ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์

ปริยัติธรรม

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ไตรลักษณ์นี้ ในอรรถกถาบางที่เรียกว่า "สามัญลักษณะ ในฐานะเป็นลักษณะร่วม ที่มีแก่สิ่งทั้งหลายเป็นสามัญเสมอเหมือนกัน คือ ทุกอย่างที่เป็นสังขตะ เป็นสังขาร ล้วนไม่เที่ยง คงทนอยู่มิได้ เสมอเหมือนกันทั้งหมด ทุกอย่างที่เป็นธรรม ไม่ว่าสังขตะคือสังขาร หรืออสังขตะคือวิสังขาร ก็ล้วนมิใช่ตน ไม่เป็นอัตตา เสมอกันทั้งสิ้น

ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
  1. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ...
  2. สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ...
  3. ธรรมทั้งปวง เป็นอันตตา ...
เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ จะแสดงความหมายของไตรลักษณ์ โดยย่อดังนี้
  1. อินจจตา ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อม และสลายไป
  2. ทุกขตา ความเป็นทุกข์ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน
  3. อนัตตตา ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช้ตัวตน ความไม่มีตัวตนจริงแท้ที่จะเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไร ๆ ได้

ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า "สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ...สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ...ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา"

พระอภิธรรม เจตสิกปรมัตถ์ เรียบเรียงโดย พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ ๓ ประการ ที่บรรดารูปธรรมนามธรรมซึ่งเป็นสังขารธรรมทั้งหลาย จะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า "สามัญลักษณะ" เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลาย ที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ คือ

๑. อนิจจลักษณะ มีลักษณะ หรือ มีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ตั้งอยู่ตลอดกาลไม่ได้ โดยมีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปในที่สุด (อุปปาทวยะ, ปวัตตนะ) โดยความแปรปรวน (วิปริณามะ) โดยเป็นของชั่วคราว (ตาวกาลึกะ) โดยเป็นปฏิปักษ์กับความเที่ยง (นิจจปฏิกเขปะ)

๒. ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือ มีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป โดยมีความบีบคั้นอยู่เสมอ (อภิณหสัมปฏิปาฬนะ) โดยความทนได้ยาก (ทุกขมะ) โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (ทุกขวัตถุ) โดยเป็นปฏิปักษ์กับความสุข (สุขปฏิกเขปะ)

๓. อนัตตลักษณะ มีลักษณะ หรือ มีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน ที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของว่างเปล่า (สุญญตะ) โดยความไม่มีเจ้ของ (อัสสามิกะ) โดยไม่มีสิ่งอะไรที่จะพึงทำตาม (อวสวัตตนะ) โดยเป็นปฏิปักษ์กับอัตตา (อัตตปฏิกเขปะ)

 

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

เหตุที่ทำให้เกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด สำคัญผิดขึ้นก็เพราะไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ที่ไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ มี ๓ ประการ คือ

๑. สันตติ ปิดบัง อนิจจัง สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและของรูป ทำนองเดียวกับที่เห็นแสงไฟที่ธูป ซึ่งแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างเร็ว ๆ ในที่มืด ๆ จึงทำให้เห็นไปว่าแสงไฟนั้นติดกันเป็นพืด เป็นวงกลมไปเลย ฉะนั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดดับ ก็ทำให้เข้าใจผิดไปว่ารูปนามนี้ไม่มีการเกิดดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงามน่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดจนเกิดปัญญาเห็นความดับไปของนามของรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายความวิปลาสที่เห็นว่าเที่ยงว่ายั่งยืน และประหาณ มานะได้

๒. อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ อันความทุกขเวทนาทั้งหลาย ตามปกติเป็นส่วนมากนั้นเกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งมากก็เมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วทนอยู่ไม่ได้ เดินมากก็เมื่อยทนไม่ได้ ยืนมากก็ทนไม่ไหว แม้แต่นอนมากก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้นานเหมือนกัน อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์นั้นย่อมรู้เห็นกันทั่วไปได้โดยง่าย เมื่อนั่งนานก็เมื่อยทนไม่ได้จึงลุกเดิน ก็นึกว่าการเดินนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเมื่อย เดินนานหน่อยก็เหนื่อยทนไม่ได้อีกจึงนอน ก็นึกว่าการนอนนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเหนื่อย คือเห็นว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิด แท้จริงอิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั้นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะทุกขเวทนากำลังมีอยู่ แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้ จะต้องสำแดงให้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์เวทนาอยู่ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส อิริยาบถใหม่ที่นึกว่าเป็นสุขนั้นก็เป็นที่ตั้งแห่ง ตัณหา คือ อภิชฌา แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมจะเห็นทุกขเวทนาก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย ขั้นที่สอง จึงจะเห็นสังขารทุกข์ที่จะต้องถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิจ ต่อไปก็เห็น ทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับเป็นขั้นที่สาม และจะปรากฏทุกขสัจจ เป็นขั้นสุดท้าย ทุกขเวทนา เห็นได้ในอิริยาบถเก่า เห็นสังขารทุกขได้ในอิริยาบถใหม่ เห็นทุกขลักษณะได้เมื่อกำหนดนามรูปจน "สันตติขาด" และจะเห็นทุกขสัจจ์ ได้ในสังขารุเบกขาญาณที่แก่กล้า มีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็น อริยสัจจ์ ทั้ง ๔ ได้ เมื่อเห็นทุกข์ ก็ทำลายวิปัลลาสธรรมที่เห็นว่าสุขว่าสบายนั้นได้ และประหาณตัณหาลงได้

๓. ฆนสัญญา ปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นแท่ง ความสำคัญว่าเป็นก้อนเป็นแท่งนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ ที่ว่าเป็นคนก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อนหมดทั้งแท่งนี้ว่าเป็นคน ถ้าย่อยก้อนนี้แท่งนี้ออกไปแล้ว ก็จะมีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้นเอง หาสิ่งที่เป็นคนเป็นตนเป็นตัวนั้นไม่มีเลย ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่าเป็นคนอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่นับสิบ ๆ ปี เป็นสุข เป็นสาระ สวยงามน่ารักน่าใคร่ เมื่อเห็นอนัตตา ก็ทำลายวิปลาสว่า เป็นตัวเป็นตนบังคับบัญชานั้นได้ และประหาณทิฏฐิลงได้ การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นั้น มีวิธีเดียว คือ การกำหนดเพ่งรูปนามตามวิธีที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

คำสอนพระอริยเจ้า

หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

(๑) อนิจจัง คือ "ความไม่เที่ยง" คือ สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะให้ตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่น คนและสัตว์ เมื่อมีการ เกิดขึ้นแล้ว ก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว และเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ

สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ที่เรียกว่า อุปทานขันธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็ก ๆ ของชีวิตขึ้นก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น เรียกกันว่า "เซลล์" แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็ก ๆ เหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป และเกิดของใหม่ขึ้นแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

(๒) ทุกขัง ได้แก่ "สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้" ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่ง ทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทนตั้งมั่นอยู่ในสภาพนั้น ๆ ได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัว และต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาว แล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่น ขันธ์ที่เรียกว่า เวทนา อันได้แก่ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อย ๆ จางไป แล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน

(๓) อนัตตา ได้แก่ "ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ" โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น "รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ" ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า "เซลล์" แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก น้ำลาย ฯลฯ รวมเรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า ธาตุลม (โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้มิได้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า "ธาตุ" อันหมายถึง แร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ ๔ หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคน และสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่า เป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้

หนังสือไตรลักษณ์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ธรรมปฏิบัติ พิจารณาร่างกาย ให้เห็นไตรลักษณ์

สมาธิ กับ ปัญญา นั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือ ถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิ คือ ความสงบ

เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่น พิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญ เช่นเดียวกันกับทางสมาธิ

ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา

คำว่า ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่น เราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริงๆแล้ว นั่นคือ ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด

เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใดๆนั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมตินิยมใดๆทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมติ ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพิจารณาในสภาวะทั้งหลาย โดยไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนเห็นประจักษ์แจ่มแจ้งพระทัยแล้วกาลใด กาลนั้นพระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า เรียนจบไตรภพโดยสมบูรณ์แล้ว จากนั้นก็ทรงปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย มีเบญจวัคคีย์ เป็นต้น พร้อมกับการประกาศพระองค์ว่า เป็นศาสดาของโลกได้

ถ้าพระองค์ยังไม่ผ่านไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียดไปแล้ว พระองค์จะเป็นศาสดาของโลกอย่างเต็มที่ไม่ได้เลย เราทั้งหลายผู้มุ่งจะเป็นครูสอนตน เป็นผู้ฝึกฝนทรมานตน เราก็ต้องดำเนินไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงพิจารณา และทรงรู้เห็นไปโดยลำดับเช่นนี้

  • ไตรลักษณ์มีอยู่ในกายในใจของทุกคน

คำว่า “ไตรลักษณ์” คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย ไตรลักษณ์ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ด้วย พึงทราบว่ามีอยู่ในกายในใจของเราทุกท่าน ไม่ใช่มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว และพระสาวกของพระองค์เท่านั้น

พึงทราบว่า เราทั้งหลายเวลานี้กำลังเป็นภาชนะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ที่จะสามารถพิจารณาและรับรองสภาวะที่ได้อธิบายมานี้ ให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้นในใจ ซึ่งเรียกว่า ธรรมในหลักธรรมชาติ เป็นของมีอยู่ตั้งแต่วันก้าวสู่ปฏิสนธิวิญญาณมาเป็นลำดับจนถึงวันนี้

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ได้ไปค้นหาที่ไหน ธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ พระองค์พิจารณาตามหลักธรรมชาติเหล่านี้ ให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามหลักแห่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จนหายสงสัยข้องพระทัยทุกอาการแล้ว จึงได้ประกาศพระองค์ว่า เป็นผู้สิ้นแล้วจากสังสารจักร คือ ความหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายเหล่านี้

เราซึ่งเป็นพุทธบริษัทของพระองค์เจ้า ขอได้โปรดพิจารณาสภาวธรรมซึ่งมีอยู่ในตัว และเราอย่าคิดมากไปว่า เราไม่มีศีลจะบำเพ็ญสมาธินั้นเป็นไปไม่ได้ เราไม่มีสมาธิจะบำเพ็ญปัญญานั้นเป็นไปไม่ได้ดังนี้ พึงทราบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอยู่กับหัวใจของผู้ตั้งใจปฏิบัติด้วยกันทุกท่าน

ศีล หมายถึง ปกติ ความเป็นปกติของใจในปัจจุบันนั้น ปรากฏเป็นศีลขึ้นมาแล้ว ความสงบของใจในขณะที่กำลังภาวนานั้น เรียกว่า จิตเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว การพิจารณาไตร่ตรองในหลักธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจทั้งภายในและภายนอก จะเป็นเวลาใดก็ตาม พึงทราบว่า ปัญญาเริ่มปรากฏขึ้นมาภายในใจของเราแล้ว

  • ผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์

ผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาร่างกายนี้ ให้ได้มองเห็นหน้าเห็นตาของไตรลักษณ์ ซึ่งแสดงตนอย่างเปิดเผยในร่างกายของเราทุกท่าน และโปรดพิจารณาซ้ำๆซากๆ จนเกิดความชำนาญในการพิจารณา เห็นร่างกายนี้เป็นกองแห่งธาตุ เป็นกองแห่งทุกข์อย่างเปิดเผยขึ้นกับใจ ไม่มีสิ่งใดจะสามารถมาปิดบังลี้ลับปัญญาได้เลย

เมื่อปัญญาก็เห็นชัด จิตก็เชื่องต่ออารมณ์ ย่อมเป็นโอกาสของจิตจะรวมสงบลงได้โดยสะดวกสบาย เมื่อถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว ปัญญาก็ทำหน้าที่พิจารณาร่างกายตามความเคยชินมาแล้ว ร่างกายทั้งท่อนจะเป็นที่ท่องเที่ยวของปัญญา จนมีความสามารถเต็มที่แล้ว อุปาทานในส่วนแห่งกายจะขาดกระเด็นออก เพราะกำลังของปัญญา จิตกับกายและกับกองทุกข์ในร่างกายก็แยกทางกันเดิน ไม่เป็นบ่อแห่งความกังวล ดังที่เคยเป็นมา

ส่วนเวทนาในจิต ได้แก่ สุข ทุกข์ เฉยๆ สัญญา ความจำหมาย สังขาร ความปรุง ความคิดภายในใจ วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งที่มาสัมผัสทั้ง ๕ ขันธ์นี้ เป็นกองแห่งไตรลักษณ์เช่นเดียวกับร่างกาย ถ้าคำว่า “จิต” อันเป็นตัวสมมติยังมีอยู่ตราบใด ขันธ์ทั้ง ๕ และไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ยังเข้าครองตัวอยู่ในจิตนั้นตราบนั้น

ฉะนั้น ต้องตามค้นหาขันธ์ทั้ง ๕ ไล่ตะล่อมลงรวมในไตรลักษณ์ให้ได้ด้วยอำนาจของปัญญา โดยค้นหาตัวสัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ โดยละเอียดถี่ถ้วน เราจะไม่เห็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น แม้รายหนึ่งแฝงอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเลย จะปรากฏ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ล้วนๆเต็มอยู่ในขันธ์นั้นๆ

และการพิจารณานามขันธ์เหล่านี้ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการพิจารณากาย พิจารณากลับไปกลับมาอย่างซ้ำๆซากๆ ถึงกับปัญญารู้ชัดว่าไม่มีอะไร นอกจากไตรลักษณ์ล้วนๆ เต็มอยู่ในขันธ์ ๕ เหล่านี้เท่านั้น ปัญญาจะหมดความสงสัยในขันธ์ทั้งปวง เพราะความฉลาดและคล่องแคล่วของปัญญา จะสามารถตามค้นเข้าไปถึงรากฐาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งขึ้นธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะไปพบจิตดวงสมมติอันเป็นจุดรวมแห่งอวิชชาเต็มอยู่ในที่นั้น สติปัญญากับอวิชชา ก็จะกลายเป็นสนามรบกันในที่นั้นเอง

อวิชชา คือ ยอดสมมติ กับ สติปัญญาอันเป็นยอดของมรรค คือ ทางแห่งวิมุตติ ได้ทำหน้าที่ของตนต่อกันจนสุดกำลัง ผลปรากฏว่า ได้พบบ่อเกิดแห่งขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น และบ่อแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รวมอยู่ในจิตดวงสมมตินี้ด้วย

จิตดวงสมมตินี่แลท่านให้นามว่า อวิชชา คือ ความรู้จอมปลอม คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย เกิดไปจากจุดเดียวนี้ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเรื่องทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ จนแยกจากกันไม่ออกตลอดกัปตลอดกัลป์ เกิดจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น

จึงควรจะกล่าวได้ว่า แม่พิมพ์ของโลกทั้งมวล คือ ธรรมชาติอันนี้ บัดนี้ปัญญาที่ทันสมัยได้ค้นหาตัวแม่พิมพ์ของวัฏฏะ ได้พบกันอย่างเปิดเผยในสถานที่ที่อวิชชาเคยซ่อนตัว จึงทำลายธรรมชาตินี้ลงด้วยอำนาจของปัญญาคมกล้า ซึ่งฝึกซ้อมมาจนชำนาญ

แม่พิมพ์ของวัฏจักรได้ถูกทำลายแตกกระเด็นลงในขณะเดียวเท่านั้น วิวัฏฏะได้ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งใดปิดบัง ปัญญาทั้งหมดได้สิ้นสุดลงในขณะอวิชชาดับลงไป ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ได้ตามส่งเราไปถึงจุดนั้น กิเลสทั้งมวลก็จะรบกวนเราไปถึงแค่นั้น ความโลภ โกรธ หลง ก็หมดฤทธิ์หมดอำนาจ จะไม่สามารถทำเราให้หมุนเวียนอีกเช่นเคยเป็นมา

แม้ขันธ์ซึ่งเคยเป็นบริวารของอวิชชา ก็กลับกลายมาเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นกิเลสอาสวะแต่อย่างใด ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ทราบชัดว่าเป็นเครื่องมือสำหรับแก้กิเลสอาสวะที่เป็นข้าศึกต่อตัวเรา เพราะรู้เท่าเหตุ รู้เท่าผล อย่างแจ่มแจ้ง แล้วปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง

รู้เท่าเหตุ คือ เหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ สมุทัย มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นต้นด้วย รู้เท่าเหตุแห่งสุข คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ด้วย และรู้เท่าผล คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสมุทัยด้วย และรู้เท่าผลแห่งสุข คือ นิโรธที่เกิดขึ้นจากเหตุแห่งสุข คือ มรรคด้วย

ผู้รู้เท่าสัจจะของจริงทั้ง ๔ นั้นนั่นแลเป็นธรรมพิเศษ จึงควรให้นามว่าวิมุตติธรรม เพราะนอกจากสมมติสัจจะไปแล้วเป็นธรรมตายตัว เด่นชัดอยู่ด้วยความเป็นอิสระในตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติใดๆเป็น “ธมฺโม ปทีโป” อย่างสมบูรณ์ (ความสว่างแห่งธรม) เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่ปราศจากเมฆกำบังแล้ว ย่อมส่องแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ฉันนั้น ในขณะเดียวกัน พุทโธ ธัมโม สังโฆ อันเป็นอัตสมบัติอย่างประเสริฐได้ปรากฏขึ้นในใจของผู้มีชัยโดยสมบูรณ์

หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต

อย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์  อย่าสำคัญไตรลักษณ์เป็นตน  อย่าสำคัญตนเป็นจิต  อย่าสำคัญจิตเป็นตน
อย่าสำคัญตนเป็นขันธ์ ๕ อย่าสำคัญขันธ์ ๕ เป็นตน  สิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่ "ใจ และผู้รู้"
ไม่สำคัญใจ และผู้รู้เป็นตน  ไม่สำคัญผู้รู้ และใจ มีในตน ก็สะดวกดี  สิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่นั้น  ถอนรากถอนโคนอันนั้น ก็ใช้ได้

พิมพ์