อนาคามี

อนาคามี

ปริยัติธรรม

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์แล้วนิพพานบนพรหมโลกนั้น

การละสังโยชน์

อนาคามี เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ จากทั้งหมด ๔ ขั้นคือ ได้แก่ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ พระอนาคามีเป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ คือ

  1. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
  2. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
  3. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
  4. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
  5. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง

อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก

ประเภท

พระอนาคามี มีอยู่ ๕ ประเภท ได้แก่

  1. อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน
  2. อุปหัจจปรินิพพายี ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน
  3. อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
  4. สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก
  5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน

พิมพ์