสิ่งนั้นมาเป็นของตน อย่างนี้ก็แก้อารมณ์ฟุ้งซ่านอันนั้นเสียด้วยการเจริญ กายคตานุสสติกรรมฐาน และ อสุภกรรมฐาน เพียงแค่ยับยั้งความต้องการไว้ตามสมควร ถ้าจิตของเราเป็น โทสะจริต ชอบโกรธ ชอบพยาบาท ก็ยับยั้งอารมณ์นั้นได้ด้วย เมตตาพรหมวิหาร ๔ ถ้าหากว่าจิตของท่านมีความรู้สึกตัดสินใจไม่ตก ที่เรียกว่า โมหะจริต หรือ วิตกจริต ชอบคิดอยู่เสมอ ไม่แน่ใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็พยายามระงับอาการนั้นด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าจิตของท่านมีความเชื่อมั่นในองค์พระรัตนตรัย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงแนะนำให้ใช้พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ สีลานุสสติ เทวตานุสสติ เป็นเครื่องประคับประคองใจ ถ้ากำลังใจของท่านมีความปลอดโปร่ง มีความเฉลียวฉลาด องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ให้เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน หรือว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ อุปสมานุสสติคือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นการบังคับไม่ให้จิตของเราฟุ้งซ่านมากเกินไป ให้ทรงกำลังใจอยู่โดยเฉพาะ หลังจากนั้นเมื่อกำลังใจทรงดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ให้พิจารณาว่า โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจคิดว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดมันเป็นทุกข์ เพราะเกิดมาต้องเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพี่เลี้ยงน้อง เหนื่อยยากไปด้วยการงานต่างๆ ต้องมีความทุกข์เพราะการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่พอใจ และมีความป่วยไข้ไม่สบาย มีความตายไปในที่สุดและต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ถ้าเราเกาะมันเกิดไป อารมณ์ใจมันก็จะมีความทุกข์ เราก็พยายามวางอารมณ์เสีย หาเหตุผลว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องแก่ เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องป่วย เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องรับภาระในเรื่องของตนเอง เรื่องของครอบครัว เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ยอมรับนับถือว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของธรรมดาที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ แล้วพยายามทำใจให้สบาย มีความรู้สึกเป็นสุข ถือว่าธรรมดามันเกิดมาอย่างนี้ เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เราก็ไม่หลีกและก็ไม่เลี่ยง เรายอมสู้มัน แต่อาการที่เราจะสู้ เราก็จะต้องสู้ด้วยการยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงว่า ถ้าหากว่าเราขืนดิ้นรนไปตามอาการอย่างนั้น เราทะเยอทะยานในความรักไม่มีขอบเขต เราก็ต้องตกอบายภูมิ เรื่องของความรักเป็นปัจจัยให้มีความทุกข์ รักมากทุกข์มาก รักน้อยทุกข์น้อย ถ้าหากว่าเราไม่รักอะไรเลย เราก็ไม่มีความทุกข์ ทั้งนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทศึกษากันมามากแล้วก็ขอพูดแต่โดยย่อ

ทีนี้ความโกรธเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ถ้าเราไปคิดจะฆ่าเขา คิดจะตีเขา จิตใจของเราก็ไม่มีความสุข ความทุกข์ความดิ้นรนมันย่อมจะเกิดขึ้นกับจิต ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิดขึ้น อยากจะฆ่าเขา อยากจะทำร้ายเขา ก็ต้องวางแผน คนที่เขาจะถูกทำร้ายยังไม่มีความทุกข์อะไรเลย เราเองเป็นผู้มีความทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันไม่ดีก็หาทางตัดมันไป

อำนาจความหลงว่าร่างกายเรานี้มันจะอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย หรือว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่มีอยู่มันจะอยู่กับเราตลอดไป อำนาจความหลงอย่างนี้เราก็โยนมันไปเสีย ยอมรับนับถือคือว่ายอมเอาบุคคลอื่นเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านที่เขาเกิดมาพร้อมเราบ้าง เกิดก่อนเราบ้าง เกิดที่หลังเราบ้าง ที่เขาตายให้เราดูเราเห็นหรือยัง เราก็เห็นแล้วนี่ว่าเขาตายให้เราดู และขณะที่เขาตายนี่ทรัพย์สินทั้งหลายหรือว่าคนที่เรารัก เขาพาไปด้วยหรือเปล่า ก็เป็นอันว่าไม่มีใครเขาพาไปได้เลย แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่รักยิ่งก็ปล่อยให้ทับถมพื้นแผ่นดินลงไป ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่เป็นปัจจัยที่จะติดตามเราไปในชาติหน้า แล้วอะไรล่ะที่จะตามเราไป คือกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระทรงธรรมบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องเลือกทางเดินเอา เพราะเรารู้จักทางเดิน ทางเดินที่เราจะเดินนั่นก็คือเลือกทางเดินตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ ตัดความเป็นสัตว์นรก ตัดความเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจะเกิดเป็นคน เราก็จะเป็นคนแบบประเภทจำกัดกาล อย่างเลวที่สุดเราจะเกิดอีก ๗ ชาติถึงพระนิพพาน อย่างกลางเราจะเกิดอีก ๓ ชาติถึงพระนิพพาน อย่างดีที่สุดเราจะเกิดอีกชาติเดียวถึงพระนิพพาน และเราก็จะทำอย่างไร มันจึงจะถึงพระนิพพาน

เราก็มานั่งพิจารณาถึงความตายที่มันจะปรากฏ ถึงความเสื่อมโทรมในวัตถุและสิ่งมีชีวิตที่มันปรากฏ คิดว่าโลกนี้เต็มไปด้วย “อนิจจัง” หาความเที่ยงไม่ได้ หาอะไรที่ทรงตัวไม่ได้เลย คนเกิดมาแล้วก็แก่ แล้วก็ตาย ทรัพย์สินทั้งหลายเกิดมาแล้วมันก็มีการสลายตัวไปในที่สุด ข้าวของต่างๆ ที่เป็นวัตถุเป็นของใหม่แล้วก็กลายเป็นของเก่า ในที่สุดมันก็พังมันก็สลายตัว

เราจะเอาอะไรเป็นจุดยืน ก็ต้องแสดงหาจุดยืน หาสิ่งที่ทรงตัว คือความดีของพระรัตนตรัย มีความเชื่อในความดีของพระพุทธเจ้า เชื่อในความดีของพระธรรม เชื่อในความดีของพระสงฆ์ ที่เขาเรียกกันว่ามั่นในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ คือตามที่กล่าวกันว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง “ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเป็นที่พึ่ง “สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเมื่อเรากล่างอย่างนี้แล้ว พระก็บอกว่า “ปานาติปาตา เวรมณีฯ” เป็นต้น หมายความว่าเราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ ประกาศขอยอมรับนับถือ พระก็ให้สิ่งที่เรานำไปปฏิบัติ ฆราวาสท่านก็ให้ศีล ๕ ประการ สามเณรให้ศีล ๑๐ พระให้ศีล ๒๒๗ เมื่อเรารักษาศีลบริสุทธิ์เมื่อไร ขณะนั้นชื่อว่าเรามีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง

แต่ขณะใดที่เรายังปฏิบัติในศีลให้ครบถ้วนไม่ได้ ในขณะนั้นเรายังไม่มีความเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรายอมรับนับถือในท่าน ท่านให้รักษาศีล และลงท้ายท่านบอกว่า “สีเลนะ สุคติง ยันติ” ถ้ามีศีลบริสุทธิ์ ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ “สีเลนะ โภคสัมปทา” ศีลจะเป็นปัจจัยให้เธอมีโภคสมบัติมาก “สีเลนะ นิพพุติงยันติ” ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าสู่พระนิพพาน คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ก็มีอารมณ์อยู่ตอนหนึ่งที่เรียกกันว่าเข้าสู่ โคตรภูญาณ หรือความเป็นพระโสดาบัน

เมื่อพิจารณาเป็นของธรรมดาที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยต่ออารมณ์ต่างๆ ที่เป็น โลกธรรม ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีจิตดิ้นรน ร่างกายป่วยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถูกนินทาว่าร้ายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทรัพย์สินจะต้องหมดไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตใจไม่หวั่นไหว แม้แต่ร่างกายจะตายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าของธรรมดามันจะต้องตายอย่างนี้เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ เมื่อจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ตอนนั้นมีอารมณ์ใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่รัก แต่ทว่าถ้ายังจะไปนิพพานไม่ได้ มันจะไปพักแค่มนุษย์ แค่เทวดาหรือแค่พรหมเราก็พอใจ แต่เนื้อแท้ของกำลังใจจริงๆ แล้วต้องการเฉพาะพระนิพพาน อันนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทุกท่าน อารมณ์ของพระโสดาบันที่แท้จริงก็คือรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเคร่งครัด แล้วก็มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ก็ชื่อว่าเราได้เป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นคือพระโสดาบัน เป็นปัจจัยตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ คือไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เห็นว่าไม่นอกเหนือจากกำลังสติปัญญาหรือความสามารถของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า เอาละ สำหรับวันนี้เวลาที่จะพูดก็หมดแล้ว ก็จะขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี.


พิมพ์