อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผลแห่งบุญ : ผลแห่งความมั่นคงในทาน เทวดาก็ยังต้องสนับสนุน

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผลแห่งบุญ : ผลแห่งความมั่นคงในทาน เทวดาก็ยังต้องสนับสนุน

ปริยัติธรรม

หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง

จากสุทัตตเศรษฐี สู่ "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" ที่โลกร่ำลือและเงินที่หว่านลงในบวรพุทธศาสนา

สุทัตตเศรษฐี เป็นชาวสาวัตถี (แคว้นโกศล) เขาเป็นคนมีอัธยาศัยชอบให้ทาน ชอบสงเคราะห์ผู้อื่นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ๆ เมื่อเจริญเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ก็ช่วยบิดาทำการค้าขายหารายได้เข้าครอบครัว (สุตฺต.อ.๒/๑๐๗,ชา.อ.๑/๔/๔๙๙)

เมื่อบิดาล่วงลับ สุทัตตะก็ได้สืบทอดตำแหน่งเศรษฐี เขายิ่งเป็นทานบดี (เป็นใหญ่ในการให้) ตั้งโรงทานช่วยเหลือคนยากไร้ด้วยตนเอง คนทั้งหลายจึงเรียกท่านสุทัตตเศรษฐีว่า "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" (ผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนไร้ที่พึ่งหรือคนอนาถา) ซึ่งเป็นชื่อที่เขาเคยตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

เรือนที่อยู่ของครอบครัวนี้สร้างแบ่งชั้นเป็น ๗ ชั้น ล้อมไว้ด้วยรั้วกว้าง มีซุ้มประตูติดกับรั้วรวม ๗ ซุ้ม (๗ กางเข้าออก) เศรษฐีมีภรรยาชื่อ นางบุญลักขณเทวี ทั้งสองมีบุตร๔ คน เป็นธิดา ๓ คน บุตร ๑ คน คือ นางมหาสุภัททา นางจูฬสุภัททา นางสุมนาเทวีและ นายกาฬะ

เศรษฐีรู้ข่าวว่าโลกมีพระพุทธเจ้าแล้วในครั้งที่เดินทางไปทำกิจธุระที่กรุงราชคฤห์ (แคว้นมคธ) และแวะพักที่บ้านราชคหเศรษฐี (พี่เขย) ซึ่งกำลังจัดเตรียมถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ค่ำนั้นเขาพักอยู่ในเรือน และลุกขึ้นตอนยังไม่สว่าง คิดว่าสว่างแล้วและเดินเข้าไปยังป่าสีตวัน ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ เข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสก

ก่อนกลับสู่บ้านที่กรุงสาวัตถี เศรษฐีได้กราบทูลว่าตนเองจะสร้างเสนาสนะถวาย ถ้าเสร็จแล้วจะส่งคนมากราบทูลให้เสด็จไปทรงรับ และประทับจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี

กรุงสาวัตถีอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณ ๔๕ โยชน์ ระหว่างเดินทางกลับ เศรษฐีสละทรัพย์จำนวนมากให้สร้างวิหารไว้ทุกๆ กึ่งโยชน์ (ให้ชนทั้งหลายได้แวะพัก และบอกข่าวว่าเส้นทางนี้พระพุทธเจ้าจะเสด็จผ่าน เมื่อตนเองสร้างอารามเสร็จ พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปสาวัตถีโดยเส้นทางนี้ หมดทรัพย์ไป ๑ แสนกหาปณะ และสิ่งของมีค่าอีก ๑ แสนกหาปณะ

ถึงสาวัตถีแล้ว เศรษฐีได้ซื้อที่ดินของเจ้าเชตกุมาร (อยู่เขตนครสาวัตถี) ด้วยทรัพย์ ๑๘ โกฏิ และจ่ายอีก ๑๘ โกฏิ สร้างเสนาสนะเชตวันมหาวิหาร เมื่อสร้างวิหารเสร็จแล้วส่งคนไปกราบทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงรับพระวิหาร ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จมา เศรษฐีก็สละทรัพย์บริจาคทานต่าง ๆ แก่ชนทั่วไปผู้เข้ามายังโรงทาน และใช้ทรัพย์อีก ๑๔ โกฏิในการเฉลิมฉลองพระวิหาร ตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงรับและประทับจำพรรษาพร้อมกับหมู่สงฆ์ (อารามแห่งนี้ เศรษฐีตั้งตามชื่อของเจ้าชายเชต เพราะเจ้าชายทรงยกที่ดินตรงซุ้มประตูให้ เศรษฐีเห็นว่า เจ้าชายเป็นผู้มีชื่อเสียง คนทั่วไปจะรู้จักวัดแห่งนี้ได้เร็ว อารามจึงชื่อว่า "เชตวัน" แต่คนก็รู้กันดีว่า สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี)

รวมทรัพย์ที่เศรษฐีใช้จ่ายไปเพื่อการนี้ทั้งหมด ๕๔ โกฏิ

นับแต่นั้น ท่านเศรษฐีก็ทำทานทุกๆ วัน คือ

"สลากภัต ๕๐๐ ที่, ปักขิกภัต (อาหารถวาย ๑๕ วัน ครั้งหนึ่ง) ๕๐๐ ที่, สลากยาคู ๕๐๐ ที่, ปักขิกยาคู ๕๐๐ ที่ ธุวภัต (อาหารถวายประจำเรียกอีกอย่างว่านิตยภัต) ๕๐๐ ที่อาคันตุกภัต (ภัตสำหรับภิกษุอาคันตุกะ) ๕๐๐ ที่ ภัตสำหรับภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่, ภัตสำหรับภิกษุผู้คอยพยาบาลภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่ ในเรือนก็ยังเตรียมอาสนะไว้ ๕๐๐ ที่ เป็นประจำสำหรับรองรับภิกษุอื่นๆ ที่เข้ามาฉันในเรือน"(อง.อ.๑/๒/๕๑-๕,วินย.อ.๒/๑๙๐-๑)

เศรษฐีใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการกุศลและการสงเคราะห์คนยากไร้อย่างไม่เคยขาด เช่นคราวที่หลานสาวร้องไห้เพราะตุ๊กตาแตก เธอคิดว่าตุ๊กตาตาย เศรษฐีปลอบใจหลานสาวด้วยการทำบุญอุทิศให้ตุ๊กตา ส่วนนางบุญลักขณเทวีและพวกทาสก็ปลอบใจหลานด้วยการถวายมหาทานเช่นกัน พวกเขาทำมหาทานติดต่อกันนานถึง ๓ เดือน (ดู ขุ.เปต.๓๑-๖,ขุ.เปต.ข้อ ๘๙)

จากความมั่งคั่งสู่ความอัตคัด แต่กิจการงานบุญยังดำเนินต่อไป

การที่เศรษฐีตั้งโรงทานทำการกุศลจำนวนมาก ทำให้ทรัพย์ร่อยหรอลงอย่างมากจนเศรษฐีต้องส่งคนไปทวงเงินที่พวกพ่อค้ากู้ยืมไปรวมทั้งหมด ๑๘ โกฏิ แต่พวกพ่อค้าก็ยังผัดผ่อนอยู่ เศรษฐีต้องคุมคนงานให้ไปขุดทรัพย์ที่บิดาเคยบอกว่าฝังอยู่ริมแม่น้ำ ไปถึงก็พบว่าน้ำได้กัดเซาะดินและพัดพาเอาหม้อไหที่ใส่ทรัพย์ไว้หายไปในแม่น้ำแล้ว

เศรษฐีต้องสั่งให้คนในเรือนปรับตัว ด้วยการนำข้าวปลายเกรียน (ปลายข้าว) มาหุงมีน้ำผักดองเป็นกับแกล้ม ให้ทุกคนใช้ผ้านุ่งผ้าห่ม ที่นอน และเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างเดิม ๆ ไปก่อน ไม่มีเงินซื้อของใหม่ ๆ เข้ามา แม้จะมีชีวิตลำบากขึ้นเศรษฐีก็ยังให้ทาน โดยทานที่ถวายแก่ภิกษุภิกษุณีที่เข้ามาในเรือนก็คือ ข้าวหุงจากปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ

วันหนึ่งเศรษฐีเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "ท่านคหบดี ในเรือนของท่านยังให้ทานอยู่หรือ?" ทูลตอบว่า"ยังให้อยู่ พระพุทธเจ้าข้าแต่ทานนั้นเศร้าหมองไม่ประณีตเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ข้าพระองค์ถวายข้าวปลายเกรียนกับน้ำผักดอง พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ท่านคหบดี ท่านไม่ควรคิดว่าให้สิ่งที่เศร้าหมองเลย เพราะถ้ามีจิตประณีต ทานที่ให้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายย่อมไม่เรียกว่าให้สิ่งที่เศร้าหมอง ทานนั้นย่อมมีผลมาก เนื่องจากได้ให้แก่ผู้เป็นเนื้อนาบุญแล้ว"

การเข้า ๆ ออก ๆ ของพวกบรรพชิต สร้างความหงุดหงิดให้เทวดาพาล,

อนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบางครั้ง และมีภิกษุภิกษุณีผู้มีศีลเข้า ๆ ออก ๆเป็นนิตย์ ทำให้เทวดาที่อยู่ประจำซุ้มประตูทั้ง ๗ ต้องลงมาอยู่บนพื้นดิน จะได้สถิตบนซุ้มประตูก็เฉพาะตอนที่ไม่มีพวกท่านเข้าออก

เทวดาผู้อยู่ที่ซุ้มประตู ๖ ซุ้ม (จาก ๗ ซุ้ม) มีความยินดีปรีดาที่ได้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์ผู้มีศีล ทำให้ได้พบเห็นได้ฟังธรรมจากผู้มีศีล เมื่อเห็นท่านเศรษฐีมีความเป็นอยู่ลำบากก็ทุกข์ใจ มีเพียงเทวดาประจำซุ้มประตูที่ ๔ เท่านั้น ไม่ได้เกิดความยินดีที่ผู้มีศีลเข้า ๆ ออก ๆแต่กลับยินดีที่เห็นเศรษฐียากจนลง จะได้ไม่มีภิกษุเข้าออก ตนเองจะได้อยู่บนซุ้มประตูอย่างสบาย ก่อนหน้านั้นเทวดาตนนี้ได้ขอร้องให้เทวดาผู้ทำหน้าที่มหากัมมันติกะ (เทวดาอำนวยการแก่เทวดาด้วยกัน) ช่วยไปบอกให้เศรษฐีเลิกบริจาคเสียที เพราะทรัพย์จะหมดอยู่แล้วแต่ถูกเทวดานั้นขับไล่ว่า "ท่านเป็นเทวดาอันธพาล เศรษฐีสละทรัพย์ลงในพระศาสนาที่สอนให้ออกจากความทุกข์ ถ้าท่านเศรษฐีจะมาจับตัวเรา แล้วตัดเอามวยผมของเราไปขาย นำเงินมาบริจาค เราก็ยินดีให้เศรษฐีทำ ท่านจงกลับไปเถิด"

เทวดาตนนี้ก็ยังไม่ลดละความพยายามในการที่จะทำให้หมู่ภิกษุออกไปให้พ้นเรือนเพื่อตนเองจะได้อยู่ในวิมานซุ้มประตูอย่างสุขสบายคืนหนึ่งก็เข้าไปแสดงตนให้ลูกชายเศรษฐีเห็นอานุภาพแล้วบอกให้ไปช่วยเตือนบิดา ให้เลิกทำบุญเถิด เพราะมีความยากจนรออยู่ แต่ก็ถูกบุตรชายของเศรษฐีขับไล่กลับออกมาอีก

ถึงกาลที่เศรษฐียากจนลง เทวดาตนนี้คิดว่า "ตอนที่พวกเขายังร่ำรวยอยู่ เราพูดอะไรไปพวกเขาย่อมไม่ฟัง ตอนนี้พวกเขายากจนแล้ว กาลนี้แหละเหมาะที่เราจะไปพูดกับตัวเศรษฐีเองเลย เขาจะได้ปิดบ้านเลิกทำบุญเสียที"

แสดงตัวให้เศรษฐีเลิกศรัทธาพุทธะกลายเป็นทำให้ขาดศรัทธาเทวดาเสียเอง

เที่ยงคืนวันนั้น เทวดาจึงเข้าไปแสดงตนในห้องนอนของเศรษฐี ยืนลอยอยู่เหนือพื้นทำแสงสว่างทั่วห้อง เศรษฐีตื่นแล้วถามว่า ท่านเป็นใคร?, ตอบว่า เราคือเทวดาสถิตอยู่ ณ ซุ้มประตูที่ ๔ มาแสดงตัวเพราะความหวังดีต่อท่าน, เศรษฐีกล่าวว่า "ขอท่านเทพจงบอกมาเถิด"

เทวดาจึงให้โอวาทว่า

"ท่านมหาเศรษฐี ท่านเคยคิดถึงอนาคตของบุตรธิดาบ้างไหม ท่านนำทรัพย์จำนวนมากทิ้งลงในศาสนาของพระสมณโคดม ทำให้ตัวท่านและบุตรธิดาตกอยู่ในความยากจนท่านบริจาคเกินประมาณ ละทิ้งการค้าขาย

วันนี้ท่านเป็นอยู่อย่างอัตคัด ก็ยังปล่อยให้พระสมณโคดมและสาวกเข้ามาในเรือนทรัพย์ที่พวกสมณะนำออกไป ใคร ๆ ก็ไม่อาจนำกลับมาให้ท่านได้

ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านอย่าได้ไปหาพระสมณโคดมเลย และอย่าให้พวกสาวกของพระสมณโคดมเข้ามาในเรือนแห่งนี้เลย สิ่งที่ท่านควรทำในเวลานี้อย่างยิ่ง ก็คือฟ้องร้องทวงทรัพย์ที่คนยืมไป และจงกลับมาทำการค้าขายอย่างเดิมเถิด"

เศรษฐีผู้เป็นพระอริยโสดาบัน ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยและมีศรัทธาสละบริจาค ฟังจบแล้วกล่าวว่า "นี่เป็นโอวาทที่ท่านแสดงตนเพื่อบอกแก่ข้าพเจ้าหรือ?" เทวดาตอบว่า"ใช่แล้ว เราหวังดี"

เศรษฐีกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มั่นคง มีศรัทธาไม่คลอนแคลน ทำให้ศรัทธาของข้าพเจ้าตั้งมั่นดุจขุนเขา ข้าพเจ้าสละทรัพย์ลงในคำสอนที่นำออกจากทุกข์ ท่านเป็นเทวดาที่แนะนำสิ่งที่ไม่สมควร ไม่มีมารยาท ไม่มีศีล เป็นกาฬกิณีพูดตัดรอนคำสอน ข้าพเจ้าไม่ต้องการอยู่ร่วมเรือนกับท่าน ท่านจงออกไปจากเรือนของข้าพเจ้าเถิด"

เทวดาถูกขับไล่ ไร้ที่อยู่ ท้าวสักกะตรัสแนะให้ทำคุณ ไถ่โทษ,เศรษฐีกลับมาร่ำรวยดุจเดิม

เทวดาถูกเศรษฐีผู้เป็นพระอริยสาวกขับไล่แล้ว ไม่อาจอยู่อาศัยที่เดิมได้ พาบุตรออกจากซุ้มประตูไปหาที่อยู่ใหม่ มองหาที่อยู่ที่ควรจะอยู่ก็ไม่ได้ เพราะมีภุมมเทวดาอื่น ๆจับจองหมดแล้ว จึงเกิดความร้อนใจว่า "เราทำความไม่ดีเสียแล้วที่อยู่เดิมของเรา ๆ ก็อยู่มานาน คนในเรือนตั้งแต่รุ่นก่อนก็ไม่เคยคิดเบียดเบียนเรา เราควรจะขอให้เศรษฐียกโทษให้ เราอยากกลับไปอยู่ที่ซุ้มประตูเรือน แต่เราละอายใจที่จะพบกับเศรษฐี เราควรให้เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ช่วยเหลือดีกว่า" แล้วไปหาเทวดาผู้ทำหน้าที่รักษาพระนคร สารภาพผิดและขอให้ช่วยออกหน้าขอให้เศรษฐียกโทษให้ แต่ถูกเทวดานั้นปฏิเสธ จึงไปทูลวิงวอนให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ (ท้าววิรูปักษ์ ท้าวเวสสุวรรณ เป็นตัน) ทรงช่วย แต่ก็ถูกปฏิเสธอีก จึงเข้าเฝ้าขอให้ท้าวสักกเทวราชทรงช่วยเหลือ ท้าวสักกะตรัสว่า

"ท่านทำสิ่งที่ไม่สมควรทำ ท่านต้องการกำจัดคำสอนของพระชินเจ้า (พระผู้ชนะ) ตัวเราก็ไม่อาจพูดขอกับเศรษฐีให้ยกโทษให้ท่านได้ แต่เราจะแนะนำวิธีให้เศรษฐียกโทษให้

ท่านจงแปลงเป็นคนเก็บส่วยของท่านเศรษฐีนะ แล้วพายักษ์ไป ๒-๓ ตน นำหนังสือสัญญาการกู้ยืมเงินที่พวกพ่อค้ากู้ไปแสดงแก่พวกเขา ถ้าเขามีทีท่าว่าจะไม่ให้คืน ท่านก็จงให้ยักษ์แสดงตัวให้คนพวกนั้นเห็น เขาจะหวาดหวั่นรีบนำทรัพย์มาคืนให้ ๑๘ โกฏิ ท่านได้แล้วจงนำไปไว้ที่ห้องคลังของเศรษฐี

จากนั้น ท่านจงใช้เทวานุภาพของท่าน นำทรัพย์จำนวน ๑๘ โกฏิที่จมอยู่ในน้ำไปใส่ในห้องคลัง และจงนำทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของในที่ต่างๆ อีก ๑๘ โกฏิไปใส่ในห้องคลังอีกห้องคลังจะมีทรัพย์รวมถึง ๕๔ โกฏิ มากพอที่เศรษฐีจะทำประโยชน์ต่อไป ถือเป็นการลงโทษตัวท่านเองด้วย และถือเป็นเหตุให้เศรษฐียกโทษให้ท่านด้วย"

เทวดาตนนั้นถวายบังคมท้าวสักกเทวราช แล้วไปดำเนินการนำทรัพย์ ๓ ส่วน รวม ๕๔ โกฏิไปใส่ไว้ในห้องคลังของท่านมหาเศรษฐีแล้ว

กลางดึกของวันนั้น ก็เข้าไปแสดงตนในห้องนอนของเศรษฐี ยืนอยู่กลางอากาศกล่าวรายงานการนำทรัพย์มาให้ เพื่อขอไถ่โทษ ขอให้เศรษฐียกโทษแล้วโปรดอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่ซุ้มประตูตามเดิมด้วยเถิด เทวดากล่าวว่า

"ข้าพเจ้าเป็นเทวดาอันธพาล สถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ เคยมากล่าวคำใดด้วย

ความเป็นอันธพาล ขอท่านเศรษฐีจงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าผู้กล่าวคำนั้นด้วยเถิด

เพราะข้าพเจ้าได้ลงโทษตนเอง ด้วยการรวบรวมทรัพย์ได้ ๕๔ โกฏินำมาใส่ไว้เต็มห้องว่างเปล่าของท่าน ตามเทวบัญชาของท้าวสักกะแล้ว ขอให้ท่านอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้กลับมาอยู่ที่เดิมด้วยเถิด หลายวันที่ผ่านมา ข้าพเจ้าลำบากมากเพราะไม่มีที่อยู่"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังความแล้วคิดว่า "เทวดารู้คุณของเรา เราควรให้เขาได้รู้คุณของพระศาสดา" จึงกล่าวว่า "ท่านเทวดา หากท่านจะให้เรายกโทษให้ท่านก็ได้ แต่ท่านต้องไปขอโทษเราต่อหน้าพระพักตร์ของพระศาสดาของเราเถิด"...เทวดาตอบตกลง

ครั้นสว่างแล้ว เศรษฐีพาเทวดานั้นเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนเช้าตรู่ กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ จากนั้นเทวดากราบทูลขอขมาโทษว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้รู้ซึ้งพระคุณของพระองค์ ได้กล่าวคำใดที่ชั่วช้าออกไป เพราะความเป็นอันธพาล ขอพระองค์ทรงงดโทษในคำเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระพุทธเจ้าทรงยกโทษให้แก่เทวดาแล้ว แม้เศรษฐีก็ยกโทษให้เช่นกัน

พระศาสดาทรงแสดงธรรมว่า "คหบดี คนที่ทำบาปในโลกนี้ เขาย่อมเห็นบาปว่าเป็นสิ่งดี ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อบาปนั้นให้ผล เขาย่อมเห็นบาปว่าเป็นความชั่วแท้, ส่วนผู้ทำกรรมดี อาจเห็นความดีว่าเป็นความไม่ดี ตราบเท่าที่กรรมดียังไม่ให้ผลแต่เมื่อกรรมดีให้ผล เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดีจริง" จบพระพุทธดำรัส เทวดานั้นบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน (ธ.อ.๓/๑๕-๒๐,ขุ.ธ.ข้อ ๑๙)

พราหมณ์อยากมั่งคั่งเหมือนเศรษฐี เข้าเยี่ยมเพื่อหวังจะขโมยสิริ

ข่าวที่ท่านเศรษฐีกลับมาร่ำรวย เพราะมีเทวดาทำคุณไถ่โทษ และเศรษฐียังเป็นสหายรักกับเทวดาด้วย แพร่กระจายไป

พราหมณ์คนหนึ่งมีความรู้ลักษณะของสิริ (มงคล, มิ่งขวัญ) ได้ยินข่าวแล้วคิดว่าการที่เศรษฐียากจนแล้วกลับร่ำรวย ไม่น่าจะเป็นเพราะเทวดาช่วย แต่เป็นเพราะเขามีสิริอยู่ในเรือน ถ้าเราได้สิรินั้นมา เราก็จะร่ำรวยเหมือนเขา เราต้องทำเป็นไปเยี่ยมเขา แล้วฉวยโอกาสขโมยสิริมาเป็นของเราเสีย

พราหมณ์นั้นไปที่บ้านแล้วขอพบเศรษฐี ท่านเศรษฐีให้การต้อนรับแล้วถามว่า ท่านพราหมณ์มาหากระผมมีเรื่องอะไรให้ผมช่วยหรือ? พราหมณ์ตรวจดูจนทั่วเรือน ก็พบว่าสิริไปอยู่ที่หงอนไก่ตัวสีขาว จึงกล่าวขอไก่ว่า "ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าสอนมนต์แก่พวกมาณพ ๕๐๐ คน แต่พวกเราลำบากเพราะมีไก่ตัวหนึ่งขันไม่เป็นเวลา ทำให้พวกเราตื่นช้าบ้าง เร็วบ้าง จึงอยากจะขอไก่สีขาวตัวนี้ โปรดให้ข้าพเจ้าเถิด"

เศรษฐีกล่าวว่า "กระผมให้แก่ท่าน ๆ จงจับมันไปเถอะ"

ทันใดนั้น สิริก็ย้ายจากหงอนไก่ไปอยู่ที่แก้วมณี ซึ่งวางอยู่หัวเตียง พราหมณ์เห็นแล้วเอ่ยปากขอแก้วมณี พอเศรษฐีพูดว่า "กระผมให้ท่าน" สิริก็ย้ายไปอยู่ที่ไม้เท้าใกล้หัวเตียง พราหมณ์เอ่ยปากขออีก เศรษฐีพูดว่า "จงเอาไม้เท้าไปเถิด กระผมให้" สิริก็ย้ายไปอยู่ที่ศีรษะของนางบุญลักขณเทวีผู้เป็นภรรยาเศรษฐี คราวนี้พราหมณ์ไม่กล้าขอ ตัดสินใจเล่าความจริงว่าตนมาเยี่ยมครั้งนี้ก็เพื่อหาโอกาสขโมยสิริไปเป็นของตน จะได้มีทรัพย์และยศบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่อาจจะขโมยไปได้ จากนั้น พราหมณ์ก็ลากลับออกไป ต่อมา ท่านเศรษฐีได้ทูลเล่าเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ (ดู ชา.อ.๑/๔/๒๐๑-๓.ชุ.ชา.ช้อ ๔๕๑-๓)


พิมพ์