ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
ราตรีสมัยหนึ่ง เสรีเทพบุตรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในพระวิหารเชตวัน แล้วกราบทูลว่า "เทวดาและมนุษย์ ต่างก็พอใจข้าวด้วยกันทั้งนั้น (มนุษย์พอใจที่ได้บริโภคและทำทาน, เทวดาพอใจเมื่อการให้ข้าวเป็นทานนั้นเป็นกุศลส่งผลดีในสวรรค์) ผู้ที่ไม่พอใจข้าว ชื่อว่ายักษ์โดยแท้"
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา ข้าวนั้นเองย่อมค้ำจุนชนเหล่านั้น ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่, พึงครอบงำมลทิน (เช่น มัจฉริยะ และอิสสา) แล้วให้ทานเถิด เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า"
เทพบุตรฟังแล้วรู้สึกชื่นชมยินดี ทูลชมเชยว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนัก"
เสรีเทพบุตรเคยเป็นกษัตริย์ให้ทานเองและเปิดโอกาสให้คนอื่นทำทานอยู่นาน ๘ หมื่นปี... ทรงไม่รู้สึกอิ่มบุญ
จบแล้ว เทพบุตรทูลว่า ตนเองเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระนามว่า เสรี (อรรถกถาว่า ทรงปกครอง ๒ รัฐ คือ สินธวรัฐ กับ โสวีรกรัฐ มีพระนครชื่อโรรุวะ) เป็นทายก (ผู้ให้ทานเป็นนิตย์) เป็นทานบดี (ผู้เป็นใหญ่แห่งทาน หมายถึงให้แต่ของดี ตนเองบริโภคเพียงของธรรมดา), เป็นผู้กล่าวสรรเสริญการให้ทาน, ได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจกทั้งหลายที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน (อรรถกถาเล่าว่า ที่ )ประตูทั้ง ๔ แห่ง สามารถเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้วันละ 1 แสน, ส่วนที่โรงวินิจฉัยคดีภายในพระนครก็มีทรัพย์เข้าคลังหลวงวันละ 1 แสน, พระราชาทรงทราบแล้ว ทรงดำริให้สร้างโรงทานขึ้นใกล้ ๆ ประตูเมือง ๔ แห่ง ตรัสสั่งให้อำมาตย์นำเงินรายได้นั้นจัดทานประเภทต่าง ๆ แล้วให้บุคคลต่าง ๆ เป็นประจำ)
(๑) ต่อมาพวกนางฝ่ายในเข้ามาหา ทูลว่า พระองค์ให้ทานอยู่คนเดียว ส่วนพวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทานเลย จึงสมควรที่พระองค์จะให้พวกหม่อมฉันให้ทานบ้างทำบุญบ้าง, พระราชาทรงเห็นว่าเราเองก็สรรเสริญการให้ทาน จึงมอบโรงทาน ณ ประตูที่ ๑ ให้แก่พวกนางไป (พวกฝ่ายในก็ได้จ่ายทรัพย์เพิ่มจาก ๑ แสนนั้น ตั้งคนของตนเข้ามาจัดการโรงทาน ให้ทานมากกว่าที่พระราชาให้อีก)
(๒) ครั้นต่อมาก็มีพวกกษัตริย์ (=พระราชวงศ์) เข้าเฝ้ากราบทูลขอทำทานและทำบุญบ้าง พระราชาทรงมอบโรงทาน ณ ประตูแห่งที่ ๒ ให้พวกกษัตริย์ไป..
(๓) ถัดมาก็มีพวกพลกาย (หมู่ทหาร) เข้าเฝ้ากราบทูลขอทำทานและทำบุญบ้างพระราชาทรงมอบโรงทาน ณ ประตูแห่งที่ ๓ ให้พวกทหารไป...
(๔) ต่อจากนั้น ก็มีพวกพราหมณ์และคหบดีเข้าเฝ้ากราบทูลขอทำทานและทำบุญบ้าง พระราชาทรงมอบโรงทาน ณ ประตูแห่งที่ ๔ ให้แก่พวกเขาไป, เมื่อเป็นดังนี้ การให้ทานและการทำบุญของพระราชาจึงลดน้อยลงไปอย่างยิ่ง
(๕) ต่อมา มีพวกบุรุษทั้งหลาย (= เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ) ได้ทูลถามว่าถึงตอนนี้พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงให้ทาน บำเพ็ญบุญในที่ไหน ๆ อีกหรือ? พระราชาตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้น ในชนบทรอบนอกที่มีรายได้ดี พวกท่านจงรวบรวมเงินแล้วแบ่งปันเข้าคลังหลวงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง พวกท่านก็จงนำไปทำทานบำเพ็ญบุญแก่สมณะ (ผู้ถือบวช) พราหมณ์ (ผู้มีปกติพูดว่าผู้เจริญ) คนกำพร้า(=คนเข็ญใจ คนยากจน คนพิการ เช่น คนตาบอด) คนเดินทางไกล (= คนเดินทาง)วณิพก (= ผู้เที่ยวขอโดยพูดสรรเสริญการให้ทานในแง่มุมต่างๆ และอวยพรให้ผู้ให้ทานไปเกิดในพรหมโลก เป็นต้น) และยาจก (ผู้พูดขออย่างเดียว เช่นขอข้าวสักขันเถิด) ทั้งหลายในเขตชนบทนั้นเถิด"
เมื่อกราบทูลเล่าประวัติสมัยเป็นพระราชาจบแล้ว เสรีเทพบุตรทูลว่า
"ข้าพระองค์จึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญแห่งกุศลที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนาน (อรรถกถาว่าทรงบำเพ็ญทานนาน ๘ หมื่นปี ก็ยังไม่อิ่ม ไม่พอใจ) อย่างนี้ ไม่เกิดความรู้สึกว่าบุญเท่านี้, ผลของบุญเท่านี้ หรือว่าบุญเท่านี้เพียงพอให้เราพึงดำรงอยู่ในสวรรค์แล้ว" ( = คือตอนเป็นมนุษย์ไม่ได้เกิดความคิดว่าทำบุญทำทานมากแล้ว เราได้ผลบุญพอแล้ว เพียงพอที่จะเกิดในสวรรค์แล้ว)
ในตอนท้ายเสรีเทพบุตรกราบทูลสรรเสริญพระพุทธดำรัสอีกครั้งว่า "น่าอัศจรรย์ ตรัสไว้ดีแล้ว" (ดู เสรีสูตร สํ.ส.ข้อ ๒๘๒-๖, สํ.อ.๑/๑/๒๘๖-๗)
คติธรรมสำคัญของเรื่อง : การให้ทานที่ดีอีกวิธี ก็คือให้โดยมิได้คำนึงถึงผลบุญ