ภิกษุสองสหาย : ไม่ประมาทคนละแบบ

ภิกษุสองสหาย : ไม่ประมาทคนละแบบ

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สตฺเตสุ พหุชสคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส

คนผู้มีปัญญาดี เป็นผู้ไม่ประมาทเมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมากเมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ เขาจึงทิ้งคนเหล่านั้นไป
เหมือนดังม้าฝีเท้าเร็ว วิ่งละทิ้งม้าตัวที่ไร้พลังไป ฉะนั้น

 

ภิกษุรูปหนึ่งหมดเวลาไปกับสมณธรรม อีกรูปหนึ่งหมดไปกับการหาฟืนและการพูดคุย..

 

ภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน ทั้งสองเรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วไปอาศัยอยู่ที่วิหาร ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นวิหารที่มีภิกษุและสามเณรพำนักอยู่หลายรูป ภิกษุสองสหายมาอยู่อาศัยแล้ว รูปหนึ่งเห็นว่า ที่นี่เป็นป่าเราไม่ควรประมาท ตอนกลางวันจึงเที่ยวเก็บฟืนมากองไว้และทำเตาไฟ ตกกลางคืนก็จุดไฟและนั่งผิงพูดคุยกับพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรตลอดปฐมยาม แล้วจึงเข้านอน

ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ไม่ประมาท ใช้เวลาหมดไปกับการทำสมณธรรม (= เจริญกรรมฐาน) และ มักกล่าวเตือนเพื่อนว่า "ท่านอย่าเอาแต่หาฟืนตอนกลางวัน นั่งผิงไฟตอนกลางคืน เพราะอบาย ๔ (การเกิดในภพที่ไม่เจริญ คือ นรก ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย) นั้นเป็นดุจเรือนของคนที่ประมาท แล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงโปรดปรานคนที่มีสาไถย (= ผู้โอ้อวด)" แต่ภิกษุผู้เป็นสหายไม่ฟัง โอวาทนี้ (และเก็บความไม่พอใจไว้)"

เมื่อเห็นว่าเพื่อนไม่ฟังคำของเพื่อน ท่านจึงไม่เตือนอะไรๆ อีก มุ่งมั่นในสมณธรรมอย่าง เดียว และจะหยุดเจริญสมณธรรมเพื่อนอนในตอนมัชฌิมยาม ระหว่างที่จะเข้านอนนั้น เพื่อนที่ นั่งผิงไฟอยู่ก็เข้ามาสั่งสอนว่า "ท่านขี้เกียจมาก เรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วมาอยู่ในป่า เพื่อจะนอนหรือ? ท่านควรลุกขึ้นทำสมณธรรมทั้งกลางวันกลางคืนจะสมควรกว่า" พูดจบก็กลับ ไปนอนต่อ

ภิกษุผู้ทำสมณธรรมตื่นนอนตอนปัจฉิมยาม...เป็นเช่นนี้หลายวัน วันหนึ่ง ท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้เป็นเพื่อนก็ยังประพฤติตนอย่างเดิม

ครั้นออกพรรษาแล้ว ทั้งสองรูปก็ชักชวนกันกลับมาเช้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเชตวัน... พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับพวกท่านแล้วตรัสถามว่า "พวกเธอทำสมณธรรมด้วยความไม่ ประมาทกันไหม? ถึงที่สุดกิจของบรรพชิตแล้วหรือยัง?" ภิกษุรูปที่ประมาทก็กราบทูลให้ทรงทราบ ความประมาทของเพื่อนที่ไม่ยอมหาฟืนไว้ ไม่ก่อไฟผิง ถึงเวลากลางคืนก็เอาแต่นอน และทูลถึงความที่ตนเองไม่ประมาทในการหาฟืนและก่อไฟ

พระศาสดาจึงตรัสว่า "เธอนั่นแหละเป็นผู้ประมาท และยังพูดว่าตนไม่ประมาท ทั้งยังตำหนิผู้ที่ไม่ประมาท เธอเหมือนตัวที่อ่อนกำลัง ส่วนบุตรของเรา (=ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัต) เปรียบเหมือนม้าฝีเท้าดี" แล้วตรัสภาษิตนี้

 

อธิบายพุทธภาษิต

 

ผู้ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึง พระขีณาสพ (พระผู้สิ้นอาสวะ = พระอรหันต์), ผู้ประมาท ได้แก่ ผู้ไม่มีสติ, หลับแล้ว (สุตฺเตสุ) ได้แก่ ไม่มีสติ, ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึง มีสติไพบูลย์ คือ ไม่ขาดสติเลย ม้าที่มีกำลัง (อพลสฺสํว) ฝีเท้าดี ได้แก่ ม้าสินธพอาชาไนย วิ่งไป ห่างไกลจากม้าเท้าด้วน, คนผู้มีปัญญาดี (สุเมธโส) หมายถึง มีปัญญายอดเยี่ยม รู้ทั้งอาคม คือ ปริยัติ (การเรียน) และอธิคม คือ การบรรลุมรรคและผล ออกไปจากวัฏฏะ จึงละทิ้งคนที่ไม่มี ปัญญาไว้ในวัฏฏะ (ดู ร.อ.๑/๒๖๑-๒๖๓)

 

คติธรรมความรู้ ความไม่ประมาท คือ การมีสติทำกิจตามที่ตั้งใจ แต่ความไม่ประมาทสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ ก็คือการมีสติ มีความเพียรและปัญญา ทำกิจในการเล่าเรียนธรรม เพื่อการปฏิบัติจนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน


พิมพ์