ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
เทวดาตนหนึ่งชื่อ สุพรหม เป็นเทพบุตรในสวรรค์ดาวดึงส์ วันหนึ่ง ได้พาเหล่านางเทพอัปสรประมาณ ๕๐๐ นาง เข้าไปเล่นสนุกสนานในสวนนันทวัน
สักพักใหญ่ สุพรหมเทพบุตรก็นั่งพักอยู่บริเวณต้นปาริฉัตร (ปาริฉัตต์) ส่วนเหล่าเทพธิดาก็เล่นปืนต้นไม้อยู่ไม่ไกล (ท่านว่า ต้นที่ปืนเล่นสูง ๑๐๐ โยชน์, ตามปกติต้นไม้จะโน้มลงมาให้เทวดาจับกิ่ง ก้าน ดอก ได้ตามต้องการ แต่ที่ปืนก็เพราะต้องการจะเล่น)
พวกนางปืนไปขับร้องเพลงไป เด็ดดอกไม้แล้วโปรยลงข้างล่าง ให้นางเทพด้านล่างเก็บมาร้อยพวงมาลัย
ครั้งนั้น เหล่าเทพธิดาจำนวนหนึ่งที่อยู่บนต้นไม้ถึงความสิ้นชีพ (จุติคือเคลื่อน, ตายก่อนถึงอายุที่ควรจะตาย ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจอกุศลกรรมในปางก่อนที่มีกำลังแรงตัดรอนอายุท่านเรียกว่า จุติเพราะอุปฆาตกรรม หรืออุปัจเฉทกรรม) แล้วอุบัติในอเวจีนรก
ผ่านไปสักพักหนึ่ง สุพรหมเทพบุตรรู้สึกว่า เสียงของเหล่าเทพธิดาบนต้นไม้หายไปและไม่เห็นดอกไม้ร่วงหล่นลงมาอีก คิดว่า พวกนางทำอะไรกันอยู่นะ แล้วก็เงยหน้ามองขึ้นไป ไม่พบใคร ๆ จึงใคร่ครวญดูก็เห็นว่า พวกเทพธิดาบนต้นไม้ตายแล้วเกิดในนรก
เทพบุตรเกิดความหวาดหวั่นกลัวต่อมรณภัย คิดว่า "เราไม่ได้สนใจพวกนางเพียงครู่เดียว พวกนางก็จากเราไปแล้ว ตัวเราเล่าจะมีอายุอยู่ที่นี่อีกนานแค่ไหนหนอ?"
เมื่อใคร่ครวญดูก็พบว่า "อีก ๗ วัน เราก็จะจุติแล้วเกิดในนรก พวกเทพธิดาที่เราเห็นอยู่นี้ก็จะจุติแล้วเกิดในนรกเหมือนกัน"
สุพรหมเทพบุตรยิ่งเกิดความหวาดกลัวเพิ่มมากขึ้น จิตใจห่อเหี่ยว หมดสิ้นความรู้สึกสนุกสนานสิ้นเชิง คิดว่า "นอกจากพระตถาคตเจ้าแล้ว เรามองไม่เห็นใครในมนุษย์โลกและเทวโลก ที่จะดับทุกข์โศกของเราได้เลย เราจะไปเข้าเฝ้าพระองค์"
ครั้นถึงเวลาราตรี เทพบุตรนั้นจึงมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเชตวันวิหาร ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ กราบทูลว่า "จิตนี้สะดุ้งกลัวอยู่เป็นนิตย์ ใจของข้าพระองค์หวาดหวั่นอยู่ตลอด เมื่อรู้ว่าจะต้องตาย และเห็นความตายที่เกิดขึ้นแก่เหล่านางเทพอัปสร ถ้ามีวิธีใดที่จะทำให้ข้าพระองค์ไม่สะดุ้งกลัว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกด้วยเถิด"
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมว่า
"เรามองไม่เห็นสวัสดีของสัตว์ทั้งหลายเลย นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้, ความเพียร เครื่องเผากิเลส, ความสำรวมอินทรีย์ และความสละทุกสิ่งทุกอย่าง" (สํ.ส.ข้อ ๒๖๕)
จบพระเทศนา สุพรหมเทพบุตรบรรลุโสดาปัตติผล (เป็นพระอริยโสดาบัน)
อรรถกถาอธิบายพุทธพจน์นี้ไว้ว่า
- ปัญญาเครื่องตรัสรู้และความเพียร หมายถึง การเจริญโพชฌงค์ และความเพียร
- การสละทุกสิ่งทุกอย่าง หมายถึง พระนิพพาน
"พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะให้เจริญโพชฌค์ก่อน, ทรงแนะอินทรีย์สังวรภายหลังก็จริง ถึงกระนั้นก็พึ่งทราบว่า ทรงแนะอินทรีย์สังวรก่อน, เมื่อภิกษุบำเพ็ญอินทรีย์สังวรแล้ว ก็เป็นอันบำเพ็ญปาริสุทธิศีล ๔ ด้วย (เช่น ปาติโมกขสังวร)
ภิกษุตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีล ๔ เป็นผู้นิสสัยมุตตกะ (รู้พระวินัยที่ควรรู้ ไม่ต้องอาศัยอาจารย์, เป็นข้อปฏิบัติทางพระวินัยบัญญัติ) สมาทานคุณคือความเพียรคือธุดงค์ เข้าป่าเจริญกรรมฐาน ย่อมทำโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นพร้อมวิปัสสนา, อริยมรรคของภิกษุนั้นย่อมเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์, นิพพานนั้นเรียกว่าความสละทุกสิ่งทุกอย่าง (= ปราศจากสังขาร)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระเทศนาลงด้วยสัจจะ ๔"