ปริยัติธรรม
หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้มีอุปนิสัยที่สมควรจะได้บรรลุธรรม จะตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา และเนกขัมมานสังสกถา มาโดยลําดับ
เมื่อทรงทราบว่า จิตของบุคคลนั้นพร้อมที่จะรับฟังธรรมที่ลึกซึ่งยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดง อริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเป็น สัจธรรม ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุโลกุตตรธรรม อันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
สัจธรรม
สัจธรรม ที่พระสิทธัตถะโพธิสัตว์ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาอันยิ่ง หลังจากพระองค์ทรงบําเพ็ญบารมีมานานถึง ๔ อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนกัป ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ณ โพธิบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ที่ตําบล อุรุเวลาเสนานิคม คือ อริยสัจธรรม ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ที่ทรงแสดงแก่คฤหัสถ์
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้มีอุปนิสัยที่สมควรจะได้บรรลุธรรม พระองค์จะตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทานกกา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานสังสกถา โดยลําดับก่อน เมื่อทรงทราบว่า จิตของผู้นั้นพร้อมที่จะรับฟังธรรมที่ลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น คือมีจิตที่ปราศจากความเห็นผิด ปราศจากนิวรณ์ มีจิตที่เบิก ผ่องใส เพราะสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ประกอบด้วยปีติและปราโมทย์ ในสัมมาปฏิบัติแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุโลกุตตรธรรม อันเป็นจุดหมาย สูงสุดในพระพุทธศาสนา อริยสัจธรรม ๔ ประการนี้ เป็นหลักธรรมสำหรับบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่ควรศึกษา ควรรู้และควรปฏิบัติตาม เพื่อความสิ้นไปจากกิเลสทั้งหลาย และเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายเสมอว่า เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่เข้าใจในอริยสัจธรรมเหล่านี้ ตถาคต และพวกเธอจึงเร่ร่อนไปในภพทั้งหลายสิ้นกาลนาน โดยตรัสว่า
ชนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลและบัณฑิต
ทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า
ภาชนะดินที่ช่างหม้อทํา ทั้งเล็กทั้งใหญ่ทั้งสุกทั้งดิบ
ย่อมมีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น
สังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
** มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑/๒ มหาหัตถุปโทปมสูตร หน้า ๕๑๖-๕๔๕ สมัยหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร พระสารีบุตรได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายรอยเท้าแห่งสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งหมด ฉันนั้น
พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ก็รวมลงในอริยสัจ ๔ นี้ทั้งหมด ดุจเดียวกัน
อริยสัจธรรม ๔ ประการ ได้แก่
- ทุกขอริยสัจ ความทุกข์ ได้แก่การเกิด แก่ ตาย การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาที่ไม่สมหวังเป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
- ทุกขสมุทยอริยสัจ เหตุเกิดแห่งความทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันทําให้เกิดในภพใหม่อีก
- ทุกขนิโรธอริยสัจ ความดับทุกข์ ได้แก่การดับตัณหา ไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะ สละคืน ไม่พัวพัน
- ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
- ทุกขอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรกําหนดรู้ คือ ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ ทุกข์ตามสภาพที่เป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น
- ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรละ คือ กําจัดตัณหาอัน เป็นเหตุที่ทําให้เกิดทุกข์ ให้หมดสิ้นไป
- ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรทําให้แจ้ง เพื่อความหมดสิ้นจากกิเลส ถึงพระนิพพาน
- ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรเจริญ คือ ศึกษาข้อปฏิบัติให้เข้าใจในมรรคทั้ง ๘ แล้วกระทําตามมรรคนั้น ซึ่งจะเป็นทางนําไปสู่จุดหมาย เพื่อบรรลุถึงพระนิพพานในที่สุด
อธิบาย : ทุกขอริยสัจ
ทุกขอริยสัจ ความทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทาน ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ชาติ ได้แก่ ความเกิดขึ้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย
ชรา ได้แก่ ความแก่ อันมีสภาพที่ฟันหลุด ผมหงอก หนัง เที่ยว ความเสื่อมของรูป (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ความเสื่อมแห่งอายุ
มรณะ ได้แก่ ความตาย ความสิ้นไปแห่งชีวิต โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศกที่ประสบกับการสูญเสีย
ทุกขะ ได้แก่ ความไม่สบายกาย ทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในกาย
โทมนัส ได้แก่ ความเสียใจ ทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในใจ
อุปายาส ได้แก่ ความคับแค้นใจที่ประสบกับความสูญเสีย
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ได้แก่ การประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (การกระทบสัมผัส) ฯลฯ อันไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ได้แก่ ความพลัดพราก จากสิ่งอันเป็นที่รัก มีบิดามารดา เป็นต้น
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ได้แก่ ต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เช่นขอไม่ให้เกิด ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย เป็นต้น
อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
เหล่านี้ชื่อว่า ทุกขอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรกําหนดรู้
สภาพของทุกขอริยสัจ
** ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗/๒ หน้า ๔๘๓ อธิบายสภาพ คือลักษณะแห่งความเป็นเองโดยธรรมชาติ ของทุกขอริยสัจว่า เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น คือ สภาพที่บีบคั้นแห่งทุกข์ ๑ สภาพแห่งทุกข์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑ สภาพที่ให้เดือดร้อน ๑ สภาพที่ต้อง แปรเปลี่ยนไป ๑
ความทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สภาพแห่งทุกข์ทั้งหมดนี้ อยู่ในสภาพที่มีความบีบคั้น มีปัจจัยปรุงแต่งทําให้เดือดร้อน และแปรเปลี่ยนไป นี้เป็นสภาพของทุกขอริยสัจ
กิจของทุกขอริยสัจ ปริญญา ๓
ปริญญา แปลว่า ความกําหนดรู้ ความรู้รอบ กิจที่ควรกําหนด รู้ในทุกขสัจ มี ๓ ประการ ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปุตตมังสสูตร หน้า ๓๑๘-๓๑๙ อธิบายไว้ว่า
ญาตปริญญา การกําหนดรู้รอบรู้ในทุกขสัจทั้งหมดว่าอะไร เป็นนาม อะไรเป็นรูป รู้นามรู้รูปนั้นโดยลักษณะโดยกิจ แล้วแสวงหา ปัจจัยของนามรูปนั้นว่าเกิดจากปัจจัยอะไร ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต
ตีรณปริญญา กําหนดรู้ด้วยการพิจารณาถึงความเกิดความดับของนามรูปทั้งหลาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา แล้วพิจารณาด้วยอนุปัสสนา ๗
ปหานปริญญา กําหนดรู้โดยการเห็นโทษของนามรูปเหล่านั้น แล้วกําจัดฉันทราคะ (กิเลส) ในนามรูปนั้น การละกิเลสก็มี ๓ ขั้นคือ
- วิกขัมภนปหาน ละด้วยการข่มกิเลสนั้นไว้
- ตทังคปหาน ละด้วยการดับกิเลสนั้นไว้ได้ชั่วคราว
- สมุจเฉทปหาน ละด้วยการดับกิเลสหมดสิ้นด้วยมรรค
การแทงตลอดด้วยการกําหนดรู้ว่า ความทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีความบีบคั้น มีปัจจัยปรุงแต่ง ทําให้เดือดร้อน และแปรเปลี่ยนไปคือไม่เที่ยง นี้เป็นการรู้โทษแห่งทุกข์ทั้งหลาย ที่เป็นทุกขสัจ นี้เป็นกิจของทุกขสัจที่ควรกําหนดรู้
** สัจจวิภังคนิเทศ อุปาทานขันธ์ หน้า ๓๕๐ อธิบายความ หมายแห่งขันธ์ไว้ว่า เพราะทุกข์มีชาติเป็นแดนเกิดอันใด อันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโลกนี้ และทุกข์ใดที่มิได้ตรัสไว้ ทุกข์นั้นทั้งหมด เว้นอุปาทานขันธ์ ๕ แล้วย่อมไม่มี ฉะนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงแสดงซึ่งที่สุด แห่งทุกข์จึงตรัสว่า โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์
จริงอย่างนั้น ชาติเป็นต้นเบียดเบียนอยู่ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ โดยประการต่าง ๆ เหมือนเหลือบและยุงเป็นต้นเบียดเบียนโค เหมือนโจรปล้นบ้านเบียดเบียนหมู่บ้าน ย่อมเกิดขึ้นในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นเอง เหมือนหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น ย่อมเกิดในพื้นดิน
- ทุกข์ที่เป็นเบื้องต้นแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือชาติ (การเกิด)
- ทุกข์ที่เป็นไปในท่ามกลาง คือชรา (ความแก่)
- ทุกข์ที่เป็นไปในที่สุด คือมรณะ (ความตาย)
- ปุถุชนผู้ถูกทุกข์กายเบียดเบียน ย่อมเกิดปฏิฆะ คือความคับแค้น ความขึ้งเคียดคือโทสะ ปุถุชนผู้ที่ถูกทุกข์ทางใจเบียดเบียน ย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจร่ำไรรำพัน ทุกข์จากการพลัดพราก ทุกข์จากการพลาดหวังไม่ได้ในสิ่งที่ตนปราถนาล้วนเป็นทุกข์
อธิบาย : ทุกขสมุทยอริยสัจ
ทุกขสมุทยอริยสัจ เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ คือโลภะ หรือราคะที่ปรารถนาในอารมณ์ต่าง ๆ
** สัจจวิภังคนิเทศ อธิบายว่า
- กามตัณหา ราคะที่ปราถนาในกามคุณทั้งหลาย มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น
- ภวตัณหา เป็นชื่อของราคะ ที่ความยินดีในรูปภพ และในอรูปภพ และความพอใจในฌาน ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ ด้วยอํานาจการปรารถนาภพ มีความเห็นผิดว่าโลกและวิญญาณเที่ยง ไม่เสื่อมสูญ
- วิภวตัณหา เป็นชื่อของราคะ ที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ว่าตายแล้วสูญ ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดใหม่อีก
** อภิธรรมปิฎก เล่ม ๑/๒ หน้า ๓๖๕-๔๐๕ แสดงความหมายของราคะหรือโลภะไว้ว่า สภาวะที่ชื่อว่าราคะ เพราะเป็นความใคร่ในกามคุณ ที่ยังสัตว์ให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย ดุจเถาวัลย์ในไพรสณฑ์ (ป่า) ที่หนาแน่น ร้อยรัดผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ในวัฏฏะ ให้ดิ้นรนเข้าไปอยู่ในข่ายของตัณหา ให้แพร่ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ สู่ตระกูล สู่คณะ ดุจใยแมงมุมที่ดักสัตว์ ไว้ให้ถึงความเสื่อมและความพินาศ
ตัณหาเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เพราะทุกข์ทั้งมวลย่อมเกิดจากตัณหา ตัณหาย่อมนำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ภพ เหมือนโคทั้งหลายที่ถูกเชือกร้อยจมูกให้ เดินตามไป ตัณหาไม่ยอมให้สัตว์ทั้งหลายได้เงยหน้าขึ้นจากวัฏฏะ
ตัณหาจึงเป็นเสมือนเบ็ด หรือบ่วงแห่งมารที่เกาะเกี่ยวและผูกสัตว์ทั้งหลาย ให้จมลงสู่ห้วงแห่งโอฆะสงสาร เวียนเกิดเวียนตายอยู่อย่างมิรู้จบสิ้น
** ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒/๓ หน้า ๒๓๖ อธิบาย กามตัณหาว่า
กามตัณหา ราคะที่ปรารถนาในกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย มีจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ (สิ่งที่รู้ได้ทางใจ)
สิ่งใดเป็นที่รักใคร่เป็นที่พอใจ ตัณหาย่อมเกิดขึ้นในสิ่งนั้น ๆ ตัณหาย่อมตั้งอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น
ตา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจ ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่ตา ตัณหาเมื่อตั้งก็ตั้งอยู่ที่ตา โดยทํานองเดียวกัน หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัณหาเมื่อจะเกิด เมื่อจะตั้งก็ตั้งอยู่ที่หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รูป เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจ ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่รูป ตัณหาเมื่อตั้งก็ตั้งอยู่ที่รูป โดยทํานองเดียวกัน เสียงกลิ่น...รส... โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตัณหาเมื่อจะเกิดเมื่อจะตั้ง ก็เกิดและตั้งอยู่ ที่เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์
จักขุวิญญาณ (การเห็น) จักขุสัมผัส (การกระทบสัมผัส) เวทนา อันเกิดจากการเห็น อันเป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจ ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัสและเวทนานั้น ตัณหาเมื่อตั้งก็ตั้งอยู่ที่จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส และเวทนานั้น และทางทวารอื่น ๆ ก็โดย นัยเดียวกัน
** ขุททกนิกาย นิทานวรรค หน้า ๒๒๒ อธิบายถึงความเกิดขึ้นของตัณหา ในแต่ละทวารว่า
ทางตา
เพราะอาศัยจักษุและรูปทําให้เกิดจักขุวิญญาณ คือ การเห็น ธรรม ๓ อย่างรวมกัน คือ จักษุ-รูป-จักขุวิญญาณทําให้เกิดผัสสะ (กระทบ)
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ทางหู
อาศัยโสตะและเสียง ทําให้เกิดโสตวิญญาณ คือการได้ยิน ธรรม ๓ อย่าง คือ โสตะ-เสียง-โสตวิญญาณรวมกัน ทําให้เกิดผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ทางจมูก
อาศัยฆานะและกลิ่น ทําให้เกิดฆานวิญญาณ คือการได้กลิ่น ธรรม ๓ อย่าง คือ ฆานะ-กลิ่น-ฆานวิญญาณรวมกัน ทําให้เกิดผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ทางลิ้น
อาศัยชิวหาและรส ทําให้เกิดชิวหาวิญญาณ คือการรู้รส ธรรม ๓ อย่าง คือ ชิวหา-รส-ชิวหาวิญญาณรวมกัน ทําให้เกิดผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ทางกาย
อาศัยกายะและโผฏฐัพพะทําให้เกิดกายวิญญาณ การสัมผัส ธรรม ๓ อย่าง กายะ-โผฏฐัพพะ-กายวิญญาณรวมกัน ทําให้เกิดผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ทางใจ
อาศัยมโนและธัมมารมณ์ ทําให้เกิดมโนวิญญาณ คือการรู้ ธรรม ๓ อย่าง มโน-ธัมมารมณ์-มโนวิญญาณรวมกัน ทําให้เกิดผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงทําให้เกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงทําให้เกิดตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงทําให้เกิดอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงทําให้เกิดภพ
เพราะมีภพ จึงทําให้มีชาติ
เพราะมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงมีตามมา
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย ย่อมมีมาด้วยเหตุ คือ ตัณหา เช่นเดียวกันทุกทวาร ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นเป็นไป วนเวียนเช่นนี้มิรู้จบ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ในวัฏฏะ
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรละ เพราะฉะนั้นเมื่อจะละตัณหาอันเป็นเหตุเกิดแห่งกองทุกข์ ก็จําต้องศึกษาให้รู้ว่า
- ตัณหาเกิด ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเกิดที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
- ตัณหาตั้งอยู่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือตั้งอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
- ตัณหาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ ที่จักขุวิญญาณ (การเห็น) จักขุสัมผัส (การกระทบสัมผัส) หรือที่เวทนา คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา เป็นต้น
เมื่อรู้ที่ตัณหาเกิด รู้ที่ตั้งอยู่ของตัณหา เมื่อจะละก็ต้องละตรงที่ตัณหาเกิด ละตรงที่ตัณหาตั้งอยู่ ละโดยการกําจัดฉันทราคะ ความพอใจความรักใคร่ความ มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และวัตถุกามอันเป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา โดยรู้โทษของรูป เป็นต้น และรู้โทษของตัณหาตามความเป็นจริง
กิจของสมุทยอริยสัจ
** อภิธรรมปิฎกวิภังค์ภาค ๑ ว่าด้วยสมุทยสัจจะ ข้อ ๑๕๘ กามตัณหาย่อมเกิด ย่อมตั้งมั่น ย่อมมีความเป็นไปบ่อย ๆ ด้วยความเพลิดเพลินในปิยรูปสาตรูป คือ จักษุ โสตะ มานะ ชิวหา กาย ใจ หรือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่น่ารักน่ายินดี สัตว์ทั้งหลายผู้ยึดมั่นในจักษุ โดยถือว่าเป็นจักษุของเรา ย่อมสําคัญจักขุประสาทของเรา ว่าผ่องใสเหมือนสีหบัญชร แก้วที่เผยออกในวิมานทอง ย่อมสําคัญโสตะของเรา ว่าดุจสายสังวาล ย่อมสําคัญฆานะของเรา ว่าโด่งงามดุจเกลียวหรดาลตั้งอยู่ ย่อมสําคัญชิวหาอันอ่อนให้รสละเอียด ดุจผ้ากัมพลแดง ย่อมสําคัญกายดุจเสาค่ายทองคํา ย่อมสําคัญมโน ว่าโอฬารไม่เหมือนชนเหล่าอื่น
ย่อมสําคัญว่ารูปของเรางามดุจสีกรรณิการ์ ย่อมสําคัญเสียงของเราดุจเสียงของนกการเวก ย่อมสําคัญกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ของเราว่าดีกว่าผู้อื่น ไม่มีผู้ใดเหมือน
เมื่อสัตว์ทั้งหลาย สําคัญตนอยู่อย่างนี้ ตัณหาของสัตว์เหล่านั้นซึ่งยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งมั่นด้วยอํานาจที่เป็นไปบ่อยๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จักษุเป็นปิยรูปสาตรูป (รูปที่น่ายินดี น่าเพลิดเพลิน) ในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ก็ย่อมเกิดที่จักษุนี้ เป็นต้น
** ขุททกนิกาย อุทาน ปฐมกามสูตร หน้า ๖๖๘-๖๗๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงโทษของสัตว์ที่ข้องอยู่ในกามว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตน้อมไปในกาม ข้องอยู่ในกาม เป็นผู้กําหนัดแล้ว ยินดีแล้ว หมกมุ่นแล้ว พัวพันแล้ว มืดมนมัวเมาอยู่ใน วัตถุกามและกิเลสกาม ด้วยทิฏฐิ มานะ โทสะ และอวิชชา ย่อมไม่เห็นโทษที่น่ากลัว มีผลเผ็ดร้อน มีความพินาศเป็นอเนกติดตามผูกพัน ล่ามสัตว์ทั้งหลายไว้ในกิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ
สัตว์เหล่านั้น ย่อมถูกตัณหาอันเปรียบดังข่ายครอบงำ ย่อมไม่สามารถจะข้ามพ้นจากห้วงน้ำใหญ่ คือกิเลสได้ ภิกษุผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ พึงกําจัดฉันทราคะ ในปิยรูปสาตรูปในขันธ์ ๕ เหล่านั้นด้วยอนุปัสสนา ๗ อัน เป็นอุบายเครื่องสลัดออกจากขันธ์ ๕ เป็นการละสมุทัยสัจ ด้วยประการอย่างนี้
อนุปัสสนา ๗ ได้แก่
- อนิจจานุปัสสนา ปัญญาที่เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง ย่อมละความคิดว่าเที่ยงให้หมดไป
- ทุกขานุปัสสนา ปัญญาที่เห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ย่อมละสุข สัญญาให้หมดไป
- อนัตตานุปัสสนา ปัญญาที่เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่ตัวตน ย่อมละอัตตาตัวตนให้หมดไป
- นิพพิทานุปัสสนา ปัญญาที่เกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ ย่อมละความเพลิดเพลินให้หมดไป
- วิราคานุปัสสนา ปัญญาที่คลายความกําหนัดในขันธ์ ๕ ย่อมละราคะให้หมดไป
- นิโรธานุปัสสนา ปัญญาที่เห็นความดับของขันธ์ ๕ ย่อมละเหตุที่เกิดขึ้นให้หมดไป
- ปฏินิสสัคคานุปัสสนา ปัญญาที่เห็นความสละคืนจากการถือว่าเที่ยง สุข เป็นตัวตน และงาม ย่อมละการยึดถือกิเลสให้หมดสิ้นไป
ผู้ที่จะตัดฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ จะต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอุปาทานขันธ์ ๕ จนเพียงพอที่สมควรจะ เบื่อหน่าย คลาย ความยินดีเพลิดเพลินในขันธ์ ๕ ด้วยการเจริญอนุปัสสนา ๗ ดังนี้
อธิบาย : ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ การรอบรู้ทุกขสัจจะทั้งหมด การละสมุทัย คือตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้สิ้นไป ความสละ ความสลัดออก ความหลุดพ้นจากตัณหาและกิเลสทั้งหลาย การดับสัจจะทั้งสองโดยไม่เหลือ โดยไม่ให้เกิดขึ้นอีก ชื่อว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ
** สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔/๑ หน้า ๓๓-๓๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร แก่ภิกษุชฏิล ๑,๐๐๐ รูป ที่คยาสีสะ ริมฝั่งแม่น้ำคยา ความว่า
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เป็นของร้อน ร้อน เพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส (โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ฯลฯ) มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นของร้อน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่แล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งจักษุทั้งรูป ทั้งจักษุวิญญาณทั้งจักษุสัมผัส ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งมโน ทั้งธรรมารมณ์ ทั้งมโนวิญญาณ ทั้งมโนสัมผัส ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกําหนัด เพราะคลายกําหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตนี้จบลง ภิกษุชฏิลทั้ง ๑๐๐๐ รูป หลุดพ้นจากอาสวะ บรรลุพระอรหัต
** อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติกัณณสูตร หน้า ๒๔๕ กล่าว ถึงข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์ ความสิ้นไปแห่งกิเลสว่า
- ภิกษุย่อมรู้ชัดแจ้ง ทุกขสัจ ทั้งหมดตามที่เป็นจริง โดยรอบรู้ ลักษณะพร้อมด้วยกิจ ว่าทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มากไปกว่านี้
- ภิกษุย่อมรู้ชัดรู้แจ้ง สมุทยสัจ คือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิด ทุกข์ตามเป็นจริง โดยรอบรู้ลักษณะพร้อมด้วยกิจ แล้วกําจัดฉันทราคะ
- ภิกษุย่อมรู้ชัดรู้แจ้งว่า ทุกข์และสมุทัย ทั้งสองดับไปแล้ว ตามความเป็นจริง โดยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจว่า นี้เป็นความ ดับทุกข์ สิ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย คือ นิโรธ
- ภิกษุย่อมรู้ชัดรู้แจ้ง มรรคสัจ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน โดยการแทงตลอดในกิจว่า นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
** มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตร สัจจวาระ หน้า ๕๒๔-๕๒๕ กล่าวว่า เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และรู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อนั้นเธอจะละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐิ ว่าเป็นเราออกได้ เมื่อละอวิชชาได้โดยประการทั้งปวงแล้ว วิชชาย่อม เกิดขึ้น เธอชื่อว่า เป็นผู้ทําที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันที่เดียว
** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปริวิมังสนสูตร หน้า ๒๔๐-๒๕๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าโอวาทภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องการพิจารณา เพื่อให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ความว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะพิจารณา ภิกษุย่อมพิจารณาว่า ทุกข์คือชราและมรณะที่เกิด ขึ้นในโลก มีประการต่าง ๆ
ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกําเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะ จึงไม่มี
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาอยู่ย่อมรู้ประจักษ์ว่า
ทุกข์นี้มีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นสมุทัย
มีชาติเป็นกําเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด
เมื่อชาติมี ชรามรณะจึงมี
เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี
ภิกษุนั้นย่อมประจักษ์ชรามรณะ ย่อมประจักษ์เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ย่อมประจักษ์ความดับแห่งชรามรณะ ย่อมประจักษ์ปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับแห่งชรามรณะ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อดับชรามรณะโดยแท้
ภิกษุย่อมพิจารณาชาติภพ..อุปาทาน..ตัณหา..เวทนา.. ผัสสะ..สฬายตนะ..นามรูป..วิญญาณ..สังขาร...อวิชชาโดยทํานองเดียวกัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ ความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ในกาลใด เมื่ออวิชชาดับ วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมไม่ทำกรรมเป็นบุญเป็นบาป เมื่อไม่ทํา ไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรในโลก เชื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี คือบรรลุนิพพาน
กิจของนิโรธอริยสัจ
**อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗/๑ หน้า ๔๕๒-๔๕๓ นิโรธสัจจนิทเทศ ทรงแสดงการดับทุกข์ไว้ว่า เมื่อยังละตัณหาไม่ได้ ทุกข์ย่อมเกิดได้อีกบ่อย ๆ เหมือนรากไม้ที่ยังแข็งแรง แม้ตัดลําต้นทิ้งแล้ว ก็ยังงอกขึ้นมาได้อีก
การดับตัณหา ด้วยการสํารอก (ทําให้สิ่งที่ไม่ต้องการหลุดออกไป) โดยไม่เหลือ ท่านกล่าวว่า วิราคะ คือความคลายกําหนัด เพราะคลายกําหนัดจึงหลุดพ้น การดับด้วยการคลายกําหนัด ชื่อว่า วิราคนิโรธ การดับด้วยคลายกําหนัดโดยไม่เหลือ ชื่อว่า อเสสวิราคนิโรโธ
เปรียบเสมือนบุรุษเห็นเถาบวบขมเกิดในนา เมื่อต้องการจะทําลายทิ้ง จําต้องตัดยอดแล้วค้นหารากเพื่อขุดทิ้ง เถาบวบขมนั้นจะ ถูกทําลายไปจากพื้นนา ไม่งอกออกมาอีก ฉันใด
ตัณหาที่เกิดที่จักษุหรือรูปเป็นต้นก็ฉันนั้น ตัณหาเมื่อถูกตัด ด้วยอริยมรรคแล้วย่อมถึงความหมดสิ้นไปโดยไม่มีเหลือเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงถึงความดับตัณหา จึงกล่าวว่า จักษุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิดก็เกิดที่จักษุนี้ ตัณหาเมื่อจะละก็ละที่จักษุนี้ ตัณหาเมื่อจะดับก็ดับที่จักษุนี้
โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ก็โดยนัยเดียวกัน ตัณหาเกิดขึ้นที่วัตถุใดย่อมพิจารณา ให้เห็นแจ้งในวัตถุนั้นตามความเป็นจริง จนเป็นปัจจัยแก่มรรค (เจริญวิปัสสนา) จึงจะละตัณหาได้ ดังนี้
** ขุททกนิกาย อุทาน พาหิยสูตร หน้า ๑๒๔-๑๖๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเรื่องที่สุดแห่งทุกข์ ความย่อมีว่า กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ท่าสุปปาระ ใกล้ฝั่งสมุทร ชนเป็นอันมากนับถือบูชา มีลาภสักการะมากมาย จึงสําคัญตน ว่าเป็นพระอรหันต์ เทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของพาหิยะในกาลก่อน เป็นผู้อนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์ได้บอกแก่กุลบุตรนั้นว่า ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ และยังไม่มีปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ทําให้เป็นพระอรหันต์ พาหิยะถามว่า ก็ใครเล่าที่เป็นพระอรหันต์
เทวดาตอบว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี พระองค์เป็นพระอรหันต์แน่นอน ทั้งยังแสดงธรรมเพื่อความ เป็นพระอรหันต์แก่ชนทั้งหลายอีกด้วย
พาหิยะจึงรีบเดินทางไปกรุงสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต มีอินทรีย์สงบ มีอินทรีย์สํารวมแล้ว น่าเลื่อมใส พาหิยะเข้าไปหมอบลงแทบพระบาทกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ อันจักพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรเพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตอยู่ พาหิยะได้กราบทูลแม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ ชีวิตของข้าพระองค์ได้ยาก ข้าพระองค์ไม่ทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายเมื่อใด ขอพระองค์ทรงโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พาหิยะเพราะเหตุนั้น เธอจึงศึกษาว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบ จักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
เมื่อเธอศึกษาอย่างนี้ ในกาลนั้น เธอย่อมไม่มี ในกาลใด เธอไม่มี ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
พาหิยะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาเพียงเท่านี้ ชําระศีล ให้หมดจด อาศัยสมาธิตามที่ได้แล้ว เจริญวิปัสสนา หลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย สลัดออกจากกามราคะ เป็นต้น ด้วยสมุจเฉทวิมุตติและปัสสัทธิวิมุตติ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในขณะนั้นเอง
พาหิยะทูลขอบวชพระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอมีบาตรและ จีวรบริบูรณ์แล้วหรือ กราบทูลว่ายังไม่มีเลย พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า เธอจงไปแสวงหาบาตรและจีวรก่อน แล้วเสด็จหลีกไปเพื่อบิณฑบาต เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะล้มลงถึงแก่มรณะ ขณะนั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุจํานวนมาก ทอดพระเนตรเห็นจึงรับสั่งให้ ภิกษุช่วยกันนําพาหิยะไปกระทําฌาปนกิจ แล้วสร้างสถูปบรรจุอัฏฐิไว้ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอ กับท่านทั้งหลายแล้ว เมื่อเหล่าภิกษุกระทํากิจที่ทรงรับสั่งเรียบร้อยแล้ว เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า คติ (ที่ไป) ท่านพาหิยะเป็นอย่างไร
พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารจีริยะเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทําให้เราลําบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะนิพพานแล้ว
ภิกษุสงสัยทูลถามว่า พระองค์แสดงธรรมแก่ท่านเวลาไหน พระบรมศาสดาตรัสว่า เมื่อเรากําลังบิณฑบาตอยู่ในระหว่างถนน ภิกษุ ทูลถามอีกว่า ธรรมที่พระองค์ยืนตรัสในระหว่างถนนนั้นมีประมาณน้อย พาหิยะสามารถทําคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
พระองค์จึงตรัสว่า เธอจงอย่าประมาทในธรรมว่ามีประมาณน้อยหรือมาก คาถาแม้ตั้งพัน แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็สู้คาถาบทเดียวซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ ที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ย่อมประเสริฐกว่า ในเวลาจบพระดํารัสนี้ ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
อรรถกถากล่าวว่า ในอดีตพาหิยะกระทําสมณธรรม สิ้น ๒ หมื่นปี แต่เป็นผู้ตระหนี่ ได้ปัจจัยใด ๆ มาก็บริโภคเอง ไม่เอื้อเฟื้อแก่เพื่อนสพรหมจารี ไม่ได้กระทําการสงเคราะห์ด้วยบาตรหรือจีวร แม้แก่ ภิกษุรูปหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงทราบว่า บาตรและจีวรอันสําเร็จแล้ว ด้วยฤทธิ์จักไม่เกิดขึ้นแก่พาหิยะ จึงมิได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ตรัสให้พาหิยะไปหาบาตรและจีวรมาเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญพาหิยะว่า เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุสาวกของเราผู้เป็นขิปปาภิญญา (ตรัสรู้เร็ว)
** อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิตถารสูตร หน้า ๓๘๖-๓๘๗ แสดงบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ๔ ประเภท ได้แก่
- ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า มีเรื่องของพระจักขุบาล เป็นตัวอย่าง
- ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลําบาก แต่รู้ได้เร็ว มีเรื่องของพระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวอย่าง
- สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า มีเรื่องของพระอานนท์ หรือผู้ที่ได้ฌานบางท่าน เป็นตัวอย่าง
- สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว มีเรื่องของพระสารีบุตร เป็นตัวอย่าง
** ขุททกนิกาย อุทาน ปฐมโพธิสูตร หน้า ๕๐-๕๒ กล่าว ถึงวิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลส ๕ ประการ ความว่า
- ตทังควิมุตติ หลุดพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึก คือหลุดพ้นจากมัจฉริยะและโลภะด้วยทาน หลุดพ้นจากปาณาติบาตด้วยศีล หลุดพ้น จากสักกายทิฏฐิด้วยการกําหนดนามรูป หลุดพ้นจากทิฏฐิด้วยการ กําหนดปัจจัย หลุดพ้นจากความเป็นผู้สงสัยด้วยการข้ามพ้นความสงสัย หลุดพ้นจากความสําคัญว่าน่ายินดีด้วยการเห็นว่าเป็นโทษ หลุดพ้นจากความเพลิดเพลินในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยการเห็นว่า น่าเบื่อหน่าย เหล่านี้ชื่อว่าตทั้งควิมุตติ (วิปัสสนา)
- วิขัมภนวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยการไม่เกิดขึ้นแห่งนิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น ของผู้บําเพ็ญฌาน ชื่อว่าวิขัมภนวิมุตติ (สมถะ)
- สมุจเฉทวิมุตติ หลุดพ้นด้วยอํานาจสมุจเฉทปหาน คือกิเลส ที่ถูกปหานแล้วไม่เกิดอีกโดยสิ้นเชิง ด้วยโลกุตตรมรรคชื่อว่า สมุจเฉท วิมุตติ (อริยมรรค)
- ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้น ในขณะแห่งโลกุตตรผลจิต คือภาวะที่กิเลสถูกปหานไปแล้วด้วยโลกุตตรมรรค
- นิสสรณวิมุตติ หลุดพ้นด้วยการสลัดออกซึ่งสังขตธรรม (สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ทั้งปวง ดับกิเลสได้หมดสิ้น ได้แก่นิพพาน
** ขุททกนิกาย อุทาน จตุตถนิพพานสูตร หน้า ๗๒๗-๗๓๐ สมัยหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวั วิหาร ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเกี่ยวด้วยพระนิพพาน แสดงการเทียบเคียงโดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นมีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศอานิสงส์ของนิพพาน แต่มิได้ตรัสอุบายที่จะให้บรรลุ พวกเราจะพึงบรรลุ ได้อย่างไรหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกของภิกษุ เหล่านั้น ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิ
เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็ย่อมมีปัสสัทธิ
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป
เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติ และอุปบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี
เมื่อไม่มีโลกนี้โลกหน้า แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจง ให้ภิกษุเห็นแจ้งพระนิพพาน ด้วยการละตัณหาได้เด็ดขาดด้วยอริยมรรค ไม่ดิ้นรนเพราะตัณหาและ ทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรานั้นเป็นอัตตาของเรา ย่อมพิจารณาสังขารด้วย ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นผู้มีกายและจิตสงบระงับ ไม่อิงอาศัยอารมณ์ใด ๆ ด้วยอํานาจของตัณหา ประกอบสมถะและวิปัสสนาให้เนื่องกันไปเป็นคู่ ทํากิเลสให้สิ้นไปด้วยอริยมรรค ไม่มีความอาลัยในภพ ย่อมไม่มีการเกิดอีก เมื่อไม่มีกิเลสวัฏ กัมมวัฏก็เป็นอันสิ้นสุดไป เมื่อกัมมวัฏสิ้นสุดไป วิปากวัฏจักมีแต่ที่ไหน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศอานุภาพแห่งพระนิพพาน อันเป็นเหตุสงบทุกข์ในวัฏฏะได้โดยเด็ดขาด ด้วยสัมมาปฏิบัติ แก่ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนา ด้วยประการอย่างนี้
อธิบาย : ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางที่จะนําไป สู่ความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
** ธรรมบทแปล ภาค ๔ หน้า ๙๒-๙๕ ที่พระเชตวันวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าโอวาทภิกษุทั้งหลายว่า บรรดาทางทั้งหลายทางมีองค์ ๘ เท่านั้นประเสริฐสุด เพราะเป็นทางดําเนินไปสู่มรรคผล เป็นทาง ไปเพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลส ทางอื่นย่อมไม่มี ภิกษุทั้งหลาย จงดําเนินไปตามทางนั้น ด้วยว่าเมื่อดําเนินทางนั้นแล้ว เธอย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมาร จักทําที่สุดแห่งทุกข์ได้
ทางที่จะดําเนินไปสู่พระนิพพานได้นั้นคือ สัมมามรรค เป็นทางดําเนินของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แม้พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านก็เดินไปแล้วบนทางสายนี้สู่พระนิพพาน ทางนี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ที่จะนําไปสู่จุดหมายแห่งการพ้นจากทุกข์
- สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ความรู้ในทุกขสัจ ในสภาวะไตรลักษณ์ เป็นต้น
- สัมมาสังกัปปะ ความดําริชอบ ได้แก่ ดําริออกจากกาม ดําริไม่พยาบาท ดําริไม่เบียดเบียน
- สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔
- สัมมากัมมันตะ การกระทําชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓
- สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การประกอบสัมมาชีพ เว้นจากมิจฉาชีพ
- สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔
- สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
- สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็น ศีลขันธ์
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็น สมาธิขันธ์
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็น ปัญญาขันธ์
ในมิลินทปัญหาแสดงไว้ว่า ศีลขันธ์ และสมาธิขันธ์ ชื่อว่า สมถภาวนา ปัญญาขันธ์ ชื่อว่า วิปัสสนาภาวนา
การปฏิบัติที่ดําเนินไปในมรรคทั้ง ๘ องค์นี้ ท่านเรียกว่า สิกขา ๓ หรือไตรสิกขา อันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเดียวกัน ได้แก่
อธิศีลสิกขา ข้อปฏิบัติเพื่ออบรมความประพฤติ ให้ดียิ่งขึ้น
อธิจิตตสิกขา ข้อปฏิบัติเพื่ออบรมจิต ให้เกิดสมาธิยิ่งขึ้น
อธิปัญญาสิกขา ข้อปฏิบัติเพื่ออบรม ให้มีความรู้แจ้งยิ่งขึ้น
** อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต หน้า ๔๖๕ อธิบายสิกขา ๓
อธิศีลสิกขา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิศีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงบ จากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามความจริงว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ นี้เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับภิกษุชาววัชชีรูปหนึ่งว่า เธอจงศึกษาสิกขา ๓ นี้เถิด เพราะเมื่อใดเธอศึกษา อธิศีล อธิจิตต อธิปัญญา เธอจัก ละราคะ โทสะ โมหะได้ กรรมใดที่เป็นอกุศล เธอก็จักไม่ทํา กรรมนั้น กรรมใดเป็นบาปเธอก็จักไม่เสพกรรมนั้น
เปรียบเหมือนชาวชนบทผู้หนึ่งเข้าไปเกี่ยวหญ้าในป่า เพื่อนํามาซ่อมแซมหลังคาโรงไฟที่ฝนรั่วรด ชายนั้นเกี่ยวหญ้าเป็นฟ่อน ๆ กอง ไว้ แต่ไม่สามารถจะนําไปได้ ยืนมองดูกองหญ้านั้นอยู่
ภิกษุรูปหนึ่งเห็นดังนั้น จึงแนะนําให้ชายนั้นมัดหญ้ารวมเป็นฟอนเดียวกัน ถามว่าถ้าทําเช่นนี้เธอจักสามารถไหม ชายนั้นตอบว่า ได้ขอรับ ภิกษุวางหญ้าฟอนที่มัดรวมกันไว้ บนศีรษะของชายนั้น เขาเป็นเอาฟอนหญ้าทั้งหมดไปวางไว้ใกล้โรงไฟ ได้ด้วยคําแนะนําของภิกษุ
นี้เป็นข้ออุปมาในสิกขา ๓ เพราะเมื่อเจริญอธิศีลสิกขา ก็เท่ากับเจริญอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาพร้อมกัน ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสิกขา ๓ ไว้รวมกัน
** ขุททกนิกาย ธรรมปทัฏฐานแปล ภาค ๖ พุทธวรรคที่ ๑๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับปุโรหิตของพระเจ้าโกศล ว่ามนุษย์เป็นอันมาก เมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือเอาภูเขา
ป่าไม้ อาราม และเจดีย์ ว่าเป็นสรณะ
นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม ไม่ใช่สรณะอันสูงสุด
บุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดถือเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ
เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงจากทุกข์
และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นเครื่องระงับทุกข์
นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
บุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ความตอนหนึ่งใน ภัทเทกรัตตสูตร ที่ท่านกล่าวว่า - จงเร่งทําความเพียรเสียในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะการผลัดเพี้ยนต่อมัจจุราช ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
อริยสัจ หรือ จตุราริยสัจ หรือ อริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
- “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขอริยสัจ คือ ชาติ (ความเกิด) ก็เป็นทุกข์ชรา (ความแก่) ก็เป็นทุกข์ พยาธิ (ความเจ็บไข้) ก็เป็นทุกข์ มรณะ (ความตาย) ก็เป็นทุกข์การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์โดยย่อ (โดยใจความ) อุปาทานขันธ์๕ เป็นทุกข์”
- “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหา อันนําให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ ซึ่งครุ่นใคร่ใฝ่หาในอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา”
- “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ การที่ตัณหานั้นแลดับไปได้ด้วยการ สํารอกออกหมดไม่มีเหลือ การสละเสียได้สลัดออก พ้นไปได้ไม่หน่วงเหนี่ยวพัวพัน”
- “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ แหละ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิฯลฯ สัมมาสมาธิ”
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ ๑. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ๒. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ ๓. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
คำสอนพระอริยเจ้า
อริยสัจ ๔ ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
สัจธรรมทั้ง ๔ ไม่ได้มาจากไหน หากมีอยู่ในตัวของเราทุกๆคน ถ้าหากค้นคว้าเห็นสัจธรรมอันนี้ด้วยใจของตนเอง ก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน
เกิดมาทุกคนก็เป็นกัมมัฏฐานในตัวแล้ว มีกัมมัฏฐานอยู่แล้วทุกคน ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกได้แก่พิจารณา “กาย” ภายในได้แก่ “จิต” ทุกคนถ้าหากไม่มีกัมมัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะทำดิบทำดี ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้ ทุกคนมีความเสมอภาคกันทั้งหมดในกัมมัฏฐานเหล่านี้
ที่ท่านว่าศาสนาเสื่อมๆน่ะ คือคนไม่ปฏิบัติตามต่างหาก ศาสนาไม่ได้เสื่อมไปไหนอยู่คงที่ มรรค ผล นิพพาน ก็มีอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ยังมีอยู่ตราบใด มรรค ผล นิพพาน ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น เป็นเพียงแต่ว่ามรรค ผล นิพพานไม่ปรากฏ ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านฉลาดเฉลียว มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สัจธรรมทั้ง ๔ ไม่ได้มาจากไหน หากมีอยู่ในตัวของเราทุกๆคน ถ้าหากค้นคว้าเห็นสัจธรรมอันนี้ด้วยใจของตนเอง ก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมเป็นของมีอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา ศาสนาก็มีขึ้นมา เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ยังปรากฏอริยสัจทั้ง ๔ อยู่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ก็ทรงเผยแพร่พระศาสนา ทรงชี้เข้ามาในบุคคลที่เป็นตนเป็นตัวนี้ สัจธรรมทั้ง ๔ อยู่ตรงนั้นๆ พิจารณาอย่างนั้นๆมันจึงเห็น ผู้ปฏิบัติตามย่อมเห็นแจ้งชัดขึ้นมา พระองค์ปรินิพานไปแล้ว ก็ดับไปแต่พระองค์ ศาสนายังคงที่อยู่ ศาสนาเสื่อมก็เสื่อมที่นี่ หมายถึงคนไม่ปฏิบัติต่างหาก พระพุทธเจ้ามาอุบัติอีกในโลก ก็มาปฏิบัติอันนี้ ไม่ปฏิบัติอื่นไกลหรอก พิจารณาสัจธรรม ๔ นี่แหละรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในโลกอันนี้แหละ
ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่ทั่วไป ทุกข์มีอยู่ตลอดเวลา ทุกข์เป็นของควรกำหนด คือ ไม่ใช่ของควรละ ละไปไหนล่ะทุกข์ เอาไปทิ้งให้ใครก็ไม่ได้ เพราะมีสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกผู้ทุกคน แต่คนไม่ต้องการพิจารณาทุกข์หาแต่สุขอย่างเดียว มันก็เลยไม่เห็น ครั้นพิจารณาเรื่องทุกข์แล้ว ทุกข์มันเลยระงับไปจึงเห็นสุข ทุกข์เป็นเครื่องวัดสุข ธรรมทั้งหลายต้องมีเป็นคู่กัน ถ้าไม่มีทุกข์เป็นเครื่องวัด จะเอาสุขที่ไหนมาเป็นเครื่องวัด ไม่มีหรอกมีแต่ทุกข์อย่างเดียวก็ไม่มีสุข มีสุขอย่างเดียวมันก็ไม่มีทุกข์มันต้องเป็นเครื่องเทียบกัน มันจึงจะรู้จักว่าอะไรมากอะไรน้อย สุขมากกว่าทุกข์หรือทุกข์มากกว่าสุข
สัจธรรมทั้ง ๔ มีอยู่ มนุษย์ชาวโลกมาพิจารณาว่ามันเป็นอย่างนั้น เกิดมาก็ทุกข์ทั้งนั้น ขันธทุกข์ มีอยู่ในตัวของเราทั้งหมด เกิดขึ้นมาก็มีแล้วไม่มีใครเอามาให้ไม่มีใครเอาไปทิ้งได้ ทุกวันนี้มีอยู่ประจำตัว คนผจญทุกข์จึงจะเห็นทุกข์ คนไม่พิจารณามันก็เพลินหลงมัวเมาไป เอาทุกข์มาเป็นสุขเสีย มันก็แล้วไปเท่านั้น มันไม่เห็นตันตอ ไม่เห็นบ่อเกิดของทุกข์ ทุกข์มีอยู่ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ ที่ไหนๆก็มีอยู่หมด ทุกคนทุกแห่งทุกหน เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในโลกอันนี้ ไม่มีหรอกในโลกอื่น เย็นก็ดี ร้อนก็ดี อ่อนแข็งต่างๆมีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น มันกระทบคนเราอยู่อย่างนั้น พอมันมากระทบเข้าแล้วก็เห็นเป็นทุกข์
คนไม่พิจารณาทุกข์ อยากหนีจากทุกข์ ไม่มีการต่อสู้ก็เลยไม่เข้าใจทุกข์สักที พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านพิจารณาทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุของทุกข์คือตัณหา ๓ คือ ความทะเยอทะยาน ดิ้นรนกระเสือกกระสน อยากได้อยากดี อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ภายในก็มีตัณหาเกิดขึ้นมาในใจ มีแต่ความทะเยอทะยานดิ้นรน กระเสือกกระสนรักใคร่พอใจ อันความรักใคร่พอใจความเอมอิ่มนั้นมันเป็นตัวทุกข์
นั่นเรียกว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหาความทะเยอทะยาน ได้สิ่งใดมาไม่พออยากได้มากๆขึ้นไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นได้มากแล้วมันต้องสะสม ของมากๆมันต้องเก็บมันต้องรักษา ก็ลองดูคนที่มีของมากๆ อะไรก็มีหมดอะไรก็มีหมด มันต้องเต็มบ้านเต็มเมืองหาที่เก็บไม่ได้ มันจึงเกิดความเดือดร้อน ที่นี้เลยไม่อยากมีไม่อยากเก็บ ไม่ต้องอื่นไกลล่ะ คนที่มีลูกหลายๆคน คนที่มีเมียมากๆต้องการจะใช้ลูก ครั้นมีมาแล้วมันเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่อยากมีแล้วคราวนี้ แต่มันจำเป็น ครั้นไม่อยากมีจะเอาไปทิ้งที่ไหน มันก็เดือดร้อนน่ะซี เราไม่อยากมี ไม่อยากเป็น อันของที่ได้มามากๆน่ะมันเหลือแหล่มันเหลือเฟือ เกินต้องการแล้ว มันจึงเป็นทุกข์ มันจึงไม่อยากมี
ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหา ๓ ด้วยกันทั้งนั้น ตัณหา ๓ ไม่มีที่โลกอื่น มีที่ กามโลก นี่เท่านั้นแหละ คนเกิดมาจะไม่มีไปได้ อันนี้จึงเรียกว่าทุกข์ ทุกข์ เป็นของมีอยู่ สมุทัยก็เป็นของมีอยู่ นิโรธ ความดับทุกข์ เมื่อมีทุกข์แล้วก็ต้องมีความดับทุกข์ ธรรมเป็นคู่กันอย่างที่ว่ามานั่นแหละ ที่จะดับทุกข์ได้ก็ต้องมีมรรคปฏิปทามีความเห็นชอบ เป็นต้น ครั้นมีความเห็นชอบแล้วมันชอบทั้งหมดทุกมรรคนั่นแหละ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มันเห็นอะไรความเห็นชอบ บอกก็ไม่เข้าใจ มันต้องรู้ด้วยตนเองว่า อย่างไรมันเห็นถูกเห็นชอบ ปฏิบัติฝึกหัดมาเบื้องต้นตั้งแต่บริกรรมทำกัมมัฏฐาน มันมีทั้งผิดทั้งถูก มันมีทั้งดีทั้งชั่ว กว่าที่จะลงตัวได้ โอโอ้! มากมายเหลือเกิน ปฏิบัติมามากมาย
มรรค ท่านจึงบอกว่า มีในขณะเดียวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มัคคสมังคี นอกจากนั้นเป็นอันอนุโลมทั้งหมด ปฏิบัติลวงๆไม่ใช่ของจริง คำว่า “เห็นชอบ” ต้องเห็นด้วยตนเอง ความ “ดำริชอบ” ก็เหมือนกัน ดำริอะไรดำริชอบ? มันต้องเห็นด้วยตนเอง วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ มันชอบทั้งหมด มันต้องเห็นด้วยตนเองทั้งนั้น คนอื่นพูดไม่ถูก พูดอะไรก็เพียงแต่ว่าอนุโลมเข้ามา ครั้นเห็นชอบแล้วจึงค่อยเป็นสัมมาทิฏฐิจึงค่อยลงเป็น อริยมรรค เป็นเครื่องสนับสนุนให้ถึงนิโรธ ความดับทุกข์
ทำอย่างไรจึงจะเป็นมรรคปฏิปทา? การปฏิบัติมันมีถูกมีผิด ผู้ปฏิบัติผิดก็ปฏิบัติถึงฌานสมาธิได้เหมือนกัน พวกนี้ผิดเสียก่อน เช่น โกรธบ้านโกรธเมืองขึ้นมาก็เพ่งกสิณจนไฟไหม้หมดทั้งบ้านทั้งเมือง โกรธคู่ปรปักษ์กันก็สาปแช่งซึ่งกันและกัน ฤาษีสาปแช่งขึ้นมาหัวแตกเป็น ๗ เสี่ยง ก็เป็นจริงๆ ฤาษีก็มีสาปแช่งเหมือนกัน เพราะมีการปฏิบัติผิด ไม่ถูกสัมมาทิฏฐิ
จึงว่า ทุกข์ก็เป็นของมีอยู่ สมุทัยก็เป็นของมีอยู่ นิโรธก็เป็นของมีอยู่ มรรคก็เป็นของมีอยู่ มีแต่ไหนแต่ไรมา ใครจะปฏิบัติถูกทางก็ตาม ปฏิบัติไม่ถูกทางก็ตาม มันก็มีอยู่อย่างนั้น ธรรมเป็นของเกิดมีอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงรู้ขึ้นมาว่า โอ อย่างนี้หรอกมันจึงค่อยถูก อย่างนี้หรอกมันจึงค่อยเรียกว่ามรรค คือมัคคสมังคี ก็เป็น ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ มรรคสัจจ์
พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านทรงพิจารณาและพิจารณาเห็นชัดเห็นจริงแล้ว พระองค์ทรงละ ทรงทิ้ง ท่านเห็นจริงแล้ว ท่านถอนสละทิ้งได้นั่นเรียกว่า ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะท่านรู้ท่านเห็นตามเป็นจริง สละทิ้งได้ ท่านไม่ยึดไม่ถือ ขณะที่ท่านพิจารณาเห็นนั่นท่านทิ้งถอนเลย แต่เมื่อไม่พิจารณามันกลับมาอีก แต่คราวนี้ท่านไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกข์ก็มีอยู่
พระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวกทั้งหลาย ขณะที่ท่านพิจารณาเห็นนั่นท่านทิ้งถอนเลย แต่เมื่อไม่พิจารณามันกลับมาอีก แต่คราวนี้ท่านไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกข์ก็มีอยู่