หลวงปู่มั่น พบ พระพุทธเจ้า ในคืนบรรลุธรรม

หลวงปู่มั่น พบ พระพุทธเจ้า ในคืนบรรลุธรรม

คำสอนพระอริยเจ้า

หนังสือ วินาทีบรรลุธรรม พระอรหันต์มีจริง นิพพานแล้วไม่สูญ เล่ม ๕

นิพพานแล้วไม่สูญ

ปรากฏการณ์แห่งการเข้าถึงนิพพานของหลวงปู่มั่นตามคำบอกเล่าของหลวงตามหาบัวยังไม่จบแค่นั้น
ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ามาทั้งหมดนี้ว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากแล้ว แต่ประสบการณ์ที่กำลังจะตามมาต่อไปนี้เป็นความอัศจรรย์ที่อัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก
เป็น “ความอัศจรรย์” ที่อยู่เหนือ “ความอัศจรรย์” อีกชั้นหนึ่ง ชนิดที่เรียกว่าเป็นการท้าทายความเข้าใจในเรื่องสภาวะของ “นิพพาน” ตามจารีตที่เชื่อถือกันมาเลยก็ว่าได้

ต่อไปนี้คือ “ความอัศจรรย์เหนืออัศจรรย์” อันเป็นสิ่งที่หลวงตามหาบัวทรงจำมาจากคำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น พระอรหันต์องค์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในยุคสมัยของเรา

“หลังจากท่านเดินทางมาถึงดินแดนวิมุตติแล้ว คืนต่อมา มีพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์สาวกจำนวนมากเสด็จมาอนุโมทนาวิมุตติธรรมกับท่านเสมอมิได้ขาด

คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับสาวกบริวารเป็นจำนวนหมื่นเสด็จมาเยี่ยม คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับสาวกบริวารเป็นจำนวนแสนเสด็จมาเยี่ยม คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีสาวกบริวารเท่านั้นเสด็จมาเยี่ยมอนุโทนา

จำนวนพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาแต่ละพระองค์มีจำนวนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ท่านว่าขึ้นอยู่กับวาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ไม่เหมือนกัน

บรรดาพระสาวกจำนวนมากของแต่ละพระองค์ที่ตามเสด็จมานั้น มีสามเณรตามเสด็จมาด้วยครั้งละไม่น้อยเลย ท่านสงสัยจึงพิจารณาก็ทราบว่า คำว่า ‘พระอรหันต์’ ในนามธรรมนั้นมิได้หมายเฉพาะพระ แต่สามเณรที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดก็นับเข้าในจำนวนอรหันต์สาวกด้วย”

เมื่อพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลายเสด็จมาแล้วก็ได้ประทานโอวาทและอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นที่สามารถบรรลุนิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ในโอกาสเดียวกันนั้น หลวงปู่มั่นได้กราบทูลถามว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระอรหันต์ทั้งหลายนิพพานแล้ว เหตุใดจึงเสด็จมาด้วยร่างกายในลักษณะเช่นนี้ได้

“ท่านพระอาจารย์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระอรหันต์อันแท้จริง ไม่สงสัย ที่สงสัยก็คือ พระองค์ทั้งหลายกับพระสาวกท่านเสด็จไปด้วย ‘อนุปาทิเสสนิพพาน’ไม่มีส่วนสมมุติเหลืออยู่เลย แล้วเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร ?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมุติอยู่ ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องแสดงสมมุติตอบรับกัน คือต้องมาในร่างสมมุติซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้

ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้ว ไม่มีส่วนสมมุติเหลืออยู่ ตถาคตก็ไม่มีสมมุติอันใดมาแสดงเพื่ออะไรอีก

ฉะนั้น การพิจารณาและทราบได้ต้องอาศัยสมมุติเป็นหลักพิจารณา ดังที่เราตถาคตนำสาวกมาเยี่ยมเวลานี้ก็จำต้องมาในรูปลักษณะอันเป็นสมมุติดั้งเดิม เพื่อผู้อื่นจะพอมีทางทราบได้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ และพระอรหันต์องค์นั้นๆ มีรูปลักษณะอย่างนั้นๆ ถ้าไม่มาในรูปลักษณะนี้แล้ว ผู้อื่นใดก็ไม่มีทางทราบได้ เมื่อยังต้องเกี่ยวกับสมมุติในเวลาต้องการอยู่ วิมุตติก็จำต้องแยกแสดงออกโดยทางสมมุติเพื่อความเหมาะสมกัน”

 

นอกจากโอวาทที่พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องการสื่อสารสัมผัสกันระหว่าง “โลกสมมุติ” และ “โลกวิมุตติ” แล้ว ในลำดับต่อมา เมื่อหลวงปู่มั่นเกิดความสงสัยในระเบียบแบบแผนปฏิบัติต่างๆ ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลว่าเป็นเช่นใด พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งก็จะปฏิบัติให้ดู เช่น การเดินจงกรมควรจะวางมือ ก้าวเดิน หรือสำรวมตนอย่างไร การนั่งสมาธิควรนั่งอย่างไร ควรหันหน้าไปในทิศใด ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการแสดงความเคารพกันตามหลักอาวุโสนั้น หลวงปู่มั่นได้เล่าไว้เป็นข้อคิดสำคัญว่า ขณะที่ท่านนึกอยากทราบว่า ในสมัยพุทธกาล เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายปฏิบัติต่อกันอย่างไรในแง่ของความอาวุโสก่อนหลัง

จากนั้นไม่นาน พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหนุ่มและชรา ตลอดจนสามเณร ก็เสด็จมากันมากมาย แต่มาถึงไม่พร้อมกัน ผู้ที่มาถึงก่อน แม้จะเป็นสามเณรองค์น้อยๆ ก็ได้นั่งลงก่อนและอยู่ข้างหน้าพระ ส่วนผู้ที่มาทีหลัง แม้จะแก่ชราก็ต้องนั่งอาสนะด้านหลัง

ยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมื่อใดก็จะประทับลงในที่นั้น โดยมิได้ประทับในอาสนะที่ควรประทับในฐานะแห่งองค์ประมุข

เมื่อหลวงปู่มั่นเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นก็เกิดความสงสัย แต่พลันนั้นเอง “ธรรม” ก็ผุดขึ้นในใจท่าน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกยังมิได้แสดงโอวาทใดๆ

“นี่คือ ‘วิสุทธิธรรม’ ล้วนๆ ไม่มีสมมุติเข้าเจือปนเลย จึงไม่มีกฎข้อบังคับหรือระเบียบใดๆ มาเกี่ยวข้อง ที่แสดงอย่างนี้แสดงเรื่องวิสุทธิธรรมที่เป็นความเสมอภาคทั่วกัน ไม่นิยมว่าอ่อน ว่าแก่ ว่าสูง ว่าต่ำ อันเป็นเรื่องของสมมุติ

นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงอรหันต์สาวกองค์สุดท้าย จะเป็นพระหรือเณรไม่จำกัด มีแต่ความเสมอภาคกันด้วยความบริสุทธิ์ ท่านแสดงบุคลาธิษฐานในลักษณะนี้เป็นเครื่องบอกถึงความบริสุทธิ์ของกันและกันว่า ไม่มีใครยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”

เมื่อธรรมที่ผุดขึ้นในจิตนั้นสิ้นสุดลง หลวงปู่มั่นก็พิจารณาต่อไปอีกว่า แล้วเช่นใดหนอคืออาการที่ท่านแสดงออกถึงความเคารพกันในทางสมมุติ

พลันที่ความสงสัยนั้นดับไป ภาพของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกซึ่งเดิมทีนั้นนั่งกันอยู่อย่างไร้ระเบียบก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นว่า พระพุทธเจ้าได้เปลี่ยนมาประทับในฐานะองค์ประมุขอยู่ด้านหน้าเหล่าสาวก สามเณรองค์น้อยก็ย้ายกลับไปอยู่ด้านหลังสุด เป็นภาพที่มีระเบียบเรียบร้อย งามตา น่าศรัทธาเลื่อมใส

ขณะนั้นเอง ธรรมก็ผุดขึ้นในใจของท่านอีกว่า นี่คือธรรมเนียมประเพณีของพระสงฆ์ในยุคพุทธกาลที่ปฏิบัติต่อกัน ท่านใดที่อ่อนพรรษา แม้จะเป็นถึงพระอรหันต์ก็ยังต้องเคารพในความอาวุโสของสมมุติสงฆ์ที่แก่พรรษากว่า

เมื่อธรรมที่ผุดขึ้นในใจของหลวงปู่มั่นสิ้นสุดลงอีกครั้ง พระพุทธเจ้าก็แสดงโอวาทเรื่องความเคารพและความเสมอภาคกันในทางธรรม ก่อนที่จะเสด็จอันตรธานหายไป


พิมพ์