ปริยัติธรรม
ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ และมรณุปปัตติจตุกกะ รจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
ชื่อว่ามรณุปปัตติ คือเหตุที่ให้ความตายปรากฏขึ้น มี ๔ อย่างคือ
- ๑. อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ
- ๒. กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม
- ๓. อุภยักขกมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม
- ๔. อุปปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะกรรมเข้าไปตัดรอน
๑. ความตายเพราะสิ้นอายุขัย ชื่อว่าอายุกขยมรณะ
คำว่า “อายุ” เมื่อว่าโดยมุขยนัย คือนัยโดยตรงแล้ว ได้แก่ชีวิตรูป แต่ในที่นี้ “อายุ” มุ่งหมายเอาอายุขัยซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่ของชีวิตรูปนี้เป็นการแสดงโดยฐานยูปจารนัย คือนัยโดยอ้อม เช่น พวกพรหมก็ดี เทวดาก็ดี ต่างก็มีกำหนดขอบเขตอายุขัยของตนๆ ไปตามภูมิที่ตนเกิดอยู่ สำหรับมนุษย์ในชมพูทวีปนั้นกำหนดอายุขัยย่อมมีขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน เมื่อเวลาขัยขึ้นก็ขึ้นสูงไปจนถึงอสงไขยปี เมื่อเวลาขัยลงก็ลงต่ำไปจนถึง ๑๐ ปี เป็นอายุขัย ดังมีแสดงไว้โดยพิสดารในปฏิสนธิจตุกกะ สำหรับในปัจจุบันนี้ ๗๕ ปี เป็นอายุขัย ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้แม้ว่าอำนาจกรรมยังมีอยู่แต่เมื่อครบอายุขัยแล้วก็ตายไปเป็นส่วนมาก ผู้ที่มีอายุยืนเกินกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้นั้นก็มีบ้าง แต่หาได้ยาก ท่านเหล่านั้นต้องมีอดีตกรรมที่เกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ช่วยอุปถัมภ์ชีวิตและร่างกายให้ดำรงอยู่ได้นานเป็นพิเศษหรือมิฉะนั้นอำนาจแห่งชนกกรรมก็ยังมีกำลังอยู่ และมีปัจจุบันกรรมฝ่ายดี คือการรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์หรือมีการรักษาสุขภาพอนามัยไว้ได้อย่างดี เหตุต่างๆ เหล่านี้แหละที่ช่วยให้ผู้นั้นมีอายุอยู่ได้นานจนเกิดอายุขัย ดังในปัจจุบันนี้ผู้ที่มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี กว่าก็ยังมีปรากฏอยู่ และในสมัยพุทธกาล นั้นกำหนดอายุขัยตั้งไว้ ๑๐๐ ปี แต่ผู้ที่มีอายุยืนกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีอยู่หลายท่าน เช่นพระอานนท์ พระมหากัสสป นางวิสาขา เหล่านี้มีอายุยืนได้ ๑๒๐ ปี พระพากุลเถระมีอายุได้ ๑๖๐ ปี แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมไม่ถึง ๒ เท่าของอายุขัยที่กำหนดไว้ในสมัยนั้นๆ
๒. การตายเพราะสิ้นสุดแห่งกรรม ชื่อว่ากัมมักขยมรณะ
คำว่า กรรม ในที่นี้หมายถึงชนกกรรม ที่มีหน้าที่ส่งผลให้เกิดปฏิสนธิในภพนั้นๆ และอุปถัมภกกรรม ที่มีหน้าที่ช่วยอุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมให้ตั้งอยู่ได้ในภพนั้นๆ การสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองดังกล่าวนี้แหละ ชื่อว่ากัมมักขยะ ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาโดยมีอำนาจของกรรมทั้งสองนี้ ตั้งอยู่ได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีหรือ ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง แต่คงตั้งอยู่ได้ ไม่ถึงกำหนดอายุขัยของผู้นั้น เป็นเหตุให้ผู้นั้นตายลงในขณะที่มีอายุได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง เหล่านี้ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นการตายโดยความสิ้นสุดแห่งกรรม เรียกว่ากัมมักขยมรณะ ซึ่งเหมือนกับดวงไฟที่หมดน้ำมันแม้ว่าไส้ยังมีอยู่ก็ตาม แต่แสงไฟนั้นต้องดับลง อนึ่งการแสดงถึงความตายของพวกเทวดาและพรหมที่ใช้ว่าปุญญักขยมรณะนั้น ก็มุ่งหมายถึงกัมมักขยมรณะนั้นเอง
๓. การตายเพราะสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้ง ๒ ชื่อว่าอุภยักขยมรณะ
ความตายชนิดนี้ก็หมายถึง ผู้ตายนั้นมีอายุยืนได้จนกระทั่งครบอายุขัยและอำนาจของกุสลชนกกรรม หรืออกุศลชนกกรรม ก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุซึ่งเปรียบเหมือนกับดวงไฟที่ดับลงอันเนื่องมาจากไส้และน้ำมันหมดลงพร้อมกัน ตัวอย่างเช่นผู้ที่เกิดมาในสมัยที่กำหนดอายุ ๓๕ ปี เป็นอายุขัย และอำนาจแห่งกุศลชนกกรรมของผู้นั้นก็มีอำนาจอยู่ได้ ๗๕ ปี เช่นเดียวกัน เอผู้นั้นมีอายุอยู่จนถึง ๗๕ ปี แล้วตายลง ก็กล่าวได้ว่าความตายของผู้นั้นเป็นอุภยักขยมรณะ แม้พวกสัตว์ในอบายภูมิที่เกิดมาจากอำนาจอกุศลชนกกรรมก็เช่นเดียวกัน เช่น อายุขัยของสุนัขมีกำหนดได้ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี และสุนัขที่เกิดมานั้นมีอำนาจอกุศลชนกกรรมอยู่ได้ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี ดังนั้นถ้าสุนัขตัวนี้ตายลงเมื่อมีอายุ ๑๐ ถึง ๑๒ ปีแล้ว ก็กล่าวได้ว่าการตายของสุนัขตัวนี้เป็นอุภยักขยมรณะ
๔. กรรมอันใดย่อมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ที่เกิดจากชนกกรรม ฉะนั้นกรรมนั้นชื่อว่าอุปัจเฉทกะ ได้แก่อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ อรหัตตมรรคกรรม ๑ “อุปจฺเฉทกกมฺมุนา มรรํ อุปจฺเฉทกมรณํ” การตายเพราะกรรมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ชื่อว่าอุปัจเฉทกมรณะ
ผู้ที่มีอายุยังไม่เข้าถึงขีดอายุขัย และอำนาจของชนกกรมก็ยังไม่หมด แต่ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อน หรือภพนี้เข้ามาตัดรอนให้ผู้นั้นตายลงเสียก่อน ซึ่งเปรียบเหมือนดวงไฟที่ไส้ก็ยังอยู่ น้ำมันก็ยังไม่หมด แต่ไฟนั้นดับลงด้วยเหตุอย่างอื่น มีถูกลมพัด ถูกน้ำ หรือถูกสิ่งหนึ่งสิ่งใดล้มทับเป็นต้น ชื่อว่า อุปัจเฉทกมรณะ
ความตายทั้ง ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ ผู้ที่ตายโดยอายุกขยมรณะ กัมมักขยมรณะ อุภยักขยมรณะ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายชนิดที่ถึงเวลาแล้ว ส่วนผู้ที่ตายโดยอุปัจเฉทกมรณะ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลา ความตายชนิดที่เป็นอกาลมรณะนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ
- ๑. ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะหิวข้าว กระหายน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟไหม้ จมน้ำ ถูกอาวุธก็มี
- ๒. ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะโรคลม ดีพิการ โรคเกี่ยวกับเสมหะ โรคสันนิบาต ที่เกี่ยวกับลม ดี เสมหะ ๒ อย่าง หรือ ๓ อย่างพิการพร้อมกัน โรคเกี่ยวกับอากาศ หรืออุปัจเฉทกกรรม โดยการปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ผิดอนามัยโดยความพยายาม ของตนเองและของคนอื่น
แม้จะอาศัยเหตุต่างๆ ที่ทำให้ตายลงในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาดังที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ความตายเหล่านี้ย่อมจะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้เลย หมายความว่าจะต้องมีอดีตกรรมเป็นผู้อุดหนุน และมีเหตุในปัจจุบันเป็นผู้จัดการ ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในสังยุตตพระบาลีว่า
ดูกรมหาราช ในโลกนี้ผู้ใดเคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการอดข้าว ผู้นั้นแม้ยังอยู่ในวัยเด็กก็ตาม วัยหนุ่มสาวก็ตาม วัยแก่ก็ตาม ย่อมได้รับการเบียดเบียนด้วยการอดข้าว และตายลงด้วยการหิวข้าวนั้นเอง เป็นดังนี้ตลอดแสนชาติ และผู้ที่เคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการวางยาพิษ เอาไฟเผา ถ่วงน้ำ ห่าโดยใช้อาวุธ เหล่านี้เป็นต้น ผู้นั้นก็ย่อมตายด้วยการอดน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟคลอก จมน้ำ ถูกอาวุธ เช่นเดียวกัน และย่อมแสดงให้เห็นว่าอกาลมรณะเหล่านั้น จะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่ทรงคุณวุฒิจึงลงความเห็นพร้อมกันว่า ความตายที่เป็นอกาลมรณะเหล่านี้ ตายเพราะอุปัจเฉทกกรรม
ความพยายามของตนเองหรือของคนอื่นชื่อว่า “อุปกฺกม” นั้น สำหรับความพยายามของตนเอง เช่น ทำการผูกคอ ยิง กระโดดน้ำ อดข้าว กินยาพิษ สำหรับความพยายามของคนอื่นนั้น เช่น ถูกศัตรูฆ่าตาย ถูกสัตว์ทำอันตรายจนถึงแก่ความตาย บางทีก็ถูกเทวดาลงโทษจนถึงตายบ้าง จับกินบ้าง กล่าวคือร่างกายของคนทั้งหลายและสถานที่อาศัยต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนถึงหมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ เหล่านี้ ล้วนแต่มีเทวดาดูแลปกปักรักษาคอยอำนวยความสุขอยู่ทุกเมื่อ ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่ได้ทำการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตตาให้แก่เทวดา ทั้งตนเองก็ยังประพฤติไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจอีก จนกระทั่งทำให้เทวดาทั้งหลายเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจขึ้น เทวดาเหล่านั้นก็เลิกการดูแลปกปักรักษาปล่อยให้ภูตผีปีศาจที่ดุร้ายได้โอกาสเข้ามาทำการเบียดเบียนประทุษร้ายร่างกาย ชีวิตทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นให้ถึงซึ่งความพินาศโดยนานาประการ หรือมิฉะนั้นเทวดาที่รักษาบุคคลและสถานที่เป็นต้นนั้นแหละทำการลงโทษเสียเอง ถ้าคนทั้งหลายมีการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตตาให้พวกเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นทั้งตนเองก็มีความประพฤติดี มีศีลธรรมประจำอยู่เป็นนิจทำให้เทวดาเกิดความรักใคร่พอใจในตน เทวดาทั้งหลายต่างพากันเฝ้าคอยดูแลรักษาชนทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้รับความสุขสบาย มิให้มีภัยอันตรายใดๆ เข้ามาเบียดเบียนได้
ใน ๒ ประเภทนี้ ภัยต่างๆ เกิดขึ้นเบียดเบียน โดยเนื่องมาจากเทวดามิได้ทำการดูแลรักษานั้น ความเป็นไปดังนี้ บุคคล หมู่บ้าน จังหวัด เป็นต้นใดๆ เทวดาปล่อยปละละเลยจากการดูแลรักษาแล้ว เทวดาที่โหดร้ายต่างๆ ทั้งหลายก็ได้โอกาสเข้าไปเที่ยวจับกินได้ตามความพอใจของตน โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น และเทวดาที่มีใจผูกพยาบาทอยู่แต่เมื่อครั้งภพก่อนๆ ก็ได้โอกาสเข้าไปประทุษร้ายเบียดเบียนได้อีก ส่วนเทวดายักษ์ที่เป็นรากษสอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร เมื่อเห็นเรือแพใหญ่น้อยสัญจรไปมาล่มลง ต่างก็พากันจำแลงตัวเป็นปลาใหญ่บ้าง จระเข้ พระยานาคบ้าง มาจับบุคคลเหล่านั้นกิน ทุกรากษสที่อาศัยอยู่ที่สระโบกขรณีในป่าลึกและฉายารากษสที่อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ อนุญาตให้จับสัตว์ที่ลงไปในสระโบกขรณี หรือล่วงล้ำเข้าไปภายใต้บริเวณร่มเงาของต้นไม้ใหญ่กินได้นั้น ยักษ์เหล่านั้นก็ได้โอกาสทำการล่อลวงผู้ที่ไม่มีเทวดาคุ้มครองดูแลรักษาให้ผ่านเข้าไปภายในบริเวณของตนแล้วก็จับกินได้โดยง่ายเทวดาที่โหดร้ายอีก ๒ จำพวก คือกุมภัณฑเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ชานบันไดเวียนชั้นที่ ๓ ของภูเขาสิเนรุก็ดี นาคเทวดาที่อาศัยอยู่ใต้พื้นแผ่นดินและใต้พื้นน้ำมหาสมุทรก็ดี นอกจากนี้แล้วยังมีภูตผีปีศาจอีกเป็นอันมากซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่คอยหาโอกาส หาทางที่จะเข้าทำการแสวงหาจับบุคคลที่ไม่มีเทวดาดูแลรักษานั้นมากิน คันทัพพเทวดาที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ก็ได้โอกาสทำการหลอกหลอนเบียดเบียนต่างๆ นานา ให้เกิดการหวาดเสียวสะดุ้งกลัวจนกลายเป็นคนเสียสติไป ผู้ใดผู้หนึ่งตายลงด้วยการถูกเทวดา ยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค ที่เป็นเทวดาโหดร้ายและภูตผีปีศาจต่างๆ เบียดเบียนประทุษร้ายจับกิน ดังกล่าวนี้เป็นการตายที่เนื่องมาจากความพยายามของผู้อื่น
สำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในความสุจริตคิดอยู่แต่ในเรื่องบุญกุศล แผ่ส่วนบุญ แผ่เมตตาให้แก่เทวดาทั้งหลายอยู่เป็นนิจนั้น เทวดาเหล่านั้นก็จะมีใจรักใคร่คอยดูแลรักษามิให้เทวดาโหดร้ายภูตผีปีศาจต่างๆ เข้ามารบกวนกระทำอันตรายได้ เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น หรือมีมนุษย์อันธพาลมาทำร้ายก็ช่วยเหลือป้องกันเอาไว้ให้พ้นจากอันตรายได้อย่างน่าประหลาด ถ้าผู้ปกครองประเทศ หรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนทำร้ายต่อบุคคลที่มีเทวดารักใคร่คุ้มครองดูแลรักษาแล้ว เป็นที่แน่ทีเดียวว่าย่อมต้องถูเทวดาที่รักใคร่ในตัวบุคคลเหล่านั้นลงโทษได้รับความพินาศเฉพาะตัว หรือมิฉะนั้นก็ทั้งบ้าน ทั้งคณะ ทั้งเมือง ทั้งประเทศ ผู้ที่ไม่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาถูกเทวดาโหดร้าย และภูตผีปีศาจกระทำอันตรายก็ดีผู้ที่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาช่วยให้พ้นจากภัยธรรมชาติและพ้นจากมนุษย์อันธพาลทำร้าย และเมื่อถูกผู้ปกครองประเทศหรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนลงโทษแล้ว ก็มีเทวดามาลงโทษแก่ผู้นั้น คณะนั้น ให้ได้รับความพินาศก็ดี ทั้งหมดนี้ความปรากฏแจ้งมี อยู่ในพุทธวจนะและอรรถกถา มีชาดกเป็นต้น
ฉะนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงการตายของชนปัจจุบันก็จะพึงเห็นได้ว่าเป็นการตายด้วยความพยายามของตนเองและความพยายามของผู้อื่นมีเทวดา เป็นต้นนี้มีอยู่อย่างมากหลาย แต่กระนั้นผู้ตายและผู้ที่อยู่ภายหลังก็หาได้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความตายทั้ง ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริงแต่ประการไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะทำการฆ่าตัวตาย หรือเห็นคนอื่นฆ่าตัวตายก็มักจะคิดเห็นหรือเข้าใจไปว่า สามีไม่ดี ภรรยาไม่ดี ค้าขายขาดทุน โรคภัยเบียดเบียนทรมาน เหตุการณ์บ้านเมืองบีบคั้น แต่ที่แท้จริงนั้นผู้ที่ฆ่าตัวตายเหล่านี้ล้วนแต่เนื่องมาจากปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตนในภพนี้อันเนื่องมาจากกิเลสที่เกิดขึ้นครอบงำฝ่ายเดียวไม่มีอินทรีย์ และพละที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้น ถ้าหากจิตใจนั้นได้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นตัวอินทรีย์และพละที่เข้าถึงความแก่กล้าเป็นอย่างดี เข้ามาทำการแทนที่กิเลสได้แล้ว การฆ่าตัวเองก็จะมีขึ้นไม่ได้ แต่จะกลับเปลี่ยนไปเป็นนักปริยัติหรือปฏิบัติ นักบวช เป็นต้น อันเป็นความสวัสดีและประเสริฐ ที่ได้บังเกิดขึ้นแก่ตน ทั้งจะเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่นอีกด้วย บุคคลโดยมากเมื่อมีภัยต่างๆ เกิดขึ้นแก่ตนหรือเห็นคนอื่นได้รับภัยต่างๆ ก็ไม่มีการคิดนึกถึงปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตน และการกระทำของผู้ตายที่เป็นไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจแต่อย่างใดไม่ คงกลับคิดเห็นเป็นไปในทางด้านภายนอกว่าถูกโจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย ราชภัย วาตภัย คือภัยที่เกิดจากสัตว์ร้าย มีงู เสือ เป็นต้น การที่เป็นไปดังนี้ก็เพราะมิได้รับการศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยนับปริยัติหรือปฏิบัตินั้นเอง
นิมิตที่ปรากฏขึ้นเมื่อใกล้จะตาย
สำหรับผู้ที่จะต้องตายด้วยเหตุ ๔ ประการนั้นแหละ ประการใดประการหนึ่ง เมื่อเวลาใกล้จะตาย กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมซึ่งให้เกิดปฏิสนธิในภพหน้าที่เป็นไปเหมือนกับการแสดงตัวให้เด่นชัดตรงหน้ามาปรากฏเหมือนอยู่ในที่เฉพาะหน้าก็ดีกรรมนิมิต คืออารมณ์ของกรรม มีรูปารมณ์ เป็นต้น ที่เคยได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น มาโดยที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของตนในขณะที่กระทำกรรมนั้นก็ดี คตินิมิตซึ่งเป็นอารมณ์ที่พึงจะได้รับ และจะได้เสวยสุขหรือทุกข์ในชาติที่จะเกิดข้างหน้าก็ดี ย่อมปรากฏในทวารใดทวารหนึ่งในบรรดาทวารทั้ง ๖ ด้วยอำนาจกรรมตามสมควรแก่อารมณ์ หรือด้วยอำนาจกรรมตามสมควรแก่สัตว์ที่จะไปสู่คติภูมิและทุคติภูมิ
- ๑. กรรมอารมณ์
- ๒. กรรมนิมิตอารมณ์
- ๓. คตินิมิตอารมณ์
ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์นั้น จะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉานก็ตาม มนุษย์ เทวดา พรหมก็ตาม เมื่อตายด้วยเหตุ ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอายุกขยะ เป็นต้น นิมิตทั้ง ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมมาปรากฏเฉพาะหน้าในทวารใดทวารหนึ่งในบรรดาทวารทั้ง ๖ อยู่เสมอ
ในมรณาสันนกาลนั้น นิมิตทั้ง ๓ ประการนี้ หาได้ปรากฏพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกันไม่ หากแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจักปรากฏในบรรดา ๓ อย่างนี้ กล่าวคือถ้ากรรมมีโอกาส กรรมอารมณ์ก็จักปรากฏ ถ้ากรรมนิมิตมีโอกาส กรรมนิมิตอารมณ์ก็จักปรากฏ ถ้าคตินิมิตมีโอกาส คตินิมิตอารมณ์ก็จักปรากฏ นิมิตทั้ง ๓ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏตามสมควรแก่ผู้ที่จะไปสู่สุคติภูมิและทุคติภูมิ
กรรมมีโอกาส การจัดแจงกระตุ้นชักชวนในสิ่งที่ดีและไม่ดีอันเป็นตัวกุศล อกุศลเจตนานี้ เป็นสภาพธรรมล้วนๆ มิใช่เป็นสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง แต่ประการใดไม่ เหตุนี้จึงปรากฏทางอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไม่ได้ คงปรากฏแต่ในทางจิตใจฝ่ายเดียว ดังนั้นผู้ที่มีความดี ความชั่วอยู่แต่ภายในใจเป็นส่วนมาก มิใคร่จะปรากฏออกมาทางกาย วาจา จวบจนกระทั่งถึงเวลาใกล้จะตายอยู่แล้วการทำดี ทำชั่วด้วยกาย วาจา ก็ยังไม่ปรากฏ เช่นนี้แล้วกรรมอารมณ์ย่อมมีโอกาส อีกอย่างหนึ่งบุคคลบางคนก่อนจะลงมือทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ศึกษาเล่าเรียนก็ดี หรือทุจริต ทุราชีพก็ดี ก่อนที่จะทำนั้นย่อมคิดก่อนอยู่เสมอๆ เป็นเวลานาน แล้วจึงจะกระทำลงไป บุคคลจำพวกนี้หากว่าไม่มีโอกาสจะกระทำสิ่งใดๆ ลงไปด้วยกาย วาจา จนกระทั่งถึงเวลาใกล้จะตายแล้ว กรรมอารมณ์ก็ย่อมมีโอกาสได้เช่นกัน
กรรมนิมิตมีโอกาส อารมณ์ทั้ง ๖ ที่ได้ประสบไปแล้ว เนื่องด้วยการกระทำทาง กาย วาจา ใจ ของตนนั้นเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ และกรรมนิมิตอารมณ์นี้ปรากฏได้ทั้ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นผู้ที่กระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในทาน ศีล ภาวนา หรือฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดกาเม พูดปด ดื่มสุราอยู่เสมอเป็นพื้น หาได้คิดล่วงหน้าไว้แต่นานๆ ประการใดไม่ คงคิดขึ้นในเวลานั้นแล้วก็พูดไป ทำไป สุดแท้แต่เรื่องที่จะมาประสบ เหตุนั้น บุคคลจำพวกนี้ถึงแม้ว่าในเวลาที่ใกล้จะตายจะมิได้กระทำเรื่องอันใดที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย วาจา ลงไปก็ตาม แต่กรรมนิมิตก็ย่อมมีโอกาสปรากฏได้
คตินิมิตมีโอกาส อารมณ์ทั้ง ๖ ที่ได้ประสบพบเห็นและเสวยในภพหน้าเป็นคติ นิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์นี้ปรากฏได้ในทวารทั้ง ๖ ดังนั้นผู้ที่มีกุศลเจตนาหรือ อกุศลเจตนาอย่างแรงกล้าในขณะที่ทำดี หรือทำชั่วซึ่งเป็นตัวมุญจเจตนา ทั้งธรรมที่เป็นบริวารของกุศลหรืออกุศลเจตนาเหล่านี้ก็มีกำลังอย่างแรงกล้าเช่นกัน คือในขณะที่ทำความดี มีทาน ศีล ภาวนาอยู่นั้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ได้ปรากฏขึ้นโดยแจ้งชัด หรือในขณะที่ทำทุจริต ทุราชีพ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดกาเมเป็นต้นอยู่นั้น ตัณหา มานะ ทิฏฐิ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น ก็ปรากฏขึ้นแจ้งชัด เช่นกัน เหตุนี้บุคคลจำพวกนี้ในเวลาใกล้จะตาย คตินิมิตย่อมมีโอกาสปรากฏได้หรือในขณะเวลาที่ทำดี ทำชั่วนั้น มีปุพพเจตนาและอปรเจตนาทั้งสองเกิดขึ้นโดยไม่สร่างชา กล่าวคือถ้าจะทำกุศลก็คิดนึกไปในการงานของกุศลนั้นๆ สำเร็จเห็นเป็นภาพมีกิริยาอาการ ที่เกี่ยวกับการทำ การพูดของตน และคนอื่นตลอดจนถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ว่าจะต้องเป็นไปอย่างนี้ๆ ครั้นทำสำเร็จแล้วก็ยังนึกถึงการงานต่างๆ เหล่านี้อีก แล้วก็ชื่นชมยินดีเห็นเป็นภาพปรากฏอยู่ที่ใจอย่ามิได้เลือนหาย ถ้าจะทำอกุศลก็เช่นกัน คือก่อนที่จะไปทำการปล้นสะดม ล่อลวง ฉ้อโกง ในการงานต่างๆ นั้น บุคคลจำพวกนี้ก็คิดนึกวางแผนการที่เกี่ยวกับงานนั้นๆ สำเร็จ เห็นเป็นภาพว่าจะต้องทำอย่างนี้ๆ ครั้นทำเสร็จแล้วก็ยังคิดนึกถึงการงานเหล่านั้น โดยท่าทางการกล่าววาจาของตนและคนอื่นๆ ตลอดจนถึงวัตถุสิ่งของที่ประกอบในการทำงานนั้นๆ ด้วยความพึงพอใจเห็นเป็นภาพปรากฏอยู่มิเลือนหาย ดังนั้นความเป็นไปแห่งปุพพเจตนาและอปรเจตนาทั้งสองดังที่กล่าวแล้วนี้ ในเวลาใกล้จะตายคตินิมิตย่อมมีโอกาสปรากฏได้เช่นกัน อีกประการหนึ่งในด้านการกุศลนั้นก่อนที่จะทำหรือภายหลังที่ทำแล้ว บางคนชอบคิดนึกไปในเรื่องมนุษยสมบัติเทวสมบัติต่างๆ นานาประการ บุคคลจำพวกนี้เมื่อใกล้จะตาย คตินิมิตย่อมมีโอกาสปรากฏได้เหมือนกัน
กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมซึ่งให้เกิดปฏิสนธิในภพหน้าที่เป็นไปเหมือนกันการแสดงตัวให้เด่นชัดจำเพาะหน้ามาปรากฏเหมือนอยู่ในที่เฉพาะหน้า ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายล้วนแต่เคยได้ทำบุญบาปมาแล้วด้วยกาย วาจา ใจ อย่างมากมายหลายประการสุดที่จะนับจะพรรณนาได้ด้วยกันทุกคน ฉะนั้น ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จึงมีกุศล อกุศลกรรมที่เรียกว่า ภวนฺตเร ปฏิสนฺธิชนกํ กมฺมํ นอนเนื่องประจำอยู่ไม่ขาดสาย ในบรรดากุศล อกุศลกรรม เหล่านี้ กุศล อกุศลกรรมที่มีหน้าที่จัดการให้เกิดในภพที่ ๒ ได้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ อุปัชชเวทนียกรรมในภพนี้อย่างหนึ่ง และอปราปริยเวทนียกรรมในภพก่อนๆ อีกอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้ อุปัชชเวทนียกรรมก็ดี อปราปริยเวทนียกรรมก็ดี ว่าโดยวิถี ว่าโดยอารมณ์ ว่าโดยทวาร ว่าโดยการงาน ว่าโดยเวลา ว่าโดยอิริยาบถแล้ว ย่อมมีอยู่ในขันธสันดานของแต่ละคนๆ อย่างหลากหลายเหลือที่จะนับจะประมาณได้ กล่าวคือว่าโดยวิถี หมายความว่าในมโนทวารวิถีอันหนึ่งๆ มีกุศล อกุศลอุปปัชชเวทนียกรรม ๑ มีกุศล อกุศลอปราปริยเวทนียกรรม ๕ ว่าโดยอารมณ์ กุศล อกุศลกรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เกิดขึ้น โดยอาศัยรูปารมณ์ก็มี อาศัยสัททารมณ์เป็นต้น จนถึงธัมมารมณ์ก็มี ว่าโดยทวาร คือให้สำเร็จการกระทำ กุศล อกุศลกรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เกิดขึ้นทางกายก็มี ทางใจก็มี ว่าโดยการงาน กุศล อกุศลทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นทาน ศีล ภาวนาก็มี เป็นปาณาติบาตร อทินนาทาน เป็นต้นก็มี ว่าโดยเวลา กุศล อกุศลกรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เกิดขึ้นในเวลาเช้าก็มี เวลากลางวันก็มี เวลากลางคืนก็มี ว่าโดยอิริยาบถ กุศล อกุศลกรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เกิดขึ้นใน เวลานั่ง นอน ยืน เดินก็มี ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามีอยู่ในขันธสันดานของแต่ละคนๆ อย่างหลากหลาย ในบรรดากุศล อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นโดยนานาประการ ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ กุศล อกุศลกรรม อันใดได้โอกาสนำปฏิสนธิให้เกิดในภพที่ ๒ กุศล อกุศลธรรมอันนั้นก็แสดงตัวให้เด่นชัดทางใจแก่ผู้ที่ใกล้จะตาย กุศล อกุศลกรรมอันนั้นแหละ เรียกว่า อภิมุขีภูตํ
ตํ กมฺมกรณกาเล ฯลฯ กมฺมนิมิตฺตํ บาลีนี้ได้แสดงให้ทราบถึงตัวกรรมนิมิต กรรมนิมิต หมายความว่าอารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำ มีวจนัตถะว่า “กมฺมสฺสนิมิตฺตํ กมฺมนิมิตฺตํ” อารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำชื่อว่ากรรมนิมิต กรรมนิมิตนี้มีอยู่ ๖ อย่างด้วยกัน คือสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อนตึง สภาพรูป สภาพนาม และบัญญัติ ดังที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงว่า รูปาทิกํ มีรูปารมณ์ เป็นต้น อารมณ์ ๖ ดังที่กล่าวนี้หาใช่จะเอาทั่วไปไม่ คงเอาแต่เฉพาะอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของตนแต่ละบุคคลๆ เท่านั้น เหตุนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงได้แสดงว่า ตํกมฺมกรณกาเล ในเวลาที่ตนกระทำด้วยกาย วาจา ใจ และยังได้แสดงเป็นบาลีต่อไปอีกว่า อุปลทฺธปุพฺพ และ อุปกรณภูตํ หมายความว่าอารมณ์ ๖ ที่เป็นกรรมนิมิตนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด คือ ๑. อุปลัทธกรรมนิมิต ๒. อุปกรณกรรมนิมิต อุปลัทธกรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนได้ประสบพบเห็นเป็นประธานในขณะที่กระทำ อุปกรณกรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนได้ประสบพบเห็น แต่มิใช่เป็นประธานเพียงแต่เป็นเครื่องอุดหนุนประกอบในขณะที่กระทำ ดังนั้นเมื่อจำแนกอารมณ์ ๖ ที่ตนได้ประสบพบเห็นมาแล้วในขณะที่กระทำโดยความเป็นประธาน ที่ชื่อว่าอุปลัทธกรรมนิมิต และโดยความที่มิใช่เป็นประธานชื่อว่า อุปกรณกรรมนิมิตแล้ว ก็จะได้ดังนี้คือ
ก. ฝ่ายกุศล ทาน เลี้ยงพระ ใส่บาตร ทอดกฐิน สร้างสถานที่ศึกษาวัดวาอารามนั้น อาหารคาวหวาน ภิกษุสามเณร เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต พระพุทธรูป ดอกไม้ ธูป เทียน ถ้วยชาม เสื่อสาดอาสนะ โต๊ะเก้าอี้ พร้อมด้วยผู้ที่ช่วยเหลือ ขัน ถาด เป็นอุปกรณกรรมนิมิต เครื่องไทยธรรม ภิกษุ สามเณรที่เป็นปฏิคาหก เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต การประกับตกแต่ง ดนตรี แขกเหรื่อ คนงานเป็นอุปกรณกรรมนิมิต สถานที่ศึกษา โบสถ์วิหาร เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต เครื่องสร้างทั้งหมด ช่างไม้ ช่างปูน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในกิจการนี้ทั้งหมดเป็นอุปกรณกรรมนิมิต ศีล พระภิกษุสามเณรผู้ให้ ศีล การกล่าวคำให้ศีล การเปล่งวาจารับศีลของตนเป็นอุปลัทธกรรมนิมิต ไทยธรรม เครื่องสักการะ ตลอดจนบุคคลและสถานที่เป็นอุปกรณกรรมนิมิต ถ้าบวชนาค อัฏฐบริขาร ภิกษุสงฆ์ โบสถ์ การสวด การกล่าวกัมมวาจา เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต เครื่องใช้ที่นอกจากอัฏฐบริขาร และไทยธรรม ตลอดจนบุคคลที่มาในงานการแห่ การประทักษิณ แตรวงเหล่านี้ เป็นอุปกรณกรรมนิมิต ภาวนา ถ้าเจริญสมถะ องค์กรรมฐานต่างๆ มีกสิณ เป็นต้น จนถึงอิริยาบถนั่งและการบริกรรม อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อัปปนาฌาน ครูอาจารย์ เหล่านี้เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต บุคคล สถานที่และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเจริญสมถะเป็นอุปกรณกรรมนิมิต ถ้าเจริญวิปัสสนา รูป นาม อิริยาบถใหญ่น้อย สติที่เคยกำหนดรู้ ครูอาจารย์เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สถานที่เครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกันใน การเจริญวิปัสสนา เป็นอุปกรณกรรมนิมิต การศึกษาเล่าเรียนธรรมะ หนังสือ ครูอาจารย์ การท่องบ่น ตลอดจนถึงคำอธิบาย เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สถานที่ศึกษา นักเรียน เครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นอุปกรณกรรมนิมิต
ข. ฝ่ายอกุศล ปาณาติบาต สัตว์ที่ถูกฆ่า ถูกตี กิริยาอาการของตน เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สถานที่ เครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฆ่า หนัง กระดูก เนื้อ เป็นต้น เป็นอุปกรณกรรมนิมิต อทินนาทาน วัตถุสิ่งของต่างๆ กิริยาอาการของตน เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นอุปกรณกรรมนิมิต กาเมสุมิจฉาจาร บุคคลที่ตนร่วมและตนเอง เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สถานที่ การกล่าววาจา เป็นต้น เป็นอุปกรณกรรมนิมิต มุสาวาท คำพูดที่ไม่จริง และวัตถุก็มิใช่เป็นจริง เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต ผู้รับฟัง เป็นอุปกรณกรรมนิมิต สุราเมรัย ตัวน้ำเมาพร้อมกับการเมา เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต ขวดเหล้า กับแกล้ม พวกพ้อง สถานที่ ตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ เป็นอุปกรณกรรมนิมิต
สรุปเรื่องอุปณกรรมนิมิต และอุปกรณกรรมนิมิต ในนิมิต ๒ อย่างนี้ บรรดาสิ่งที่มีชีวิตที่เกี่ยวกับการทำดี ทำชั่วโดยตรง เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต สิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องประกอบหนุนการทำดี ทำชั่วเหล่านี้ เป็นอุปลัทธกรรมนิมิต
อนนฺตรมุปฺปชฺชมานภเว ฯลฯ คตินิมิตฺตํ บาลีแสดงให้ทราบถึงตัวคตินิมิต คตินิมิต หมายความว่าอารมณ์ ของภพชาติที่พึงถึง กล่าวคืออารมณ์ที่จะได้พบ ได้เสวย ในภพที่สองมีวจนัตถะว่า “คติยา นิมิตฺตํ คตินิมิตฺตํ” อารมณ์ของภพชาติที่พึงชื่อว่า คตินิมิต คตินิมิตนี้ได้อารมณ์ ๖ เหล่านี้หาใช่เป็นอารมณ์ ที่เกี่ยวกับภพนี้ไม่ หากแต่เป็น อารมณ์ ๖ ที่จะพึงได้พบ ได้เห็น และได้เสวยในภพหน้าส่วนเดียว เหตุนี้พระอนุรุทธาจารย์ จึงแสดงว่า อนนฺตรมุปฺปชฺชมานภเว ในภพชาติที่จะพึงเกิดติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น และบาลีที่กล่าวว่า อุปลภิตพฺพมุปโภคภูตญฺจ นั้นได้แสดงให้ทราบว่า คตินิมิต มี ๒อย่าง คืออุปลภิตัพพคตินิมิต อย่างหนึ่ง อุปโภคภูตคตินิมิตอย่างหนึ่ง คำว่า ภูต ในข้อนี้ไม่มีการอธิบายอะไรเป็นพิเศษ บาลีคำนี้เป็นสนธิบท ดังนั้น เมื่อตัดบทแล้วก็ได้ ๒ บท คืออุปลภิตพฺพํ บทหนึ่ง อุปลภิตัพคตินิมิต หมายความว่าอารมณ์ ๖ ของภพชาติที่จะพึงพบเห็น อุปโภคคตินิมิต หมายความว่าอารมณ์ ๖ ของภพชาติที่จะพึงได้เสวย ดังนั้น เมื่อรวมคำกล่าวของพระอนุรุทธาจารย์ที่มีพระบาลีว่า อนนฺตรํ อุปฺปชฺชมานภเว อุปลภิตพฺพ อุปโภคภูตญฺจ คตินิมิตฺตํ แล้วก็ได้ความว่าอารมณ์ ๖ ของภพชาติที่จะพึงได้พบ ได้เห็น และได้เสวยในภพหน้าส่วนเดียวติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น บาลีประโยคนี้มีการสัมพันธ์กันดังนี้ อนฺนตรํ เข้าหา อุปฺปชฺชมานภเวๆ เข้าหา อุปลภิตพฺพํ และ อุปโภคตภูตํๆ เข้าหา คตินิมิตฺตํ สำหรับ คตินิมิตฺตํ นั้น เข้าหา ปจฺจปฏฐาติ ซึ่งเป็นอาขยาตกิริยาบท ดังนั้น เมื่อจะจำแนกคตินิมิตเหล่านี้โดยอุปลภิตัพพและอุปโภคะแล้วก็จะได้ดังนี้คือ
ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมโลก คตินิมิตทั้งสองไม่มี มีแต่บัญญัติกรรมนิมิตและมหัคคตกรรมนิมิต ถ้าจะไปเกิดในเทวโลก เห็นราชรถ วิมาน เทพบุตร เทพธิดา เครื่องประดับ สวน สระ เหล่านี้เป็นอุปลภิตัพพคตินิมิต ถ้ารู้สึกว่าตนเองได้นั่งไปในราชรถก็ดี กำลังเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ด้วยความสนุกสนานเบิกบานใจ บริโภคสุทธาโภชน์ร่วมด้วยเทพบุตร เทพธิดา สวมใส่เครื่องทิพยอาภรณ์ก็ดี เหล่านี้เป็นอุปโภคคตินิมิต ถ้าจะเกิดเป็นมนุษย์ เห็นครรภ์มารดา ห้อง เรือน เครื่องใช้ บ้านเมือง ตำบล หมู่บ้าน ผู้คน เป็นอุปลภิตัพพคตินิมิต ถ้ารู้สึกว่าตนกำลังเดินไปในสถานที่นั้นๆ หรืออยู่ในสถานที่นั้นๆ ก็ดี กำลังสนทนา ปราศรัยกับผู้ใดผู้หนึ่งอยู่ก็ดี ประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ดี หรือคล้ายๆ กับว่า ตนได้ถือปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ก็ดี เหล่านี้เป็นอุปโภคคตินิมิต ถ้าจะเป็นดิรัจฉาน เห็นสัตว์ ต่างๆ มีสุนัข นก ปลา วัว ควาย เป็นต้น สถานที่ที่สัตว์ดิรัจฉานอาศัยมีต้นไม้ ป่า เป็นต้น เป็นอุปลภิตัพพคตินิมิต ถ้ารูปสึกว่าตนได้เป็นสัตว์ดิรัจฉานจำพวกใดจำพวกหนึ่ง หรือกำลังเล่นอยู่กับสัตว์เหล่านั้นเป็นอุปโภคคตินิมิต ถ้าจะเป็นเปรตหรืออสุรกาย เห็นป่า เหว ทะเล แม่น้ำ ภูเขาที่สงัดเยือกเย็นเป็นที่น่าหวาดเสียว พวกเปรต อสุรกาย เป็นอุปลภิตัพพคตินิมิต ถ้ารู้สึกว่าตนกำลังเดินไปหรืออยู่ในสถานที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้วนี้ก็ดี ร่างกายของตนปรากฏเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือกำลังอดอยากไม่มีอาหารจะบริโภค กำลังแสวงหาน้ำและอาหารอยู่ด้วยความหิวกระหายเป็นอย่างยิ่งก็ดี เหล่านี้เป็นอุปโภคคตินิมิต ถ้าจะไปเกิดในนิรยภูมิ เห็นเครื่องประหัตประหาร สุนัข กา แร้งที่น่ากลัว พระยายม นายนิรบาล ตลอดจนถึงสัตว์นรก และสถานที่เหล่านี้ เป็นอุปลภิตัพพคตินิมิต ถ้ารู้สึกว่าตนกำลังถูกฉุดคร่าทุบตีก็ดี ถูกสุนัขขบกัดอยู่ก็ดี ถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการต่างๆ ก็ดี เที่ยวไปในสถานที่ที่มีบุคคลถูกจองจำอยู่ก็ดี มีการหวาดกลัวอย่างเหลือล้นเนื่องด้วยการได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้ก็ดี หรือคล้ายๆ กับว่ากำลังถูกสอบถามอยู่ก็ดี ร่างกายมีการเจ็บปวดเหลือประมาณยิ่งไปกว่าที่กำลังเจ็บอยู่เหล่านี้ก็ดี เป็นอุปโภคคตินิมิต
ผู้ป่วยหนักที่มีอาการคล้ายๆ กับสลบไป
ในเมื่อมีคตินิมิตปรากฏ
ผู้ป่วยหนักบางคนที่มีอาการเหมือนกับสลบไปชั่วขณะหนึ่ง เพราะคตินิมิตบางอย่างได้มาปรากฏนั้น รู้สึกว่าเหมือนกับได้ฝันไปว่าตนกำลังเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ อันเป็นที่อยู่ของอบายสัตว์ มีนรก เปรต เป็นต้น หรือสถานที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์ เทวดา โดยประการต่างๆ คือได้เห็นสัตว์นรกที่กำลังถูกทรมานพร้อมด้วย นายนิรบาล พระยายม ได้เห็นสถานที่สงัดเงียบน่าสยดสยอง เห็นตึกหลังใหญ่ มีเตาไฟ กระทะใหญ่ต้มน้ำกำลังเดือด เป็นที่สำหรับโยนเด็กลงไปในเมื่อผู้ใหญ่มีความโกรธเด็ก คนใดคนหนึ่งขึ้นมา เห็นกลุ่มคนใหญ่ยืนยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ในกลุ่มใหญ่อย่างสุดที่จะดูได้ หรือมิฉะนั้นก็เห็นเป็นป่าชัฏ ภูเขาใหญ่เป็นทิวแถว เห็นเหว ต้นไม้ใหญ่มีกิ่งใบสาขาปกคลุมมืดครึ้มแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาล เห็นสัตว์นานาชนิดล้วนแต่เป็นที่ขนพองสยองเกล้า กล่าวคือบางพวกมีร่างกายสูง บางพวกมีร่างกายใหญ่ บางพวกมีตัวดำ ศีรษะใหญ่ บางพวกมีแต่เนื้อไม่มีกระดูก หรือมีแต่กระดูกไม่มีเนื้อ และตนเองได้ปีนป่ายเที่ยวไปตามไหล่เขาซุ่มตัวแอบดูสัตว์ร้ายต่างๆ ที่กำลังเป็นไปอยู่ในภูเขานั้นด้วย ความเหนื่อยอ่อน มีการกระหายน้ำเป็นกำลังจึงลงมาเที่ยวหาน้ำดื่ม แต่แล้วก็ได้ไปพบสัตว์ร้ายเข้ามาจะทำอันตรายจึงได้ปีนหนีขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ หรือมิฉะนั้นก็ได้เห็นบ้านเมือง หมู่บ้าน ตำบล หรือตนได้ไปหาญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่อยู่ต่างบ้าน ต่างถิ่น มีการเลี้ยงดูสนทนาปราศรัยซึ่งกันและกันหรือได้เห็นราชรถ วิมาน นางฟ้า และตนเองได้เที่ยวไปในสถานที่นั้นๆ ได้เห็นสวน สระ ศาลา ปูชนียสถาน วิมานต่างๆ คือวิมานบางวิมานมีเทพบุตร เทพธิดาอาศัยอยู่ บางวิมานก็ว่างเปล่า จึงได้ไถ่ถามก็ได้ความว่า เป็นวิมานของท่านผู้หนึ่งที่ยังอยู่ในเมืองมนุษย์ได้บังเกิดขึ้นคอยท่าในเมื่อสิ้นชีวิตจากมนุษย์ แล้วก็จะได้มาเสวยทิพยสมบัติอยู่ในวิมานนี้ ความเป็นไปแห่งคตินิมิตที่ปรากฏเหมือนกับการฝันไป ทั้งผู้ป่วยก็มีอาการเหมือนกับคนที่สลบไปดังที่กล่าวนี้ บางคนก็เห็นเหมือนกับอยู่ในสถานที่ของตน บางคนก็เห็นว่ามีคนมาชักชวน บางคนก็เห็นว่าตนเองได้ท่องเที่ยวไปตามลำพัง ความเป็นไปต่างๆ นี้ บางคนก็เป็นอยู่ชั่วระยะ ๒ – ๓ นาทีก็มี ๑ - ๒ ชั่วโมงก็มี ๑ วัน ๒วันก็มี ดังที่พวกชาวบ้านได้กล่าวกันว่าคนตายไปแล้วกลับฟื้นคืนมาได้อีก
“กมฺมพเลน” ด้วยอำนาจกรรมที่อภิธัมมัตถสังคหะกล่าวว่า กมฺมพเลน นั้น หมายความว่าการปรากฏแห่งนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ มิต้องไปคิดว่าเกิดมาจากเหตุอันใดให้เป็นเครื่องยุ่งใจเปล่าๆ หากแต่เป็นไปด้วยอำนาจกรรมที่ได้โอกาสส่งผลปฏิสนธิในภพที่สองนั้นเอง กรรมที่ได้โอกาสส่งผลปฏิสนธิในภพที่สองนี้เป็นอาจิณณกรรมก็มีอาสันนกรรมก็มี กฏัตตกรรมก็มี หรือนึกขึ้นได้เองก็มี มิฉะนั้นมีคนมาบอกเตือนให้นึกได้ก็มี ดังนั้นกรรมต่างๆ ที่ตนได้เคยทำไว้แต่ครั้งนานมาแล้วจึงปรากฏให้เห็นเป็นว่าตนกำลังทำอยู่จนถึงกับกล่าววาจาเพ้อออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ บ้าง แสดงกิริยาท่าทางต่างๆ บ้าง อันเป็นกรรมอารมณ์ บางทีก็ปรากฏเป็นภาพมีอาการเป็นดังที่ตนได้กระทำไว้ อันเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ แต่บางทีก็มิได้มีอาการเพ้อ การแสดงกิริยาอาการแต่อย่างใด ทั้งการปรากฏเป็นภาพขึ้นให้เห็นก็ไม่มีแต่แล้วกรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังมีอำนาจ ทำให้กระแสใจของผู้ใกล้จะตายนั้นมีการขุ่นมัวเร่าร้อนไม่ผ่องแผ้ว หรือเบิกบานชุ่มชื่นแจ่มใสอีกด้วยความเป็นไปแห่งกระแสใจ ดังนี้จัดเข้าในกรรมอารมณ์
“ฉนฺนํ ทฺวารานํ อญฺญตรสฺมี” ในบรรดาทวารใดทวารหนึ่งในบรรดาทวารทั้ง ๖ หมายความว่าการปรากฏแห่งนิมิตทั้ง ๓ นี้ย่อมปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเอง คือนิมิตที่เป็นกรรมอารมณ์ก็จัดปรากฏทางใจ นิมิตที่เป็นกรรมนิมิตและคตินิมิต ทั้งสองอย่างนี้ต้องแล้วแต่สภาพของนิมิตนั้นๆ คือถ้าปัจจุบันรูปารมณ์ก็จะปรากฏทางตาและทางใจ ถ้าเป็นอดีตรูปารมณ์ก็จะปรากฏทางใจ สัททารมณ์เป็นต้น จนถึงโผฏฐัพพารมณ์ก็เช่นเดียวกัน สำหรับนิมิตธรรมารมณ์นั้นย่อมปรากฏทางใจอย่างเดียว อนึ่งสภาพของคตินิมิตนั้นถึงแม้ว่าจะได้อารมณ์ ๖ ก็จริง แต่ทว่าส่วนมากย่อมเป็นรูปารมณ์ และบัญญัติธรรมารมณ์ที่เกี่ยวกับรูปารมณ์นั้นๆ ฉะนั้นในบรรดาทวารทั้ง ๖ นี้ คตินิมิตย่อมปรากฏทางตาทางในส่วนมาก
ความเป็นไปแห่งกระแสจิตเมื่อใกล้จะตาย
ต่อจากที่อารมณ์มีกรรม กรรมนิมิต คตินิมิต เหล่านั้นมาปรากฏแล้วอาศัยอารมณ์ที่มาปรากฏตามอาการนั้นๆนั่นเอง กระแสจิตอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองก็ตามแล้วแต่กรรมที่จะส่งผล และมีอาการเป็นไปคล้ายกับว่าน้อมไปในภพชาติที่จะพึงเกิดขึ้นแล้วแต่ภพชาติที่จะได้ไปเกิดนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นเนืองๆ เป็นส่วนมาก
“ตโต ปรํ ตเมว ตโถปฏฺฐาตํ อารมฺมณํ อารพฺภ จิตฺตสนฺตานํ อภิณฺหํ ปวตฺตติ” ต่อจากอารมณ์มีกรรม กรรมนิมิต คตินิมิต เหล่านั้นมาปรากฏแล้ว กระแสจิตย่อมเกิดอยู่เนืองๆ โดยอาศัยอารมณ์ที่มาปรากฏตามอาการนั้นๆ นั่นเอง เรื่องนี้เมื่อจะอุปมาแล้วก็ เสมือนหนึ่งกระแสจิตของผู้ที่กำลังดูโทรทัศน์ ด้วยใจจดใจจ่ออยู่กับภาพที่อยู่เฉพาะหน้า หาได้นึกคิดไปในเรื่องอื่นๆไม่ แม้ว่าจะมีคนมาพูดจาไถ่ถาม หรือใช้สอยบ้างก็ไม่สนใจสักแต่ว่าพูดไป ทำไปอย่างนั้นเอง ส่วนจิตใจนั้นหาได้ละเลิกตามไปไม่ คงจดจ่ออยู่แต่ในภาพที่ตนกำลังดูอยู่เท่านั้น ข้อนี้ฉันใดกระแสจิตของผู้ใกล้จะตายแม้ว่าร่างกายจะถูกทรมานด้วยการเจ็บปวด หรือมีคนมาปลอบโยนซักถามเอาอกเอาใจโดยประการต่างๆก็ตาม คงพูดไป กล่าวไปบ้างเป็นครั้งคราวส่วนกระแสจิตนั้นคงยึดอยู่ในนิมิตที่มาปรากฏเป็นระยะๆไป
“วิปจฺจมานกกมฺมานุรูปํ ปริสุทฺธํ อุปกฺกิลิฏฺฐํ วา จิตฺตสนฺตานํ อภิณฺหํ ปวตฺตติ” กระแสจิตอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองแล้วแต่กรรมที่จะส่งผลย่อมเกิดขึ้นเนืองๆข้อนี้อธิบายว่า กรรมที่จะส่งผลปฏิสนธินั้นถ้าเป็นกุศลแล้ว กระแสจิตก็ย่อมบริสุทธิ์ผ่องใสเยือกเย็น ถ้าเป็นอกุศลกระแสจิตก็ย่อมขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน ความเป็นไปแห่งกระแสจิตดังนี้ ย่อมเกิดขึ้นเนืองๆ ฉะนั้นคำว่าเนืองๆ นี้หมายความว่าเมื่อกระแสจิตของผู้ใกล้จะตายบริสุทธิ์แล้ว ถึงแม้ร่างกายจะเป็นชนิดที่ทรมานมากก็ตาม หรือมีคนมาพูดเรื่องไม่ดีต่างๆก็ตาม จิตใจของผู้นั้นคงไม่สบายไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็กลับผ่องแผ้วบริสุทธิ์ไปตามเดิม ถ้ากระแสจิตเศร้าหมองแล้ว แม้ว่าร่างกายจะไม่มีโรคที่ทรมานมากนัก ทั้งบุตรหลาน ญาติพี่น้องก็คอยเฝ้ารักษาเป็นอย่างดี มิได้พูดเรื่องใดๆ ให้เป็นที่รำคาญใจ มีแต่สนทนาปราศรัยแต่เรื่องดีๆ ทั้งสิ้นถึงกระนั้นก็เพียงแต่ทำให้จิตใจชุ่มชื่นสบายไปได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นก็กลับขุ่นข้องหม่นหมองไปตามเดิม
อนึ่ง บาลีทั้ง ๒ ตอนมี “ตโต ปรํ ตเมว” เป็นต้น และ “วิปจฺจมานกกมฺมานุรูปํ” เป็นต้นนี้ มีเหตุผลตามลำดับดังนี้ เมื่อกรรมที่จะส่งผลปฏิสนธิในภพที่ ๒ เป็นกุศลแล้วนิมิตทั้ง ๓ ก็เป็นนิมิตดี เมื่อมีนิมิตดีแล้วกระแสจิตที่ยึดอยู่ในนิมิตนั้นบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เมื่อกรรมที่จะส่งผลปฏิสนธิในภพที่ ๒ เป็นอกุศลแล้ว กระแสจิตที่ยึดอยู่ในนิมิตนั้นก็เศร้า หมองไม่ผ่องแผ้ว กระแสจิตที่บริสุทธิ์และเศร้าหมองเนื่องมาจากนิมิตที่ดีและไม่ดีปรากฏนั้น มีเรื่องอยู่ว่า ธัมมิกอุบาสกและพระเจ้าทุฏฐคามิณิ เมื่อใกล้จะตายมีนิมิตที่ดีมาปรากฏกล่าวคือได้เห็นราชรถ ๖ คัน มาจากเทวภูมิทั้ง ๖ ชั้น ปรากฏอยู่เฉพาะหน้ากลางอากาศได้ยินเสียงร้องเชิญให้ขึ้นรถของตน และได้กลิ่นหอมของเครื่องประดับที่ประดับอยู่บนราชรถ การเป็นดังนี้ก็เพราะกุศลกรรมจะนำปฏิสนธิในเทวภูมินั้นเอง ฉะนั้นกระแสจิตที่ยึดอยู่ในคตินิมิตที่ดีจึงมีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใสไปด้วย เมื่อสิ้นชีวิตแล้วธัมมิกอุบาสกก็ดีพระเจ้าทุฏฐคามิณิก็ดี ได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรนั่งในราชรถที่มาจากชั้นดุสิต ส่วนราชรถที่มาจากชั้นอื่นๆ ก็ค่อยๆอันตธานหายไป พระเจ้าศิริธัมมาโสกะ องคฺศาสนูปถัมภ์ทำการสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อพ.ศ. ๓๐๕ เป็นองค์อุปถัมภ์ใหญ่ยิ่งที่สุดในพระพุทธศาสนานั้น นับตั้งแต่เริ่มประชวนเป็นต้นมาจนถึงก่อนหน้าเวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์นั้น พระองค์ทรงมีพระทัยผ่องใสดีอยู่เนื่องมาจากการยึดในนิมิตที่ดี ครั้นถึงคราวใกล้จะสิ้นพระชนม์ลงจริงๆ กลับทรงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เสียพระทัยว่าทรงเป็นถึงกษัตริย์อันยิ่งใหญ่ปกครองในชมพูทวีป แต่มาบัดนี้คงมีสิทธิ์ปกครองได้แต่เพียงผลสมอผลเดียว กระแสจิตที่มีการเศร้าหมองด้วยโทสะที่เป็นกรรมอารมณ์ได้ปรากฏในใจ เมื่อสิ้นพระชนม์ลงแล้วก็ไปบังเกิดเป็นงูเหลือมจนกระทั่งพระโอรสมหินทเถรพระอรหันต์ ต้องไปทำการช่วยเหลือด้วยวิธีการทำให้ระลึกชาติได้ ถึงการเคยกระทำสังคายนาเอาไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ครั้นทรงระลึกได้ก็พ้นจากการเป็นเปรตงู ได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ สุดท้ายจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดังมีเรื่องแจ้งอยู่ในปกรณ์มหาวงค์
อนึ่ง ผู้ใกล้จะตายที่มีจิตใจเศร้าหมองเดือดร้อนเนื่องจากนิมิตที่ไม่ดีมาปรากฏ ถ้าผู้ใกล้ชิดหรือผู้ใกล้ที่ได้เห็นรู้ทันพร้อมทั้ง เข้าใจในวิธีแก้ไขแล้ว ก็สามารถที่จะเปลี่ยนนิมิตไม่ดีให้กลับเป็นดีได้ ดังเช่นพระภิกษุผู้เป็นบิดาของพระโสณเถระอรหันต์ อยู่ที่วัดบนเขาโสณคิริ เมื่อครั้งยังมีกำลังแข็งแรงดีอยู่ชอบประกอบอาชีพแต่ในด้านการล่าเนื้อแม้ว่าลูกชายที่เป็นพระจะตักเตือนห้ามปรามเท่าใดๆก็มิยอมเลิก ต่อมาเมื่อชราลงจึงได้มาบวชอยู่กับพระลูกชาย ครั้นถึงเวลาป่วยหนักจะต้องตายแน่ คตินิมิตที่ไม่ดีก็มาปรากฏ คือเห็นเป็นสุนัขใหญ่ขึ้นมาจากตีนเขาเข้ามาจะกัด จึงส่งเสียงร้องโวยวายของความช่วยเหลือจากพระลูกชาย ฝ่ายลูกชายก็ทราบได้ว่านี้เป็นคตินิมิตที่เกี่ยวกับนิรยภูมิมาปรากฏแก่บิดาแล้ว จึงให้สามเณรไปเก็บดอกไม้มาจัดตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปแล้วก็หามบิดาเข้ามา ณ ที่นั้น บอกว่าดอกไม้นี้สำหรับบูชาพระ ขอให้บิดาตั้งใจถวายแล้วน้อมไปในพระคุณของพระพุทธเจ้า บิดาก็ยอมทำตามไม่ขัดขืน ในเวลานั้นคตินิมิตที่เกี่ยวกับนิรยภูมิก็หายไป คตินิมิตที่เกี่ยวกับเทวภูมิ คือนางฟ้าได้มาปรากฏแทน พระที่เป็นบิดามีความยินดีร้องบอกพระลูกชายว่า “น้าเจ้าเขามา จงหลีกทางให้เขาเข้ามาด้วย” เมื่อจิตใจมีความชุ่มชื้นด้วยปิติโสมนัสเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ครั้นตายลงก็ได้ไปสู่เทวภูมิ
ข้อสงสัยและคำชี้แจงในเรื่องนี้
ในขณะที่เห็นนางฟ้านั้น ความยินดีอันเป็นตัวโลภะได้เกิดขึ้น ดังจากพิสูจน์เห็นได้จากคำที่กล่าวว่า “น้าเจ้าเขามา จงหลีกทางให้เขาเข้ามาด้วย” ครั้นตายลงได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ ดังนั้นในข้อที่กล่าวว่า วิปจฺจมารกกมฺมานุรูปํ ริสุทฺธํ อุปกฺกิลิฏฺฐํ วาหมายความว่าถ้ากุศลกรรมมีโอกาสส่งผล กระแสจิตของผู้ใกล้จะตายก็บริสุทธิ์ ถ้าอกุศลกรรมมีโอกาสส่งผล กระแสจิตของผู้ใกล้จะตายก็เศร้าหมองเมื่อเป็นดังนี้กระแสจิตของพระที่เป็นบิดาที่มีความยินดีต่อนางฟ้านั้นก็เป็นความเศร้าหมองมิใช่หรือแต่ไฉนจึงไปเกิดในเทวภูมิได้เล่า
ข้อนี้อธิบายว่า ถ้าอกุศลกรรมมีโอกาสส่งผล กระแสจิตของผู้ใกล้จะตายก็เศร้าหมองนั้น หมายถึงเศร้าหมองเดือดร้อนด้วยกิเลสต่างๆ เป็นเวลานานหลายนาทีหลายชั่วโมงดังนี้แล้ว จึงจะเรียกได้ว่า “อุปกฺกิลิฏฺฐํ” แต่กระแสจิตของพระที่เป็นบิดานั้น มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์เนื่องด้วยการงานที่เป็นกุศลเกิดอยู่ก่อนที่จะตายเป็นเวลาหลายนาที สำหรับกระแสจิตที่มีความยินดีต่อนางฟ้านั้นเกิดขึ้นชั่วขณะวินาทีเท่านั้นแล้วก็ตายลง ฉะนั้นความยินดีอันเป็นตัวโลภะจึงมิได้เข้าถึงความเป็นอุปาทาน เพียงแต่เป็นตัณหาเกิดขึ้นก่อน โดยเหตุนี้จึงกลับเป็นการสนับสนุนช่วยเปิดโอกาสให้แก่ศีลกุศลที่เกิดจากการบวช ทานกุศลที่เกิดจากการถวายดอกไม้ ภาวนากุศลที่เกิดจากการน้อมใจไปในพุทธคุณ พร้อมกับชี้เทวภูมิอันเป็นที่ส่งผลของกุศลกรรมเหล่านั้นให้หนักแน่นยิ่งอีกด้วย
ดังที่แสดงไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า “ปฏิสนธิย่อมเกิดขึ้นในคติสัมปัตติที่เป็นญาณสัมปยุตตํ คือเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม เพราะได้รับการอุปการะจากเหตุ ๘ ประการ”อธิบายว่า ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม โดยมีปฏิสนธิเป็นติเหตุกะได้นั้น ก็เพราะเนื่องมาจากเหตุ ๘ ประการ เป็นปัจจัยช่วยหนุนเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น เหตุทั้ง ๘ นั้น คือในขณะที่ทำการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาที่ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณ ได้เหตุ ๓ การยินดีชอบใจในทาน ศีล ภาวนาของตนที่ได้กระทำไปนั้น ได้เหตุ ๒ คือโลภเหตุ โมหเหตุ เมื่อได้ปฏิสนธิเป็นติเหตุกะอันเป็นผลของกุศลเหล่านี้เกิดขึ้นนั้น ได้เหตุ ๓ รวมเป็น ๘ ประการ
อนึ่ง การที่พระที่เป็นบิดามีความยินดีในนางฟ้า แต่แล้วก็ได้ไปเกิดในเทวภูมินั้นข้อนี้มิเป็นการขัดกันกับพระพุทธภาษิตไปหรือ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในอาทิตตปรยายสูตร ว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กระแสจิตที่มีความยินดีติดใจใน
ร่างกายของคนเราและคนอื่น ซึ่งเรียกว่านิมิต เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่
หรือกระแสจิตที่มีความยินดีติดใจในอวัยวะน้อยใหญ่ของเราและ
คนอื่น ซึ่งเรียกว่าอนุพยัญชนะ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าผู้นั้นตายลงในเวลาที่มีตัณหาเกิดขึ้นตั้งอยู่นั้น พึงไป
สู่คติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคติทั้งสอง คือนรก หรือดิรัจฉาน
การเป็นไปดังนี้ย่อมมิได้”
พระพุทธภาษิตนี้มิเป็นการขัดกันแต่อย่างใด เพราะว่าเมื่อเวลาใกล้จะตายลงจริงๆนั้น กุศลชวนะที่มีความเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย และการบูชาพระด้วยดอกไม้เกิดขึ้นต่างหาก ส่วนความยินดีต่อนางฟ้านั้นเป็นการเกิดก่อนที่จะตาย อนึ่ง ความยินดีในอารมณ์ที่น่ารัก ความยินร้ายในอารมณ์ที่น่าเกลียด น่ากลัวนั้น เป็นของธรรมดาที่มีอยู่แก่บุคคลทั่วๆไป เว้นแต่บุคคลที่พิเศษ คือผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนาที่มีอินทรีย์แก่กล้าและ พระอนาคามีกับพระอรหันต์เท่านั้น ฉะนั้น ถ้าอารมณ์ที่น่ารัก น่ายินดีหรือน่าเกลียด น่ากลัวมาปรากฏเฉพาะหน้า แต่ความยินดี ยินร้ายไม่เกิด ทั้งมิใช่เป็นบุคคลพิเศษ หรือธรรมดาแล้วสิ่งนั้นได้แก่ตุ๊กตา ดังนี้ถ้าผู้ที่ยังมีความยินดี ยินร้ายอยู่นี้ ต้องไปสู่อบายภูมิด้วยกันทั่วทุกคนแล้วไซร้ เมื่อตายลงก็ไม่มีใครจะมาเกิดเป็นมนุษย์ และเทวดาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในมนุษยภูมิและเทวภูมิก็จะมีมนุษย์และเทวดาน้อยลงแต่ก็หาได้เป็นไปเช่นนั้นไม่ จึงเป็นอันแสดงให้เห็นได้ว่า ความยินดี ยินร้ายนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือความยินดี ยินร้ายที่มีกำลังนำส่งอบายภูมิก็มี ที่ไม่มีกำลังที่จะนำส่งอบายภูมิก็มี ที่มีกำลังนำส่งอบายภูมินั้นต้องทำให้กาย วาจา ใจ สำเร็จเป็นทุจริตทุราชีพ
สำหรับพุทธวจนะนั้นมุ่งหมายเอาการตายโดยธรรมชาติก็ดี หรือประสบอุปัทวเหตุก็ดี กระแสจิตของผู้ที่ก่อนจะตายมีความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้น จนกระทั่งทำให้กาย วาจา ใจ เข้าถึงความเป็นทุจริต ทุราชีพ แต่ถึงกระนั้นแม้ว่าจะมีกุศลจิตเกิดขึ้นโดยที่มีผู้มาช่วยเตือนให้ระลึกนึกถึงกุศลที่ตนเคยทำมาแล้ว หรือให้ระลึกไปในคุณของพระรัตนตรัยก็ตาม แต่กระแสจิตที่มีความยินดี ยินร้ายดังกล่าวยังเกิดขึ้นอีก ส่วนกุศลจิตที่เกิดขึ้นชั่วขณะนั้นก็มิสามารถจะทำลายความเศร้าหมองแห่งกระแสจิตให้ระงับลงได้ ดังนั้นเมื่อตายลงจึงต้องไปสู่อบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง
การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์อีกนัยหนึ่ง
หรืออีกนัยหนึ่ง กุศลกรรม อกุศลกรรมที่ให้เกิดปฏิสนธินั้นเอง ย่อมปรากฏในทางใจด้วยอำนาจทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ๆอยู่
“ตเมว วา ปน ชนกภูตํ กมฺมํ อภินวกรณวเสน ทฺวารปฺปตฺตํ โหติ” บาลีนี้แสดงการปรากฏแห่งกรรมอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง
การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ทั้ง ๒ นัยมีความสำคัญต่างกันคือ นัยที่หนึ่งแสดงว่า “อภิมุขีภูตํ ภวนฺตเร ปฏิสนฺธิชนกํ กมฺมํ มโนทฺวาเร ปจฺจปฏฐาติ” กุศลกรรม อกุศลกรรม ซึ่งให้เกิดปฏิสนธิในภพหน้าที่เป็นไปเหมือนกับการแสดงตัวให้เด่นชัดตรงหน้า ปรากฏในมโนทวารอยู่ที่เฉพาะหน้า” นัยที่สองแสดงว่า “ตเมว วา ปน ชนกภูตํ กมฺมํ อภินวกรณวเสน ทฺวารปฺปตฺตํ โหติ” กุศลกรรม อกุศลกรรมที่ให้เกิดปฏิสนธินั้นเองย่อมปรากฏในทางใจด้วยอำนาจทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ๆอยู่” ดังนั้นความพิเศษที่ต่างกันระหว่างทั้งสองนัยนี้ก็มีอยู่ตรงที่ว่า “อภิมุขีภูตํ” แสดงตัวให้เด่นชัด และ “อภินวกรณวเสน” ทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ๆ”
การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ตามนัยที่หนึ่ง “อภิมุขีภูตํ” นั้นเป็นการปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่ง “ปุพเพกตสัญญา” คือสัญญาความจำจิตใจภายในตัวที่เป็นไปแล้วในกาลก่อน เช่น ตนเคยมีปีติโสมนัสในขณะทำงาน รักษาศีล เจริญภาวนาเมื่อครั้ง ๑๐ – ๑๕ ปีล่วงแล้ว ต่อมาบัดนี้ก็ยังระลึกจำกุศลปีติโสมนัสนั้นๆ ได้ หรือถ้าเคยเสียอกเสียใจในขณะที่ถูกไฟไหม้ ถูกโกงเมื่อ ๑๐- ๒๐ ปีล่วงแล้ว หรือเคยโกรธแค้นกับผู้ใดผู้หนึ่งในกาลก่อน ครั้นถึงเวลาใกล้จะตายก็หวนนึกจำความเสียอกเสียใจ หรือโกรธแค้นนั้นๆ ได้ ข้อนี้อุปมาเสมือนหนึ่งผู้ใหญ่ที่มีอายุมากได้นึกเทียบเคียงจิตใจของตนในบัดนี้กับเมื่อครั้งยังเยาว์วัยเป็นหนุ่มสาว มีความเบิกบานสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างใดๆ ก็ยังนึกจำความเบิกบาน สนุกสนานเพลิดเพลินในครั้งกระนั้นได้ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ตามปุพเพกตสัญญาที่เป็น “อภิมุขีภูตํ” ก็ฉันนั้น ส่วนผู้ใกล้จะตายจำในเรื่องภายนอกมีกิริยาอาการ วัตถุสิ่งของของบุคคล เครื่องแวดล้อมต่างๆได้นั้น เหล่านี้เป็นกรรมนิมิตอารมณ์
การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ตามนัยที่สอง “อภินวกรณวเสน” นั้นเป็นการปรากฏขึ้นด้วยอำนาจ “สัมปติกตสัญญา” คือสัญญาความจำจิตใจภายในตัวเป็นไปคล้ายๆกันกับว่าได้กระทำอยู่เดียวนั้น เช่น ตนเคยมีปิติโสมนัสในขณะทำงาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือเคยเสียอกเสียใจในขณะที่ถูกไฟไหม้ ถูกโกง หรือเคยโกรธแค้นกับผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือน หลายปี ครั้นถึงเวลาใกล้จะตายปิติโสมนัสได้เกิดขึ้นคล้ายๆกับว่าตนกำลังทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่ หรือความเสียอกเสียใจเกิดขึ้นคล้ายๆกับว่าตนกำลังถูกไฟไหม้ ถูกโกงอยู่ หรือความโกรธความแค้นเกิดขึ้นคล้ายๆกับว่าตนกำลังทุ่มเถียงวิวาทกับคนใดคนหนึ่ง
ข้อนี้อุปมาเสมือนหนึ่งความสนุกสนานที่เกิดขึ้นในใจแก่ผู้ที่กำลังหลับในเวลากลางคืน เนื่องจากฝันไปเพราะอาศัยความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการได้ไปดูหนัง ดูละคร กีฬา มาเมื่อตอนบ่าย
มรณาสันนวิถี
จุติจิตซึ่งเป็นจิตสุดท้ายแห่งวิถีจิต หรือในเมื่อภวังคจิตสิ้นสุดลงแล้วก็ดับไปด้วยอำนาจการทำหน้าที่ย้ายจากภพเก่า
“ปจฺจาสนฺนมรณสฺส ตสฺส วิถีจิตฺตาวสาเน ฯลฯ จุติจิตฺตํ อุปฺปขฺตฺวา นิรุชฺฌติ” บาลีนี้แสดงถึงการเกิดขึ้นแห่งมรณาสันนวิถี คือการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งจิตเป็นแถวๆ เมื่อเวลาใกล้จะตาย คำว่า “ปจฺจาสนฺนมรณสฺส” นี้ หมายถึงผู้จะตายในระยะใกล้ที่สุด ส่วนผู้ใกล้จะตายในระยะ ๑ – ๒ นาที หรือ ๑- ๒ ชั่วโมงเป็นต้น มิใช่เป็นปัจจาสันนมรณบุคคล หรือบุคคลจะตายในระยะใกล้ที่สุดไม่ หากแต่เป็นมรณาสันนบุคคล บุคคลที่ใกล้จะตายธรรมดา
คำว่า “ปจฺจาสนฺน” ในบทนี้เป็นสันธิบท เมื่อตัดแล้วได้ ๒ บท คือ ปฏิ บทหนึ่ง อาสนฺน บทหนึ่ง ปฏิ = ที่สุด อาสนฺน = ใกล้ เมื่อรวมแล้วเป็น ปจฺจาสนฺน = ใกล้ที่สุด ดังนั้น ผู้ที่จะตายภายใน ๑ – ๒ นาที หรือ ๑ – ๒ ชั่วโมง เป็นต้นนั้น จึงไม่เรียกว่า ปัจจาสันนมรณบุคคล เรียกได้แต่มรณาสันนบุคคล คือบุคคลที่ใกล้จะตายเท่านั้น ฉะนั้น การแสดงมรณาสันนวิถีในบาลีนี้ ก็มุ่งหมายเอาปัจจาสันนมรณาวิถีนั้นเอง หาใช่หมายเอาวิถีที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใกล้จะตายภายใน ๑ – ๒ นาที หรือ ๑ – ๒ ชั่วโมง เป็นต้นนั้นไม่มรณาสันนวิถีธรรมดาที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใกล้จะตายภายใน ๑- ๒ นาที หรือ ๑- ๒ ชั่วโมง เป็นต้นนั้น ได้แสดงมาแล้วในเรื่องการปรากฏแห่งนิมิตทั้ง ๓
ความเป็นอยู่และความสิ้นสุดแห่งปัจจุบันภพ
การเกิดขึ้นสืบต่อแห่งภวังคจิตตุปบาท และกัมมชรูปอย่างไม่ขาดสาย ในภพหนึ่งๆ นั้นเรียกว่าปัจจุบันภพ ครั้นภวังคจิตตุปบาทได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นจุติ และกัมมชรูปก็เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก็เรียกว่าความเป็นอยู่แห่งปัจจุบันภพนั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้นพระอนุรุทธาจารย์จึงได้แสดงจุติจิตนี้ว่า ปจฺจุปนฺนภวปริโยสานภูตํ เป็นจุติสุดท้ายแห่ง ปัจจุบันภพ และการเกิดขึ้นแห่งจุติจิตก็มีอยู่ ๒ ประการ คือเกิดขึ้นสุดท้ายแห่งวิถีจิตก็มีเกิดขึ้นเมื่อภวังคจิตสิ้นสุดลงก็มี เหตุนี้พระอนุรุทธาจารย์จึงได้กล่าวว่า “วิถีจิตฺตาวสาเน ภวงฺคกฺขเย วา” ในสุดท้ายแห่งวิถีจิต หรือเมื่อภวัคจิตสิ้นสุดลง
ใน ๒ ประการนี้ จุติจิตเกิดขึ้นสุดท้ายแห่งวิถี มี ๒ ได้แก่ชวนะ ๕ ครั้ง ตทารัมมณะ ๒ ครั้ง แล้วจุติจิตเกิดอย่างหนึ่ง ชวนะ ๕ ครั้ง แล้วจุติจิตเกิดอย่างหนึ่ง จุติจิตเกิดเมื่อ ภวังคจิตเกิดเมื่อภวัคจิตสิ้นสุดลงมี ๒ ได้แก่ชวนะ ๕ ครั้ง ตทารัมมณะ ๒ ครั้ง ภวังค์ ๑- ๒ -๓ แล้ว จุติจิตเกิดอย่างหนึ่ง ชวนะ ๕ ครั้ง ภวังค์ ๑- ๒ -๓ แล้วจุติจิตเกิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นมรณาสันนวิถีชนิดปัจจาสันนมรณาวิถี จึงมี ๔ ประเภท คือ
ก- ๑. ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ, ตทารัมมณะ ตทารัมมณะ, จุติ
- ๒. ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ, จุติ
- ๑. ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ, ตทารัมมณะ ตทารัมมณะ, ภวังค์ ฯลฯ จุติ
- ๒. ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ ชวนะ, ภวังค์ ฯลฯ จุติ
ที่กล่าวว่า ภวังคจิจเกิด ๑- ๒ -๓ ขณะนั้น หมายความว่ามีภวังคจิตเกิด ๑ ขณะแล้วจุติจิตเกิดก็มี หรือมีภวังคจิตเกิด ๒ ขณะ แล้วจุติจิตเกิดก็มี หรือมีภวังคจิตเกิด ๓ ขณะ แล้วจุติจิตเกิดก็มี ทั้งนี้ก็เพราะเนื่องมาจากกัมมชรุปที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายนั้นเอง คือ กัมมชรูปจะต้องดับพร้อมกันกับวิปากจิตเสมอไป วิปากจิตจะดับลงโดยที่กัมมชรูปยังตั้งอยู่นั้นไม่มี หรือกัมมชรูปดับหมดแล้ว แต่วิปากจิตยังเกิดอยู่ก็ไม่มีเช่นเดียวกันที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าในครั้งแรกที่กุศลกรรม อกุศลกรรมสร้างภพชาติให้เกิดขึ้นนั้น วิปากจิตและกัมมชรูปเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดังนั้น เมื่อคราวสิ้นภพชาติ วิปากจิตและกัมมชรูปก็ต้องดับพร้อมๆ กัน นี้เป็นไปตามธรรมนิยาม อุปมาเหมือนดวงไฟและแสงสว่างที่มีสภาพเกิดดับพร้อมกัน
วิถีทั้ง ๔ ประเภทนี้ ผู้ที่ตายในกามภูมิและรู้จักเกิดในกามภูมิอีกนั้น เป็นได้ทั้ง ๔ วิถี ส่วนผู้ที่ตายในกามภูมิแล้วจักเกิดในพรหมภูมิก็ดี ตายในพรหมภูมิและรู้จักเกิดในพรหมภูมิตายในพรหมภูมิแล้วจักเกิดในกามภูมิก็ดี ทั้ง ๓ จำพวกนั้นเป็นได้แต่ชวนวาระ ๒ วิถีเท่านั้น สำหรับตทารัมมณวาระ ๒ วิถีนั้นไม่เกิด
การที่ตทารัมมณวาระ ๒ วิถีไม่เกิดแก่บุคคลทั้ง ๓ จำพวกนั้นก็เพราะมีหลักอยู่ว่า เมื่อตทารมณ์จะเกิดนั้นจะต้องบริบูรณ์ด้วยธรรม ๓ ประการคือ กามชวนะ กามบุคคล กามอารมณ์ เมื่อธรรม ๓ ประการนี้ครบ บริบูรณ์แล้วตทารมณ์ก็เกิดได้ ดังที่อภิธัมมัตถสังคหบาลีได้แสดงไว้ว่า
กาเม ชวนสตฺตาลมฺ- พนานํ นิยเม สติวิภูเตติมหนฺเต จ ตทารมฺมณมีริตํฯ
ถ้าองค์แห่งกามชวนะ กามบุคคล กามอารมณ์ทั้ง ๓ นี้ครบแล้ว อาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวว่าในอติวิภูตารมณ์ และอติมหันตารมณ์ วิถีทั้ง ๒ นี้ต้องมีตทารมณ์ ดังนั้นบุคคล ๓ จำพวกดังที่กล่าวแล้วนี้มีองค์ ๓ ไม่ครบ วิถีทั้ง ๒ ที่มีตทารมร์จึงไม่เกิด คือผู้ที่ตายในกามภูมิลัวจักเกิดในพรหมภูมิได้แต่องค์ ๒ คือกามชวนะ กามบุคคล ส่วนอารมณ์นั้น เป็นบัญญัติหรือมหัคตะที่เกี่ยวกับกรรมฐาน ผู้ที่ตายในพรหมภูมิแล้วจักเกิดในพรหมภูมิได้แต่องค์ ๑ คือกามชวนะ ผู้ที่ตายในพรหมภูมิแล้วจักเกิดในกามภูมิได้องค์ ๒ คือกามอารมณ์ บุคคลเป็นพรหม ส่วนบุคคลที่ตายในกามภูมิแล้วจักเกิดในกามภูมินั้นมีองค์ ๓ ครบ ฉะนั้นวิถีทั้ง ๒ ที่มีตทารมณ์จึงเกิดได้
การเกิดขึ้นแห่ปฏิสนธิจิตในภพใหม่
เมื่อจุติจิตนั้นดับลงไปแล้ว ในลำดับแห่งจุติโดยไม่มีระหว่างคั่นนั้นแหละ จิตที่ชื่อว่าปฏิสนธิเพราะเนื่องด้วยสืบต่อชาติใหม่และชาติเก่าทั้ง ๒ ต่อกันมีสังขาร ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอวิชชานุสัยเป็นผู้ครอบครอง และมีตัณหานุสัยเป็นรากฐาน ตามสมควร แก่สังขารที่เป็นกุศลและอกุศลได้จัดการให้เกิดขึ้นนี้ ถือเอาอารมณ์ที่ได้ชื่อว่ากรรม กรรมนิมิต คตินิมิต ที่ฉทวาริกมรณาสันนชวนะรับเอามาตามอาการที่ปรากฏในทวารใดทวารหนึ่งในบรรดาทวารทั้ง ๖ จะมีวัตถุเป็นที่อาศัยก็ตาม ไม่มีวัตถุเป็นที่อาศัยก็ตาม และเป็นจิตอันสัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีผัสสะ เวทนา เป็นต้น เป็นบริวารแวดล้อม ทั้งเป็นประธาน เพราะเป็นที่ตั้งของเจตสิกและกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนตั้งอยู่ในภพใหม่ทันทีที่เกิดขึ้นนั้นเอง
ปฏิสนธิจิตที่เป็นจิตเกิดในภพใหม่นี้มีอารมณ์เป็นอันเดียวกันกับอารมณ์ของมรณาสันนชวนะที่เกิดในภพก่อนเสมอ ฉะนั้นถ้าอารมณ์ของมรณาสันนชวนะเป็นกรรมอารมณ์ อารมณ์ของปฏิสนธิจิตก็เป็นกรรมอารมณ์เช่นกัน ถ้าเป็นกรรมนิมิตหรือคตินิมิตอารมณ์ของปฏิสนธิจิตก็เป็นกรรมนิมิตหรือคตินิมิตเช่นกัน สำหรับจุติจิตในภพเก่าที่เกิดในมรณาสันนวิถีอารมณ์เป็นอันเดียวกันกับอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในภพเก่านั้นเอง ฉะนั้นการเปลี่ยนอารมณ์คือนิมิตทั้ง ๓ ในระหว่างภพเก่ากับภพใหม่นั้นก็คงเปลี่ยนกันตรงที่ปฏิสนธิจิต
ปฏิสนธิที่มีสังขาร ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึงมีอวิชชานุสัยผู้เป็นครอบครอง และมีตัณหานุสัยเป็นรากฐานจัดการให้เกิดขึ้น ที่ว่า “อวิชฺชานุสยปริกฺขิตฺเตน สงฺขาเรน” “สังขาร ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอวิชชานุสัยเป็นผู้ครอบครอง” นั้น คือการกระทำด้วย กาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายที่สำเร็จเป็นบุญ บาป อันเป็นสังขารทำการจัดแจงให้ ปฏิสนธิเกิดในภพใหม่ได้นั้น จะต้องมีอวิชชาเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยเสมอไป ถ้าผู้กระทำการงานต่างๆ ไม่มีอวิชชาเกี่ยวเนื่องอยู่แล้ว การกระทำนั้นๆ ก็ไม่สำเร็จเป็นบุญ บาป เป็นแต่เพียงกิริยา คือการกระทำที่ให้สำเร็จลงเฉพาะหน้าเท่านั้น อุปมาเหมือนกับหญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ เมื่อร่วมกับสามีแล้ว การร่วมนี้ย่อมมีบุตรชายหญิงเกิดขึ้นได้ ครั้นประจำเดือนหมด การร่วมกันหาได้มีบุตรหญิงชายเกิดขึ้นได้ไม่ฉันใด การกระทำด้วย กาย วาจา ใจ ของผู้มี่ยังมีอวิชชานุสัยที่ทำให้สำเร็จเป็นบุญ บาป และการกระทำของผู้ที่ไม่มีอวิชชานุสัยที่ไม่ได้สำเร็จเป็นบุญ บาปก็ฉันนั้น
การครอบครองสังขารของอวิชชานี้มีอยู่ ๒ ประการ คือโดยปกตูปนิสสยกับสหชาตหมายความว่าถ้าสังขารของฝ่ายกุศล อวิชชาก็ครอบครองโดยความเป็นปกตูปนิสสยถ้าเป็นฝ่ายอกุศลก็ครอบครองโดยความเป็นสหชาต ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าอวิชชาเป็นปัจจัย ช่วยอุปการะแก่กุศลสังขารด้วยอำนาจปกตูปนิสสย และเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อกุศลสังขารด้วยอำนาจสหชาต การเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กุศลสังขารนั้นยังเป็นอนุสัยอยู่ส่วนการเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อกุศลสังขารนั้นมิใช่เป็นอนุสัย หากแต่เป็นตัวอวิชชาเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นการที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงว่า “อวิชฺชานุสสยปริกฺขิตฺเตนํ” นี้ถ้าว่าในแง่กุศลสังขารก็เป็นการแสดงโดยตรง ถ้าว่าในแง่อกุศลสังขารก็เป็นการแสดงโดยอ้อมตามนัยแห่งสทิสูปจาร หมายความว่าอวิชชาที่เกิดขึ้นนี้ก็มีสภาพเช่นเดียวกันกับอวิชชาที่เป็นอนุสัยนั้นเอง
“สังขาร ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีตัณหาเป็นรากฐาน” นั้น คือการกระทำการงานด้วยกาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี มีทาน ศีล ภาวนา หรือสิ่งที่ไม่ดี มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้นก็ตามย่อมมีการหวังผลตอบแทนด้วยอำนาจแห่งตัณหาอยู่เสมอไปเป็นส่วนมาก ฉะนั้น เมื่อจะกล่าวโดยตรงแล้ว คนทั้งหลายในโลกนี้ถ้าไม่มีการหวังผลตอบแทนอันเป็นตัวเป็นตนตัณหาแล้วไซร้การงานต่างๆ ทางโลกไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว หรือส่วนรวม และการงานต่างๆ ทางธรรมที่ยังเกี่ยวกับโลก อันบุคคลได้ดำเนินก้าวหน้าอยู่อย่างไม่หยุดยั้งนั้น จะต้องชะงักหยุดหายไปหมดสิ้น มิอาจที่จะดำเนินไปได้เพราะไม่มีตัณหาหล่อเลี้ยง จะคงเหลืออยู่ก็แต่การงานที่เป็นทางธรรมที่ไม่เกี่ยวกับโลก อันได้แก่การเจริญวิปัสสนาของปุถุชนบางท่าน การเจริญวิปัสสนาของพระอริยะ การพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลส การเข้าผลสมาบัติ การเข้านิโรธสมาบัติเท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้โลกก็จะเงียบเหงา แห้งแล้งเปลี่ยวใจ ไม่ครึกครื้น ถ้าจะอุปมาแล้วก็เหมือนกับลมที่มีประจำเป็นธรรมดาทั่วทั้งสิบทิศ บังเอิญมาหยุดเสียเป็นไม่มีเลย คงมีแต่อากาศว่างเปล่าประมาณสักหนึ่งชั่วโมง เพียงเท่านี้สัตว์ทั้งหลายก็จะตายหมดสิ้น จะคงเหลือก็แค่สัตว์พิเศษที่อาศัยอยู่ใต้พื้นน้ำข้อนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าอำนาจแห่งตัณหานี้มีการกว้างขวางเพียงใด ดังนั้นถ้าหากอำนาจแห่งตัณหาของแต่ละบุคคลมีกำลังพอประมาณมีการจำกัดขอบเขตแล้ว ตัณหานี้ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ถ้าหากว่าตัณหาของแต่ละบุคคลมีกำลังแรงมากไม่รู้จักประมาณทำการเกินขอบเขตแล้วก็จะมีแต่ความพินาศยุ่งเหยิงเกิดขึ้น นำความเดือดร้อนเสียหายมาสู่หมู่คณะประเทศชาติ ศาสนา ทั้งที่เป็นส่วนตัวและส่วนรวม เหตุนี้แหละท้าวสักกเทวราชจึงได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับความยุ่งเหยิงของตัณหาว่า
อนฺโตชฏา พหิชฏา ชฏาย ชฏิตา ปชาตํ ตํ โคตม ปุจุฉามิ โก อิมํ วิชฏเย ชฏํฯ
“ข้าแต่พระสมณโคดม ตัณหาที่เหมือนกับหนี้มีสภาพยุ่ง ยากทั้งภายในและภายนอกแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ได้ รับความยุ่งยากอยู่นี้ก็เพราะเนื่องด้วยตัณหา ฉะนั้น ข้าพระองค์ ขอทูลถามว่า ใครหนอจะแก้ความยุ่งยาก คือตัณหานี้ได้”
เหตุนี้ การกระทำดีและการกระทำชั่วของคนทั้งหลาย อันเป็นสังขารที่อาศัยอวิชชาเป็นเหตุนี้ จึงเว้นเสียจากตัณหานี้มิได้ ฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงได้กล่าวว่า “ตณฺหานุสยมูลเกน สงฺขาเรน” “สังขาร ๓ ที่มีตัณหาเป็นรากฐาน”
ความเป็นรากฐานของสังขารแห่งตัณหานี้มีอยู่ ๒ ประการคือ ปกตูปนิสสยกับสหชาต ถ้าสังขารเป็นโทสมูล โมหมูล โลกียมูล ก็เป็นรากฐานโดยความเป็นปกตูปนิสสยถ้าเป็นโลภมูลก็เป็นรากฐานโดยความเป็นสหชาต ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าตัณหาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โทสมูล โมหมูล โลกียกุศลด้วยอำนาจปกตูปนิสสยและเป็นปัจจัยช่วยอุปการะโลภมูลด้วยอำนาจแห่งสหชาต การเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โทสมูล โมหมูล โลกียกุศล นั้นยังเป็นอนุสัยอยู่ ส่วนการเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โลภมูลนั้นมิใช่เป็นอนุสัย หากแต่เป็นตัวโลภะเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น การที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงว่า “ตณฺหานุสยมูลเกน” นี้ถ้าว่าในแง่โทสมูล โมหมูล โลกียกุศล ก็เป็นการแสดงโดยตรง ถ้าว่าในแง่โลภมูลก็เป็นการแสดงโดยอ้อมตามนัยแห่งสทิสูปจารนัย หมายความว่าตัณหาที่เกิดขึ้นนี้มีสภาพเช่นเดียวกันกับตัณหาที่เป็นอนุสัยนั้นเอง
“ยถารหํ” ตามสมควรแก่สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล” อธิบายว่าสังขาร ๓ ที่จัดการให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ระยะ คือกุศล อกุศลสังขารที่เกิดขึ้นในขณะทำดี ทำชั่ว เมื่อยังเป็นปกติอยู่อย่างหนึ่ง กุศล อกุศลสังขารที่เกิดขึ้นในมรณาสันนกาลที่มีชวนะ ๕ ครั้งอย่างหนึ่ง (ทั้ง ๒ ประการนี้ มรณาสันนกาลที่มีชวนเกิด ๕ ครั้งนั้นมิใช่มีแต่วิถีเดียวที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเท่านั้นก็หามิได้ หากแต่เกิดได้หลายสิบวิถีก่อนที่จะถึงวิถีสุดท้าย) ในระยะทั้ง ๒ นี้ กุศล อกุศลสังขารในระยะแรกจัดการให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภพใหม่โดยความเป็นชนกสัตติ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปกตูปนิสสยพิเศษ ในระยะหลังจัดการโดยความเป็นขีปนกะ (โยนทิ้ง) เป็นอุปถัมภกสัตติ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปกตูปนิสสยสามัญ
ที่แสดงว่ามีอวิชชานุสัยเป็นผู้ครอบครอง และมีตัณหานุสัยเป็นรากฐานตามสมควรแก่สังขารที่เป็นกุศล อกุศลนั้น การครอบครองการเป็นรากฐานของอวิชชาและตัณหาทั้งสองในสังขารที่เป็นบุคคล อกุศล ทั้ง ๒ ระยะนี้ไม่เหมือนกัน ดังนี้จะได้แสดงการครอบครองการเป็นรากฐานของอวิชชา และตัณหาทั้งสองในสังขารที่เป็นกุศล อกุศลระยะหลัง ดังต่อไปนี้ ส่วนการครอบครองการเป็นรากฐานของอวิชชาและตัณหาทั้งสองในสังขารที่เป็นกุศล อกุศลระยะแรกนั้น ได้แสดงมาแล้วในการพรรณนาเนื้อความแห่งข้อบาลีว่า “อวิชฺชานุสยปริกฺขิตฺเตน ตณฺหานุสยมูลเกน สงฺขาเรน ชนิยมานํ ปฏิสนฺธิสงฺขาตํมานสํ”
อวิชฺชา ตณฺหา สงฺขาร สหเชหิ อปายินํวิสยาทีนวจฺฉาทํ นามนํ ขิปนํ ปิจ,
อปฺปหีเนหิ เสสานํ ฉาทนํ นามนํ ปิจ
ขิปกา ปน สงฺขารา กุสลาว ภวนฺติหฯ
“อวิชชา ตัณหา สังขาร ที่เกิดพร้อมด้วยมรณาสันนชวนะ ของผู้ที่จะไปเกิดในอบายภูมินั้น ย่อมเป็นไปได้ ๓ ประการ คือปกปิดโทษของนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้นประการหนึ่ง ให้ ปฏิสนธิวิญญาณน้อมไปในนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้นประการ หนึ่ง โยนปฏิสนธิวิญญาณทิ้งไปในนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้น ประการหนึ่ง อวิชชาและตัณหาที่ยังประหาณไม่ได้ นอนเนื่องอยู่ ในขันธสันดานของผู้จะไปเกิดในสุคติภูมิเหล่านั้น ย่อมเป็นไปได้ ๒ ประการ คือปกปิดโทษของนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้นประการ หนึ่ง ให้ปฏิสนธิวิญญาณน้อมไปในนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้น ประการหนึ่ง ส่วนผู้ที่จะเกิดในสุคติภูมิ สังขารที่โยนปฏิสนธิ วิญญาณทิ้งไปในนิมิตมีกรรมเป็นต้นนั้น ได้แก่กุศลสังขารฝ่าย เดียวเท่านั้น”
ในคาถาทั้ง ๒ นี้ คาถาที่หนึ่งมี “อวิชฺชา ตณฺหา” เป็นต้นจนถึง “นามนํ ขิปนํ ปิจ” นั้น ได้แสดงถึงอวิชชา ตัณหานุสัย และอกุศลสังขารที่เกิดพร้อมกับมรณาสันนชวนะเป็นปัจจัย ช่วยหนุนปฏสนธิวิญญาณของผู้ที่จะไปเกิดในอบายภูมิ อธิบายว่า อวิชชนุสัยเป็นผู้ปกปิดโทษของนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้นนี้ เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัยแล้ว อวิชชาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน สำหรับตัณหานุสัยนั้นเป็นสภาพที่น้อมไปในอารมณ์อยู่แล้วเป็นธรรมดา ฉะนั้น จึงเป็นผู้ทำให้ปฏิสนธิวิญญาณที่เกี่ยวเนื่องกันกับตน น้อมไปในนิมิตอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มาปรากฏตามตนไปด้วย เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัยแล้ว ตัณหาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน อกุศลสังขารเป็นผู้โยนปฏิสนธิวิญญาณทิ้งไปในอารมณ์นั้น คือให้รับนิมิตอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มาปรากฏนั้นเอง เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัย แล้วอกุศลสังขารเป็นปกตูปนัสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน ข้อนี้ถ้าจะอุปมาแล้วก็เสมือนหนึ่งกับบุรุษที่ถูกศัตรู ๓ คนกระทำการกลุ้มรุมทำร้ายอยู่ โดยคนที่หนึ่งทำการผูกตา คนที่สองทำการบังคับให้ยกมือแล้วบอกว่าจะยึดเอาสิ่งของที่มีอยู่ตรงหน้านั้น คนที่สามเสือกไสผลักไป ข้อนี้ฉันใด การช่วยอุปการะระหว่างอวิชชา ตัณหา อกุศลสังขาร กับปฏิสนธิวิญญาณก็ฉันนั้น
สำหรับการครอบครองของอวิชชา และการเป็นรากฐานของตัณหาแห่งอกุศลสังขาร ในมรณาสันนชวนะนี้ ถ้ามรณาสันนชวนะเป็นโลภมูล อวิชชาและตัณหาเป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่อกุศลสังขารด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ถ้าเป็นโทสมูล โมหมูลชวนะแล้ว อวิชชาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อกุศลสังขารด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ตัณหาเป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่อกุศลสังขารด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย
คาถาที่สองมี “อปฺปหีเนหิ” เป็นต้นจนถึง “กุสลาว ภวนฺติห” นั้นได้แสดงถึง อวิชชา ตัณหานุสัง และอกุสลสังขาร เป็นปัจจัยช่วยหนุนปฏิสนธิวิญญาณของผู้ที่จะไปเกิดในสุคติภูมิ อธิบายว่าอวิชชานุสัยเป็นผู้ปกปิดโทษของนิมิตอารมณ์มีกรรมเป็นต้นนี้ เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัย อวิชชาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน สำหรับตัณหานุสัยนั้นเป็นสภาพที่น้อมไปในอารมณ์อยู่แล้วเป็นธรรมดา ฉะนั้นจึงเป็นผู้ทำให้ปฏิสนธิวิญญาณที่เกี่ยวเนื่องกันกับตนน้อมไปในนิมิตอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มาปรากฏตามตนไปด้วย เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัยแล้ว ตัณหาเป็นปกตูปนัสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน กุศลสังขารเป็นผู้โยนปฏิสนธิวิญญาณทิ้งไปในอารมณ์นั้น คือให้รับนิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่มาปรากฏนั้นเอง เมื่อว่าโดยเหตุและปัจจัยแล้ว กุศลสังขารเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุปบัน การอุปมาในข้อนี้ก็เหมือนกันกับที่ได้กล่าวแล้ว
สำหรับการครอบครองของอวิชชาและการเป็นรากฐานของตัณหาแห่งกุศลสังขาร ในมรณาสันนชวนะนี้ อวิชชาและตัณหาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแห่งกุศลสังขารด้วยอำนาจปกตูปนิสสยปัจจัย นี้แหละการครอบครองการเป็นรากฐานของอวิชชาและตัณหาทั้งสองในสังขารที่เป็นกุศล อกุศลระยะหลัง ฉะนั้นพระอนุรุทธาจารย์จึงได้กล่าวว่า “ยถารหํ” “ตามสมควรแก่สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล”
“สมฺปยุตฺเตหิ ปริคฺคยฺหมานํ” “เป็นจิตอันสัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีผัสสะ เวทนาเป็นต้น เป็นบริวารแวดล้อม” อธิบายว่าปฏิสนธิที่เกิดขึ้นนี้หาใช่เป็นจิตอย่างเดียวไม่ แต่หากเป็นเจตสิกเป็นบริวารแวดล้อม กล่าวคือ ประกอบอยู่ด้วยตามอำนาจแห่งสหชาตอัญญมัญญนิสสย เป็นไปตามสมควรแก่ปฏิสรธิจิตนั้นๆ
“สหชาตานมธิฏฐานภาเวน ปุพฺพงฺคมภูตํ” ทั้งเป็นประธานเพราะเป็นที่ตั้งของเจตสิกและกัมมชรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับตน” อธิบายว่าการเกิดขึ้นในภพใหม่แห่งปฏิสนธิจิต เจตสิก กัมมชรูป ทั้ง ๓ นี้ แม้ว่าจะได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่มีใครเกิดก่อนและเกิดหลังก็จริง แต่ทว่าปฏิสนธิจิตนี้ได้ตั้งอยู่โดยฐานะเป็นสหชาตนิสสยปัจจัย คือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งสหชาตธรรม มีเจตสิกและกัมมชรูป ดังนั้นท่านจึงได้กล่าวว่าเป็นประธาน
บาลีทั้งสองตอนมี “สมฺปยุตฺเตหิ ปริคฺคยฺหมานํ” และ “สหชาตานมธิฎฺฐานกาเวน ปุพฺพงฺคมภูตํ” นี้ได้แสดงให้ทราบถึงความสำคัญแห่งวิชานนลักขณา คือรู้อารมณ์เป็นพิเศษ เพราะปฏิสนธิจิตนี้ก็มีวิชานนลักขณาเช่นเดียวกับจิตอื่นๆ เหมือนกัน ส่วนลักษณะของเจตสิก ๕๒ มีผุสสนลักขณาเป็นต้นนี้ มีความสำคัญไม่เท่ากับวิชานนลักขณา ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าเว้นจากวิชานนลักขณาเสียแล้ว ผุสสนลักขณา เป็นต้นก็มีขึ้นไม่ได้ อุปมาเสมือนหนึ่งบุรุษอาชาไนยที่ได้บังเกิดขึ้นในโลก จะต้องมิ่งที่มีชีวิต คือวีรบุรุษบัณฑิต สตรี ช้าง ม้า เศรษฐีที่เป็นพิเศษ และสิ่งที่ไม่มีชีวิต คือสถานที่ที่อยู่อาศัย เครื่องประดับ ไม้ต้น ไม้ดอก อย่างวิจิตรพิสดารซึ่งเป็นบริวารมาบังเกิดพร้อมกันด้วยฉันใด การเกิดขึ้นแห่งปฏิสนธิจิตก็ต้องมีผัสสเจตสิก เป็นต้น อันเป็นองค์ประกอบและกัมมชรูปมีหทัยวัตถุรูป เป็นต้น อันเป็นที่อาศัย เป็นบริวารมาเกิดพร้อมกันกับตนก็ฉันนั้น
“ภวนฺตรปฏิสนฺธานวเสน ปฏิสนฺธิสงฺขาตํ มานสํ” “จิตที่ชื่อว่าปฏิสนธิก็เพราะเนื่องด้วยสืบต่อชาติใหม่และชาติเก่าทั้ง ๒ ต่อกัน” บาลีตอนนี้แสดงถึงนามลาภเหตุแห่งการได้ชื่อว่าปฏิสนธิ หรือแสดงถึงปวัตตินิมิต หมายความว่าเหตุแห่งการเป็นไปของจิตที่ชื่อว่าปฏิสนธิ อธิบายว่าเมื่อภพเก่าสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีวิญญาณหรือชีวิตวกกลาปเกิดต่อภพใหม่ชาติใหม่ก็ย่อมสิ้นสุดลง ความเป็นไปโดยที่ไม่มีวิญญาณหรือชีวิตนวกกลาปเกิดต่อเช่นนี้นั้น ยกพระอรหันต์เสียแล้ว บุคคลนอกนั้นจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม ปุถุชน อริยะก็ตาม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อตายลงวิปากวิญญาณย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่สืบต่อภพเก่ากับภพใหม่ทั้ง ๒ ต่อกัน ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าปฏิสนธิ ดังแสดงวจนัตถะว่า “ภวนฺตรํปฏิสนฺทหตีติ ปฏิสนฺธิ” วิปากวิญญาณอันใดย่อมทำหน้าที่สืบต่อซึ่งภพใหม่ ฉะนั้น วิปากวิญญาณนั้นชื่อว่าปฏิสนธิ
“อุปฺปชฺชมานเมว ปติฏฺฐาติ ภานฺตเร” ตั้งอยู่ในภพใหม่ทันทีขณะที่เกิดขึ้นนั้นเอง” คำว่า “เอว” ใน “อุปฺปชฺชมานเมว” นี้ เป็นการแสดงให้ทราบถึงภพใหม่ของปฏิสนธิว่าในอุปปาทักขณะ คือขณะเกิดแห่งปฏิสนธิจิตนั้นแหละเป็นการเกิดขึ้นแห่งภพใหม่แล้วหาใช่ว่าอุปปาทักขณะแห่งปฏิสนธิจิตยังเป็นภพเก่าอยู่ ต่อเมื่อถึงฐีติขณะ คือขณะตั้งอยู่แห่งปฏิสนธิจิตจึงจะเป็นภพใหม่ ดังนี้ก็หามิได้ แต่คนทั้งหลายก็กลับเข้าใจไปว่าเมื่อสัตว์ทั้งหลายตายลงนั้นยังมิได้เกิดในภพใหม่ทันที ยังแสวงหาภพอยู่ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความเป็นจริง การเป็นไปดังนี้ก็เพราะว่า บุคคลเหล่านี้มิได้มีการศึกษาเล่าเรียนถึงความเป็นไปในเรื่องเกิด เป็นอยู่ ตาย แห่งรูปนามขันธ์ ๕ ดีพอนั้นเอง ครั้นได้ประสบกับเหตุภายนอกที่น่าจะทำให้เข้าใจเขวไปได้เช่นนั้นเข้ามิจฉาธิโมกข์ คือความตัดสินใจผิดว่าสัตว์ทั้งหลายที่ตายไปแล้วนั้นยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นเหตุภายนอกที่น่าให้เข้าใจผิดนี้ก็มีอยู่ด้วยกัน ๒ ประการ คือ
๑. ผู้ที่ตายไปแล้วบางคนอาจมาแสดงตัวให้ผู้อื่นเห็นได้ โดยรูปร่างสัณฐานกิริยา อาการ ตลอดจนเครื่องแต่งกายก็คงเป็นไปเหมือนๆ กัน กับเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
๒. คำว่า “สมฺภเวสี” ในบทสวดมนต์เจ็ดตำนานฉบับหลวง แปลว่า “สัตว์ที่กำลังร่อนเร่แสวงหาที่เกิด” เมื่อคำแปลว่าดังนี้ ผู้ที่รู้บาลีก็ตาม ไม่รู้บาลีก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้วต่างก็พากันเข้าใจเขวไปว่า สัตว์ที่ตายนั้นยังแสวงหาภพใหม่อยู่ ยังไม่ได้เกิดก็มี สัตว์นั้นเรียกว่า “สมฺภเวสี” เหตุ ๒ ประการนี้ ความจริงก็มีอยู่ว่า
๑. ผู้ที่ตายไปแล้วมาแสดงตัวให้ผู้อื่นเห็นได้นั้นมิใช่ว่ายังไม่เกิด ล้วนแต่เกิดในภพใหม่แล้วด้วยกันทั้งสิ้น แต่การเกิดของเขาเหล่านี้มิได้เกิดในกำเนิดธรรมดา หากแต่เป็นการเกิดโดยโตทันที เรียกว่าโอปปาติกะกำเนิด ตามธรรมดาโอปปาติกะกำเนิดนั้นความรู้ ความจำในเรื่องภพเก่ายังไม่เลือนหาย ยังปรากฏชัดดีอยู่ ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นเปรตในหมู่บ้าน หรือเป็นวินิปาติกเทวดา คือเทวดาชั้นต่ำแล้ว อุปาทาน ๓ มีกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน อัตตวาทุปาทาน การยึดมั่นในความเป็นอยู่แห่งภพเก่าก็ปรากฏได้โดยทันที แล้วก็มาแสดงตัวให้ผู้อื่นเห็น ถ้าเป็นเปรตก็แสดงให้เห็นเป็นที่น่ากลัว ถ้าเป็นวินิปาติกเทวดาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างใดก็แสดงให้เห็นเป็นอย่างนั้น ถ้าผู้นั้นเกิดเป็นสัตว์ นรก อสุรกายเปรตที่อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ แม้ว่าอุปาทานการยึดมั่นในความเป็นอยู่ที่เกี่ยวกับภพเก่าจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะมาแสดงตัวให้ผู้อื่นเห็นได้ ถ้าเป็นเทวดาชั้นสูงประกอบด้วยความสุข อุปาทานการยึดมั่นในความเป็นอยู่เกี่ยวกับภพเก่าก็ไม่เกิดคงเกิดแต่อุปาทานการยึดมั่นในความเป็นอยู่ที่เกี่ยวกับภพใหม่ต่อไป
๒. สัตว์ที่ชื่อว่า “สมฺภเวสี” นั้น ก็ได้แก่ปุถุชน ๔ พระเสกขบุคคล ๓ ที่เป็นดังนี้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ก็มีความเกิดยังไม่สิ้นสุด ต้องแสวงหาภพชาติต่อๆ ไปอีกนั้นเอง คำว่า “สมฺภเวสี” นี้เป็นคำคู่กันกับคำว่า “ภูตา” ซึ่งมีแจ้งอยู่ในเมตาสูตร ดังที่พระพุทธองค์ ทรงเทศนาว่า
ทิฏฺฐา วา เยว อทิฏฺฐา เยว ทูเร วสนฺติ อิทูเร
ภูตา ว สมฺภเวสี ว สพฺพสตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตาฯ
แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดที่เราได้เคยเห็นมาแล้ว ก็ตาม (ทิฏฺฐา วา) ที่เราไม่เคยเห็นมาแล้วก็ตาม (อทิฏฺฐา วา) และสัตว์เหล่าใดที่อยู่ในที่ไกลจากเราก็ตาม (ทูเร วา) อยู่ในที่ ใกล้กับเราก็ตาม (อวิทูเร วา) และสัตว์ทั้งหลายที่ปราศจากกิเลส แต่เคยเกิดในภพชาติต่างๆ มาแล้วก็ตาม ปุถุชนและพระเสกข บุคคล ๓ ที่ยังต้องเกิดในภพชาติต่อๆ ไปอีกก็ตาม เหล่านั้นมิอยู่ สัตว์ทั้งหลายนั้นทั้งหมดจงมีความสุขสบาย
ความเห็นที่เป็นสัสตทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ
ในเรื่องการเกิดขึ้นในภพใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย
นักศึกษาหรือผู้ที่มิได้ศึกษาก็ตาม เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังการเกิดในภพใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย ดังที่แสดงว่า ตสฺสานนฺตรเมว ปฏิสนฺธิสงฺขาตํ มานสํ อุปฺปชฺชมานเมว ปติฏฺฐาติ ภวนฺตเร ในลำดับแห่งจุติจิตโดยไม่มีระหว่างคั่นนั้นแหละ ปฏิสนธิจิตตั้งอยู่ในภพใหม่ทันทีขณะที่เกิดขึ้นนั้นเอง ดังนี้แล้วสัสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งมักจะเกิดในใจโดยไม่รู้ตัว การที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าบุคคลเหล่านี้ยังมีสักกายทิฏฐิ ความยึดถือในรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตนมั่นคงอยู่นั้นเอง
การเกิดแห่งสัตตทิฏฐินั้นคือ เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องการเกิดขึ้นในภพใหม่ของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็มีความเห็นว่า กาย ใจ ที่เกิดในภพใหม่นั้นได้แก่ กาย ใจ ที่เป็นอยู่ในภพเก่านั้นเอง ความเห็นเช่นนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าแม้สัตว์ทั้งหลายจะได้ตายไปแล้ว แต่รูปนามของสัตว์นั้นคงเกิดขึ้นในภพใหม่สืบต่อกันไปโดยไม่ขาดสาย สำหรับการเกิดขึ้นแห่งอุจเฉททิฏฐินั้นมีความเห็นว่า กาย ใจ ที่เกิดขึ้นในภพใหม่นั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับกาย ใจ ในภพเก่าแต่ประการใด หากแต่ได้อาศัยบิดามารดาแล้วก็เกิดขึ้น ความเห็นเช่นนี้เรียกว่ารูปนามในภพใหม่มิได้เกี่ยวเนื่อง กันกับรูปนามในภพเก่า
ส่วนผู้ที่ไม่มีสักกายทิฏฐิอันได้แก่พระอริยเจ้าทั้งหลาย และผู้ที่มีสักกายทิฏฐิอยู่แต่มีความเข้าใจในความเป็นไปแห่งรูปนามเหล่านั้น ครั้นได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องการเกิดขึ้นในภพใหม่ของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นตัวปัญญาย่อมเกิดขึ้นโดยเห็นว่ารูปนามที่เกิดอยู่ภายในสัตว์ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เมื่อเกิดขึ้นในที่ใด ขณะใดก็ย่อมดับลงในที่นั้นขณะนั้น หาได้โยกย้ายเคลื่อนที่ โดยเกิดตรงนี้แล้วก็ดับ ณ ที่อื่นดังนี้หามิได้ ดังนั้นเมื่อสัตว์ทั้งหลายตายลง รูปนามในภพเก่าก็ย่อมดับลงในภพเก่าหาได้ไปเกิดสืบต่อเนื่องถึงในภพใหม่ได้อีกไม่ ทั้งมีการเห็นว่ารูปนามที่เกิดในภพใหม่นั้นถึงจะมิใช่เป็นรูปนามในภพเก่าเกิดสืบต่อเนื่องมาก็จริง แต่การเกิดขึ้นแห่งรูปนามในภพใหม่นี้ ก็มีสัมพันธ์เกี่ยวโยงเนื่องมาจากภพเก่าด้วยเหมือนกัน ดังที่แสดงไว้ในตอนที่ว่า “อวิชฺชนุสยปริกฺขิตฺเตน ตณฺหานุสยมูลเกน สงฺขาเรน” หมายความว่าการเกิดขึ้นแห่งปฏิสนธิวิญญาณในภพใหม่นั้นมีการเกี่ยวเนื่องกับธรรมที่เป็นเหตุในภพเก่า อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา สังขาร ดังนั้นเมื่อจะเปรียบเทียบแล้วก็จะพึงเห็นได้ว่าเหมือนกันกับเสียงที่ดังก้องหรือไฟเทียนที่จุดต่อๆ กันไป หรือดวงตราที่ประทับไว้ อธิบายว่า เสียงที่ดังก้องขึ้นนั้นหาใช่เป็นเสียงของผู้ตะโกนมาปรากฏขึ้นโดยตรงไม่ เพียงแต่เป็นเสียงที่เนื่องมาจาก เสียงที่ได้ตะโกนขึ้นเท่านั้น ไฟเทียนที่จุดต่อๆ กันไป ไฟเก่าหาได้มีการโยกย้ายตามไฟใหม่ไปไม่ เพียงแต่สืบต่อเนื่องมาจากไฟเก่าเท่านั้น ดวงตราที่ประทับไว้ก็เช่นกัน คือหาใช่เป็นตัวตราติดไปไม่ เพียงแต่เกี่ยวเนื่องกันกับตัวตราเท่านั้น
อารมณ์ของกามปฏิสนธิจิต
ในเรื่องจุติและปฏิสนธินี้ สำหรับในมรณาสันนวิถี ชวนะที่มีกำลังอ่อนพึงเกิดขึ้นได้ เพียง ๕ ครั้งเท่านั้น เพราะการเกิดขึ้นของชวนจิตเหล่านี้มีกำลังลดน้อยลง ฉะนั้นถ้าตายลงในเมื่ออารมณ์ซึ่งเป็นปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้า และยังตั้งอยู่
ในเวลานั้นแม้อารมณ์ของปฏิสนธิจิตและภวังคจิตที่เกิดต่อกัน (อย่างมาก ๖ ครั้ง) ก็ได้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันเหมือนกัน เพราะฉะนั้น กรรมนิมิตอารมณ์และคตินิมิตอารมณ์ ของกามาวจรปฏิสนธิที่มรณาสันนชวนะรับมาด้วยทวารทั้ง ๖ นี้เป็นปัจจุบันอารมณ์ก็ได้หรือเป็นอดีตอารมณ์ก็ได้
ส่วนกรรมอารมณ์ของกามาวจรปฏิสนธินั้น ต้องเป็นอดีตอารมณ์อย่างเดียวและต้องได้รับมาโดยมรณาสันนชวนะในมโนทวาร เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว กรรม กรรมนิมิต คตินิมิตอารมณ์ของกามปฏิสนธิเหล่านี้ เป็นอารมณ์ที่เป็นกามธรรมทั้งสิ้น
มนฺทปฺปวตฺตานิ เพราะการเกิดขึ้นของชวนจิตเหล่านี้มีกำลังลดน้อยลง (ในเมื่อใกล้จะตาย) การเกิดขึ้นเป็นกำลังอ่อนแล้วชื่อว่า มนฺทปฺปวตฺติ ได้แก่ชวนจิต (ตานิ มนฺทปฺปวตฺตานิ) การเกิดขึ้นที่เป็นกำลังอ่อนเหล่านั้น ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าเวลานั้นกระแสจิตมีกำลังอ่อน ทั้งหทัยวัตถุอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต เจตสิกทั้งหลายก็มีกำลังน้อย ในการที่กระแสจิตที่กำลังอ่อนลงก็ดี หทัยวัตถุอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต เจตสิกทั้งหลายมีกำลังน้อยลงก็ดี เมื่อจะสาวหาสมุฏฐานแล้วก็มิต้องสาวให้ไกลออกไป ควรจะสาวหาที่ใกล้ๆ คือเวลาใกล้จะตายนั้นเองเป็นสาเหตุ
ชวนะพึงเกิดได้เพียง ๕ ครั้งเท่านั้น ชวนะที่เกิดขึ้นเพียง ๕ ครั้ง นั้นก็เพราะว่าเป็นเวลาใกล้จะตายนั้นเอง และมุ่งหมายเอาแต่กามชวนะอย่างเดียว สำหรับอัปปนาชวนะนั้นไม่เกี่ยว ตามธรรมดากามชวนะที่จะให้สำเร็จเป็นการพูด คิด ได้นั้นจะต้องเกิดขึ้นถึง ๗ ขณะเสมอไป เว้นไว้แต่ผู้มีปัญญาบารมี บางครั้งก็เกิดเพียง ๖ ขณะ การงานก็สำเร็จลงได้ สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและอัครสาวกนั้นเกิดขึ้นเพียง ๔ ขณะ ๕ ขณะการงานก็สำเร็จลง ที่ว่ามานี้หาใช่เป็นการงานทั่วๆ ไปไม่ คงเป็นไปได้เฉพาะแต่การงานที่เป็นกรณีพิเศษโดยมีสติ ปัญญาเป็นประธานเท่านั้น ข้อนี้หมายความว่าการงานที่สำเร็จจากอกุศลชวนะ ๖ ขณะ มีสติ ปัญญาเป็น เครื่องอุดหนุนมหากุศลชวนะ ๖ ขณะ มหากิริยาชวนะ ๔ – ๕ ขณะ มีสติ ปัญญาเป็นประธาน ด้วยเหตุนี้ชวนะที่เกิดขึ้นเพียง ๕ ครั้งแก่ผู้ที่ใกล้จะตายนั้น อย่าว่าแต่การเคลื่อนไหวทางกาย วาจา เลยแม้แต่การคิดนึกด้วยใจก็ไม่มี คือหมดความรู้สึกทั้งมวล
ฉะนั้น ถ้าตายลงในเมื่ออารมณ์ซึ่งเป็นปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้าและยังตั้งอยู่” ใจความตอนนี้มีการคาดคะเนในเรื่องการตาย เพื่อจะได้ทราบถึงอารมณ์ของปฏิสนธิจิตและภวังคจิตที่เกิดต่อกัน ที่กล่าวว่าอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้าและยังตั้งอยู่คำกล่าวนี้มุ่งหมายเอารูปอารมณ์ ได้แก่สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่านั้น หาได้หมายเอานามอารมณ์ คือความยินดี ยินร้าย ความเลื่อมใส ความรู้ เป็นต้นแต่ประการใดไม่เพราะปัจจุบันนามธรรมที่เป็นพหิทธะ คือความยินดี ยินร้าย ความเลื่อมใส ความรู้ เป็นต้น ที่เกิดอยู่ภายในของคนอื่นนั้น แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ของมรณาสันนชวนะได้ก็จริงแต่ก็มิอาจที่จะตั้งอยู่จนกระทั่งถึงจุติจิตดับลง สำหรับปัจจุบันธรรมที่เกิดอยู่ภายในสันดานของตนนั้นก็มิอาจที่จะเป็นอารมณ์ของมรณาสันนชวนะได้ คงได้แต่นามธรรมที่เป็นอดีตเท่านั้น
เพราะฉะนั้นกรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ของกามาวจรปฏิสนธิที่มรณาสันนชวนะรับมาด้วยทวารทั้ง ๖ นี้ เป็นปัจจุบันอารมณ์ก็ได้ หรือเป็นอดีตอารมณ์ก็ได้ ส่วนกรรมอารมณ์ของกามาวจรปฏิสนธินั้นต้องเป็นอดีตอารมณ์อย่างเดียว และต้องได้รับมาโดยมรณาสันนชวนะในมโนทวาร เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว กรรม กรรมนิมิต คตินิมิตอารมณ์ของกามาวจรปฏิสนธิเหล่านี้เป็นอารมณ์ ที่เป็นกามธรรมทั้งสิ้น
รูปธรรมารมณ์กรรมนิมิต คตินิมิต หมายเอา อาโป ปสาทรูป ภาวนารูป หทัยรูป ชีวิตรูป อาหารรูป ภายนอก ภายใน อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเอง คือผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน หรือพรหมที่จะลงมาเกิดในกามภูมิที่มีการพิจารณาอวัยวะน้อยใหญ่หรือธาตุทั้ง ๔ ครั้นใกล้จะตายก็มีการนึกคิดพิจารณาในสิ่งเหล่านี้อันเป็นกรรมนิมิต ธรรมารมณ์เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่จะไปเกิดในอบายภูมิก็มีการคิดนึกในอวัยวะน้อยใหญ่ของตนและของคนอื่นด้วยโลภะ โทสะ อันเป็นกรรมนิมิต ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ส่วนคตินิมิตธรรมารมณ์นั้น ผู้ใกล้จะตายมีความนึกคิด อยู่ในอวัยวะน้อยใหญ่ หรือธาตุทั้ง ๔ ของสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นคตินิมิตกำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ฉะนั้นถ้ารูปธรรมารมณ์เหล่านี้ยังตั้งอยู่จนกระทั่งถึงจุติจิตดับ กามาวจรปฏิสนธิก็มีปัจจุบันธรรมารมณ์เป็นอารมณ์ ถ้าดับลงก่อนจุติจิต หรือดับพร้อมๆ กันกับจุติจิต กามาวจรปฏิสนธิจิตก็มีอดีตธรรมารมณ์เป็นอารมณ์
นามนิมิตและคตินิมิตนั้น ได้แก่ความสุขทุกข์ ยินดียินร้าย ความเขลา ความฉลาด ความเลื่อมใส ความสงสารเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเอง คือผู้ใกล้จะตายที่มี นามกรรมนิมิตปรากฏนั้น ในเวลานั้นจิตใจก็มีการพะวงฝักใฝ่อยู่ในเรื่องสุข ทุกข์ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวนี้แล้วก็ตายไป ส่วนนามคตินิมิตนั้นผู้ใกล้จะตายมีจิตใจนึกไปในเรื่องสุข ทุกข์ เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วที่เกี่ยวกับตน และคนอื่นที่มีสภาพโดยความเป็นคตินิมิตที่มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าแล้วก็ตายไป กามาวจรปฏิสนธิจิตของบุคคลประเภทนี้ก็มีนามกรรมนิมิตที่เป็นอดีตอย่างเดียวเป็นอารมณ์
อีกประการหนึ่ง ในเวลาใกล้จะตายนั้น อารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในภพก่อนๆๆ ยังมาปรากฏได้อีกเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าอารมณ์เหล่านี้มาปรากฏ กามาวจรปฏิสนธิจิตก็มีกรรมนิมิตที่เป็นอารมณ์ สำหรับกรรมอารมณ์นั้นเป็นกุศล อกุศลเจตนาที่เคยเกิดมาแล้วในสันดานของผู้ใกล้จะตายในภพนี้หรือในภพก่อน ดังนั้นถ้ากุศล อกุศลเจตนาเหล่านี้มาปรากฏในเวลาที่ใกล้จะตายแล้ว ก็เป็นธรรมารมณ์ปรากฏทางใจและเป็นอดีตอย่างเดียว ไม่มีประเภทต่างๆ เหมือนกับกรรมนิมิต คตินิมิตแต่ประการใด
อารมณ์ของรูปปฏิสนธิจิตและอรูปปฏิสนธิจิต
ส่วนอารมณ์ของรูปาวจรปฏิสนธินั้น เป็นกรรมนิมิตที่เป็นบัญญัติอย่างเดียว
อารมณ์ของรูปาวจรปฏิสนธิ ก็เป็นกรรมนิมิตที่เป็นมหัคคตะและบัญญัติเป็นอารมณ์เหมือนกัน ตามสมควรแก่ฌาน
ส่วนปฏิสนธิของพวกอสัญญสัตตพรหม ชีวิตนวกกลาปนั้นแหละย่อมตั้งอยู่ได้โดยความเป็นปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นอสัญญสัตตพรหมเหล่านั้นจึงชื่อว่าผู้มีรูปเป็นปฏิสนธิ
อรูปพรหมทั้งหลายเป็นพวกที่มีนามเป็นปฏิสนธิ กามบุคคลและรูปบุคคลที่เหลือจากอสัญญสัตตพรหมและอรูปพรหมเหล่านั้น เป็นพวกที่มีรูปและนามทั้ง ๒ อย่างเป็นปฏิสนธิ
รูปาวจรปฏิสนธินี้มีอยู่ด้วยกัน ๖ อย่าง คือนามปฏิสนธิ ๕ ได้แก่รูปาวจรวิปากจิต ๕ เจตสิกที่ประกอบ และรูปปฏิสนธิ ๑ ได้แก่ชีวิตนวกกลาป รูปาวจรปฏิสนธิในที่นี้คงหมายเอาเฉพาะแต่นามปฏิสนธิ ๕ เท่านั้น รูปปฏิสนธิจิต ๕ เหล่านี้ย่อมเกิดแก่รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตาภูมิ) ในขณะปฏิสนธิกาล และเป็นผลที่เกิดจากรูปาวจรกุศลฌาน ๕ (เว้น กุศลอภิญญา) ดังนั้นการที่รูปปฏิสนธิจิต ๕ จะมีนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ได้นั้น ก็ต้องแล้วแต่รูปาวจรกุศลฌาน ๕ (เว้นอภิญญา) นั้นเอง
อนึ่ง ในการที่รูปาวจรกุศลฌาน ๕ ส่งผลปฏิสนธิโดยแน่นอนในรูปภูมิตามลำดับชั้นนั้น ก้เพราะรูปาวจรกุศลฌาน ๕ นี้เป็นครุกกรรมที่มีอัปปนาสมาธิเป็นประธานทั้งอารมณ์ที่ทำให้เกิด ก็ต้องเป็นอารมณ์โดยเฉพาะ ซึ่งได้แก่บัญญัติกรรมฐาน ตรงกันข้ามกับการเกิดขึ้นของอกุสล และมหากุศลกรรมที่มีอารมณ์ไม่จำกัดแล้วแต่มนสิการคืออโยนิโสหรือโยนิโส ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ฌานเมื่อเวลาใกล้จะตาย อกุศลกรรมและมหากุศลกรรมที่เคยกระทำมาแล้วแต่ครั้งก่อนๆ ย่อมมาปรากฏทางใจ โดยทำให้กระแสจิตมีความเดือดร้อน ขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือผ่องใสชื่นบานเป็นไปได้ สำหรับผู้ที่ได้ฌานเมื่อเวลาใกล้จะตาย อกุศลกรรมและมหากุศลกรรมที่เคยกระทำมาแล้วแต่ครั้งก่อนๆ มิอาจที่จะมาปรากฏทางใจได้ คงได้แต่บัญญัติกรรมฐานที่ตนได้เจริญมาเท่านั้น และบัญญัติกรรมฐานที่ตนได้เจริญมาเท่านั้น และบัญญัติกรรมฐานนี้ก็หาใช่เป็นกรรมอารมณ์แต่ประการใดไม่ คงเป็นแต่กรรมนิมิตธรรมารมณ์อย่างเดียว ฉะนั้นรูปปฏิสนธิจิต ๕ นี้จึงไม่มีกรรมเป็นอารมณ์ คงได้แต่กรรมนิมิตที่เป็นบัญญัติธรรมารมณ์อย่างเดียว
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่ามรณาสันนวิถีของมนุษย์ เทวดาที่จะไปเกิดในรูปภูมิ และมรณาสันนวิถีของรูปพรหมที่จะเกิดในรูปภูมิอีกก็ดี เหล่านี้จะมีนิมิตอารมณ์หลายประเภท หลายอย่างไม่ได้ คงมีได้แต่ประเภทเดียว คือกรรมนิมิตที่เป็นบัญญัติ ธรรมารมณ์โดยแน่นอนเสมอไป สำหรับกาลก็ปรากฏโดยแจ้งชัดแล้วว่าเป็นกาลวิมุติ ซึ่งตรงกันข้ามกับมรณาสันนวิถีของกามบุคคลที่จะเกิดในกามภูมิ และมรณาสันนวิถีของรูปบุคคลที่ลงมาเกิดในกามภูมิโดยมีนิมิตอารมณ์ไม่จำกัด
อรูปปฏิสนธินี้ มีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง ได้แก่อรูปาวจรวิปากจิต ๔ นั้นเอง มิใช่แต่รูปปฏิสนธิจิตเท่านั้นที่มีกรรมนิมิตเป็นอารมณ์ แม้อรูปปฏิสนธิก็มีกรรมนิมิตเป็นอารมณ์เหมือนกัน จะมีกรรมเป็นอารมณ์หรือคตินิมิตเป็นอารมณ์ไม่ได้ การพิจารณาถึงเหตุที่เป็นไปดังนี้นั้น ก็คงได้ความเช่นเดียวกันกับที่ได้พิจารณาไว้แล้วในอารมณ์ของรูปปฏิสนธิจิตนั้นเอง
กรรมนิมิตของอรูปปฏิสนธิมีอยู่ ๒ ประการ คือ มหัคคตกรรมนิมิต ได้แก่ อากาสานัญจายตนกุศลฌาน และอากิญจัญญายตนกุศลฌานที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสันดานของตนในภพก่อน บัญญัติกรรมนิมิตได้แก่อากาสบัญญัติที่ได้มาด้วยการเพิกจากกสิณ ๙ ที่นอกจากอากาสกสิณ และนัตถิภาวบัญญัติ ความไม่มีแห่งอากาสานัญจายตนฌานที่เป็นอารมณ์ของวิญญานัญจายตนฌาน
กล่าวว่าอรูปปฏิสนธิ ๔ มีกรรมนิมิตที่เป็นมหัคคตะและบัญญัติเป็นอารมณ์นั้น หาได้หมายว่าอรูปปฏิสนธิทั้ง ๔ นี้ บางทีก็มีมหัคคตธรรมเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้น บางทีก็มีบัญญัติธรรมเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้นดังนี้ก็หามิได้ แต่คงหมายเอาว่าเป็นไปต่างๆ กันโดยเฉพาะของตนๆ กล่าวคืออากาสานัญจายตนวิปากจิต มีอากาสบัญญัติเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้น วิญญาณนัญจายตนวิบากจิตมีอากาสานัญจายตนกุศลฌานเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้น อากิญจัญญายตนวิปากจิตมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้น เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิตมีอากิญจัญญายตนกุศลฌานเป็นอารมณ์แล้วก็เกิดขึ้น
ปฏิสนธิของพวกอสัญญสัตตพรหม ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานด้วยการเจริญกสิณ ๑๐ หรืออานาปานสติ หรืออุเบกขาพรหมวิหารก็ตาม ถ้าภายในจิตใจของผู้เจริญนั้นไม่มีความยินดีพอใจในการรู้สึกนึกคิด คือนามธรรมแล้ว ก็เรียกฌานนี้ว่าปัญจมฌาน ที่สำเร็จด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคภาวนาเหตุนี้เมื่อฌานลาภีผู้นี้ตายลง ก็ไปบังเกิดในอสัญญสัตตาภูมิ มีรูปเป็นปฏิสนธิอย่างเดียว ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป ไม่มีนามปฏิสนธิ
อนึ่ง ในมรณสันนวิถีของผู้ที่จะได้ไปเกิดในอสัญญสัตตภูมินั้น กรรมนิมิตบัญญัติธรรมารมณ์ก็คงปรากฏอยู่ แต่เมื่อถึงตอนที่เกิดขึ้นในอสัญญสัตตภูมิแล้วอารมณ์นี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะไม่มีนามปฏิสนธิ
อสัญญสัตตพรหมทั้งหลายมีรูปเป็นปฏิสนธิ เมื่อจัดเป็นขันธ์แล้ว ได้รูปขันธ์อย่างเดียว ดังนั้นอสัญญสัตตภูมิจึงเรียกว่าเอกโวการภูมิ อรูปพรหมทั้งหลายมีนามเป็นปฏิสนธิ เมื่อจัดเป็นขันธ์แล้วได้นามขันธ์ ๔ ดังนั้นอรูปภูมิ ๔ จึงเรียกว่า จตุโวการภูมิ ผู้ที่เกิดใน ๒๖ ภูมิที่เหลือ มีรูปและนามเป็นปฏิสนธิ เมื่อจัดเป็นขันธ์แล้วได้ขันธ์ ๕ ดังนั้น อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) จึงเรียกว่าปัญจโวการภูมิ
ปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นต่อจากจุติจิต
หลังจากที่อรูปาวจรจุติจิต ๔ ดวงเกิด อรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๔ เว้นอรูปาวจรปฏิสนธิจิตเบื้องต่ำ และกามติเหตุกปฏิสนธิจิต ๔ ดวง เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้ หลังจากที่รูปาวจรจุติจิต ๕ ดวงเกิด ปฏิสนธิจิต ๑๗ ดวง ที่นอกจากอเหตุกปฏิสนธิ ๒ ย่อมเกิดขึ้นได้ หลังจากที่กามติเหตุกจุติจิต ๔ ดวงเกิด ปฏิสนธิทั้งหมด คือนามปฏิสนธิ ๑๙ และรูปปฏิสนธิ ๑ ย่อมเกิดขึ้นได้ ส่วนภายหลังจากจุติจิตที่เหลือ คืออเหตุกจุติจิต ๒ และทวิเหตุกจุติจิต ๔ เกิด กาปฏิสนธิจิต ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น
เมื่ออรูปพรหมทั้งหลายตายแล้ว เกิดเป็นอรูปพรหมในภูมินั้นอีกก็ได้ หรือจะเกิดในภูมิเบื้องบนก็ได้ แต่ไม่เกิดในภูมิที่ต่ำกว่า มิฉะนั้นก็บังเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาที่มีปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ
รูปพรหม อรูปพรหมทั้งหลายเมื่อตายแล้วถ้าไม่ได้ฌาน ก็จะมาบังเกิดในกามภูมินั้น คงเป็นได้เฉพาะแต่พรหมปุถุชนเท่านั้น สำหรับพรหมอริยะทั้งหลายนั้นแม้พระโสดาบันก็ไม่กลับมาเกิดในกามภูมิ เพราะจะต้องได้ฌานแน่นอนเรียกว่าฌานอนาคามี และพรหมอริยะในรูปภูมินี้ เมื่อเกิดในภูมิเบื้องสูงแล้ว ก็ไม่มีการลงมาบังเกิดในรูป
เมื่อมนุษย์ เทวดาที่ปฏิสนธิเป็นไตรเหตุเหล่านี้ตายแล้ว ถ้าได้ฌานก็เกิดในพรหมภูมิ ๒๐ มีนามปฏิสนธิ รูปปฏิสนธิ หรือมีนามรูปปฏิสนธิแล้วแต่ฌานที่ได้และตามความเป็นปุถุชนหรืออริยบุคคล ถ้าไม่ได้ฌานก็จะเกิดในกามภูมิ ๑๑ โดยความเป็น เทวดา มนุษย์ หรือเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน เป็นติเหตุกปฏิสนธิ ทวิเหตุกปฏิสนธิ หรืออเหตุกปฏิสนธิ แล้วแต่กุศล อกุศลกรรมที่ตนกระทำไว้ได้โอกาสส่งผล เมื่อสรุปแล้วคงได้ความว่ามนุษย์ เทวดา มีปฏิสนธิเป็นไตรเหตุเหล่านี้ เมื่อตายลงคงเกิดในภูมิทั่วๆ ไปไม่มีเว้น โดยมีปฏิสนธิเป็นไปตามภูมินั้นๆ คือได้สนธิทั้ง ๒๐ การเป็นไปได้ดังนี้ก็เพราะว่าบุคคลประเภทนี้ถ้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาก็จะเป็นอริยบุคคลได้ ถ้าเจริญสมถภาวนาก็จะเป็นฌานลาภี อภิญญาลาภีบุคคลได้ ถ้าทำแต่เพียงทาน ศีล ภาวนาที่เป็นสามัญก็จะเป็นมนุษย์ เทวดา ชั้นกลาง ชั้นสูง ชั้นต่ำได้ ถ้าทำทุจริตทุราชีพก็จะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉานได้ แล้วแต่ความสมัครใจของตนเป็นไปตามที่ได้คบหาสมาคม และเชื้อวงค์พงษ์เผ่าเหล่ากอ หรือได้รับการอบรมมา
เมื่อมนุษย์ เทวดามีปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกับอเหตุ และสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน ที่ปฏิสนธิเป็นอเหตุก็ดีเหล่านี้ตายแล้ว ย่อมเกิดได้เฉพาะแต่ในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น โดยความเป็นมนุษย์ เทวดาชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำหรือเป็นอบายสัตว์ เป็นติเหตุกปฏิสนธิ ทวิเหตุกปฏิสนธิ หรืออเหตุกปฏิสนธิ หรืออเหตุกปฏิสนธิแล้วแต่กุศล อกุศลกรรมที่ตนกระทำได้โอกาสส่งผล
การที่บุคคลประเภทนี้เกิดได้แต่ในกามภูมิ ๑๑ นั้น ก็เพราะว่าในบรรดาบุคคลเหล่านี้ แม้ว่าบุคคลที่เป็นมนุษย์ เทวดาจะมีโอกาสปฏิบัติสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาได้ก็จริง แต่ก็มิอาจที่จะสำเร็จเป็นอริยะบุคคล ฌานลาภี อภิญญาลาภีได้ คงเป็นแต่ปุถุชนอยู่ตามเดิมจนถึงตาย สำหรับอบายสัตว์นั้นเล่าก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะปฏิบัติสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนาได้
การเกิดขึ้นของภวังคจิตและจุติจิต
ตั้งแต่การดับลงแห่งปฏิสนธิจิตโดยไม่มีระหว่างคั่นของผู้ที่ถือเอาปฏิสนธิในภพใหม่โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อขณะที่วิถีจิตไม่เกิด ปฏิสนธิจิตนั้นแหละถือเอาอารมณ์ของปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นในภพใหม่นั้นเอง กลับเป็นจิตที่เรียกว่ากระแสภวังค์โดยความเป็นองค์แห่งภพเกิดขึ้นไม่ขาดสาย ตลอดจนถึงจุติจิตเกิดเสมือนหนึ่งกระแสน้ำในแม่น้ำ และในที่สุดแห่งปัจจุบันภพ ภวังคจิตนั้นแหละถือเอาอารมณ์ของปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นในภพใหม่นั้นเองแล้วกลับเป็นจุติจิต ด้วยอำนาจแห่งการเคลื่อนจากภพเก่าแล้วก็ดับลง
ปฏิสนธิจิตนั้นแหละถือเอาอารมณ์ของปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นในภพใหม่นั้นเองแล้วก็กลับบ้าน จิตที่เรียกว่ากระแสภวังค์เกิดอยู่และกลับเป็นจุติจิตแล้วก็ดับลง
จิตที่เกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิจิตได้ดับลงนั้น คงได้แก่ภวังคจิตเท่านั้นที่เกิดขึ้นสืบต่อกันเป็นจำนวน ๑๕ หรือ ๑๖ ครั้งเสมอไป แต่ภวังคจิตที่เกิดขึ้นนี้เมื่อว่าโดยภูมิชาติ สัมปโยค เวทนา สังขารแล้วก็เหมือนกันกับปฏิสนธิจิตทุกประการ กล่าวคือปฏิสนธิจิตเป็นกามาวจร ภวังคจิตเป็นกามาวจร เป็นอเหตุกวิปาก ภวังคจิตก็เป็น สเหตุกวิปาก หรืออเหตุกวิปากเช่นกัน ถ้าเป็นฌานวิปยุตต์ ภวังคจิตก็เป็นฌานวิปยุตต์ ถ้าเกิดพร้อมด้วยโสมนัส หรืออุเบกขาภวังคจิตก็เกิดพร้อมด้วยโสมนัส หรือ อุเบกขาเหมือนกัน ถ้าเป็นอสังขาริก ภวังคจิตก็เป็นอสังขาริก
คำว่า “ตเมวารมฺมณมารพฺภ คือ ตํ + เอว + อารมฺมณํ + อารพฺภ” ถือเอาอารมณ์ของปฏิสนธิจิตนั้นเอง” ความว่าถ้าปฏิสนธิจิตมีกุศล หรืออกุศลกรรมเป็นอารมณ์ ภวังคจิตที่เกิดอยู่ตลอดภพและจุติจิตก็มีกุศลกรรมเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน ถ้ามีรูปารมณ์หรือสัททารมณ์กรรมนิมิตเป็นอารมณ์ ภวังคจิตที่เกิดอยู่ตลอดภพ และจุติจิตก็มีรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์กรรมนิมิเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน ถ้ามีคตินิมิตรูปารมณ์เช่นเดียวกัน หรือสัททารมณ์เป็นอารมณ์ ภวังคจิตที่เกิดอยู่ตลอดภพและจุติจิตก็มีคตินิมิตรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์เป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน ความเป็นไปแห่งภวังคจิตที่อารมณ์เหมือนกันกับปฏิสนธิจิตนั้น นับแต่ปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดในภพใหม่ดังลงจนถึงจุติจิตเกิด ดังนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า “คหิตปฏิสนฺธินิโรธานนฺตรโต ปภุติ ยาว จุติจิตฺตุปฺปาทา” “ตั้งแต่การดับลงแห่งปฏิสนธิจิตโดยไม่มีระหว่างคั่นของผู้ที่ได้ถือเอาปฏิสนธิในภพใหม่แล้วตลอดจนถึงจุติจิตเกิด”
คำว่า “ภวงฺคสนฺตติสงฺขาตํ มานสํ หุตฺวา ปวตฺตติ” กลับเป็นจิตที่เรียกว่ากระแสภวังค์เกิดขึ้น” ความว่าการเกิดขึ้นติดต่อกันแห่งวิปากและกัมมชรูปตลอดภพหนึ่งๆ นั้นแหละเป็นตัวตั้งตัวตีในภพหนึ่งๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อวิปากจิตเกิดขึ้นโดยความเป็นปฏิสนธิในภพหนึ่งๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หาได้ยุติลงเพียงเท่านี้ไม่ยังจะต้องเกิดอีกต่อไปโดยการเปลี่ยนภวังค์ การเปลี่ยนเป็นภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นของปฏิสนธิจิตนี้คงเป็นไปได้เพียงแต่เวลาที่วิถีจิตยังไม่เกิดเท่านั้น เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นแล้วภวังคจิตก็พักไป ดังนั้นพระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า “อสติ วิถีจิตฺตุปฺปาเท ภวสฺส องฺคภาเวน” เมื่อขณะที่วิถีไม่เกิด ความเป็นองค์แห่งภพ” (เกิดขึ้น)
อนึ่ง ที่กล่าวว่าการเกิดขึ้นแห่งภวังคจิตในจิตขณะที่วิถีจิตยังไม่เกิด หาใช่ว่าจะเพียงแต่ ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะเท่านี้ก็หามิได้ หากแต่เป็นการเกิดขึ้นอย่างมากมายหลายขณะดุจดังกระแสน้ำ ฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า “อพฺโพจฺฉินฺนํ นทีโสโต วิยปวตฺตติ” “เกิดขึ้นไม่ขาดสายเสมือนกระแสน้ำในแม่น้ำ”
ตามธรรมดาคนทั้งหลายที่มีการรู้สึกว่าได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น จนถึงการนึกคิดต่างๆ ได้นั้น ในขณะนั้นล้วนแต่เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น กล่าวคือวิถีจิตนั้นแหละเป็นผู้เห็นเป็นผู้ได้ยิน ตลอดจนถึงเป็นผู้คิดนึก หาใช่ภวังคจิตเป็นผู้เห็น เป็นผู้ได้ยิน เป็นผู้นึกคิดแต่อย่างใดไม่ แต่ถึงกระนั้นก็จริงในเมื่อขณะที่กำลังเห็น กำลังอ่าน กำลังฟัง กำลังคิด นึกอันเป็นวิถีจิตเกิดอยู่นั้น ในเวลานั้นภวังคจิตก็คงเกิดสลับกันไปในระหว่างวิถีหนึ่งกับวิถีหนึ่งเหมือนกัน หาใช่วิถีจิตเกิดอย่างเดียวก็หามิได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าวิถีจิตที่เกี่ยวกับการเห็นการได้ยิน การนึกคิดเหล่านี้เป็นชวนะที่มีมาตรฐานเกิดได้เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วก็ต้องมีภวังค์อันเป็นตัวมโนทวารทางใจเกิดขึ้นสลับกันไป จะมีแต่วิถีจิตเกิดติดต่อกันอย่างไม่ขาดสายเหมือนกับสมาบัติวิถีไม่ได้
การหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
หลังจากที่จุติจิตดับลงแล้ว จิตทั้งหลายมีปฏิสนธิจิตเป็นต้น ก็เกิดขึ้นสืบๆกันต่อไป หมุนเวียนตั้งชาติตั้งภพไปตามลำดับแห่งหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ดุจกรรถอันหมุนเวียนฉันนั้น
ความเป็นไปแห่งนามธรรมของปุถุชน และพระเสกขบุคคลทั้งหลาย หลังจากจุติจิตดับลงแล้วเท่านั้นที่มีความเป็นไปอย่างนี้ ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นหลังจากจุติจิตดับลงแล้ว ความเป็นไปแห่งนามธรรมโดยความเป็นปฏิสนธิภวังค์ จุติไม่มีอีก คงดับสิ้นไปเสมือนหนึ่งความดับไปแห่งดวงไฟฉันนั้น
คาถาสรุปการหมุนเวียนในสังสารวัฏ
ในปัจจุบันภพนี้ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต วิถีจิต และจุติจิต เกิดขึ้นสืบเนื่องกันฉันใดในภพหน้า กระแสจิตที่มีปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เป็นต้น ก็เกิดขึ้นหมุนเวียนต่อกันเช่นเดียวกันฉันนั้น
คาถาแนะแนวทางออกจากสังสารวัฏ
แนวทางปฏิบัติที่ขาดจากสังสารวัฏนั้นมีอยู่ว่า ผู้มีปัญญาเป็นปกติ คือผู้ที่ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุทั้งหลาย มีความประพฤติปฏิบัติชอบ คือรักษาศีล บำเพ็ญธุดงค์เจริญสมาธิมาเป็นเวลานาน พิจารณาเห็นแจ้งถึงความเป็นไปแห่งจิตและเจตสิกว่าเป็นของไม่เที่ยงแล้วจะได้บรรลุถึงนิพพานอันเป็นธรรมที่ไม่ตาย โดยมรรคญาณ ผลญาณ ถอนเครื่องผูกมัด คือตัณหาเสียได้แล้วจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานอันสงบ ตัดขาดจากสังขารธรรมทั้งปวงแน่แท้ฯ
ภาษาบาลี อาจจะมีผิดพลาดบ้าง เนื่องจากใช้การสแกนเนื้อหา ในส่วนเนื้อหาภาษาไทยตรวจสอบความถูกต้องแล้ว