พระภาคิไนยสังฆรักขิตะ: ผู้ใช้พัดตีหลวงลุง

พระภาคิไนยสังฆรักขิตะ: ผู้ใช้พัดตีหลวงลุง

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ.
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ

(จิตนี้) ท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง
อาศัยอยู่ในคูหา (หทัยรูป) คนเหล่าใดจะสำรวมจิต
คนเหล่านั้นก็จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร (วัฏฏสงสาร)

 

พระภาคิไนยสังฆรักขิตะถูกหลวงลุงปฏิเสธไม่รับผ้าสาฎก ก็คิดจะสึก...พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้สำรวมจิต...บรรลุโสดาปัตติผล

 

พระสังฆรักขิตเถระออกบวชเพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า บวชได้ ๒-๓ วัน ก็บรรลุพระอรหัต (เป็นพระอรหันต์) ต่อมา น้องชายของท่านได้นำหลานชายมาขอบรรพชา อุปสมบทเป็นภิกษุ หลานชายบวชแล้วมีชื่อว่า "ภาคิไนยสังฆรักขิตะ" (หลานของพระสังฆรักขิตะ) ท่านลาหลวงลุงไปจำพรรษาที่อารามใกล้กับหมู่บ้านหนึ่ง ออกพรรษาแล้วได้ผ้าจำพรรษามา ๒ ผืน มีขนาดความยาว ๗ ศอก ผืนหนึ่ง ๘ ศอกผืนหนึ่ง ก็เกิดความคิดว่า "เราจะไปหาหลวงลุง จะถวาย ผ้า ๘ ศอกแก่ท่าน" แล้วเดินทางมาหาหลวงลุงในพระเชตวันวิหาร ถึงแล้วไม่พบ เพราะพระเถระ ยังไม่กลับมายังที่อยู่

ท่านจึงทำความสะอาดที่อยู่ของหลวงลุง ปูอาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้ให้ เมื่อเห็นท่านกลับมา ก็เข้าไปรับบาตร จีวร นิมนต์ให้นั่ง ถวายน้ำดื่ม ล้างเท้าให้ เช็ดเท้าท่านแล้ว นำผ้าสาฎกผืนนั้น มาวางไว้ใกล้ๆ เท้า กราบเรียนถวายผ้าให้ แล้วยืนพัดให้ท่านด้วยพัดใบตาล

พระเถระกล่าวว่า "จีวรของเรามีอยู่แล้ว เธอจงเก็บไว้ใช้สอยเถิดนะ" พระภาคิไนยสังฆ รักขิตะกล่าวอ้อนวอนว่า "หลวงลุงขอรับ ผ้าผืนนี้กระผมตั้งใจนำมาถวายหลวงลุง ขอจงรับไว้ ใช้สอยเถิด" พระเถระก็ยังกล่าวว่า "เรามีอยู่แล้ว เธอจงใช้สอยเองเถิด" พระหลานชายก็กล่าว อีกว่า "หลวงลุงอย่าทำให้กระผมเสียความตั้งใจสิขอรับ เมื่อหลวงลุงรับไว้ใช้สอย กระผมก็จะ ได้ผลบุญมาก" พระเถระก็ยังไม่รับ ท่านจึงเกิดความน้อยใจ ยืนพัดไปคิดฟุ้งซ่านไปว่า "ตอนยัง ไม่ได้บวช เราก็เป็นหลาน บวชแล้ว เราก็เป็นสัทธิวิหาริก ท่านก็เป็นพระอุปัชฌาย์, ตอนนี้ท่าน ไม่ใช้สอยของที่เราให้ เราก็ไม่ควรจะเป็นสมณะอีกต่อไป เราจะสึกไปทำมาหากินอะไรดีหนอ ออ เราจะขายผ้าสาฎกยาว ๘ ศอก แล้วนำเงินไปซื้อแม่แพะมาเลี้ยง พอมันตกลูก เราก็จะขายลูกแพะ สั่งสมเงินไว้ แล้วมีเมีย...พอมีลูก เราก็จะพาเมียพาลูกขึ้นยานมาหาหลวงลุง, ระหว่างเดินทาง เราทะเลาะกับเมียเรื่องใครจะอุ้มลูก ใครจะขับรถ แย่งลูกกันบนรถแล้วลูกพลัดตกมาถูกล้อรถ ทับ เราโกรธ ใช้ด้ามปฏักตีหลังเมีย" คิดถึงตรงนี้แล้ว ท่านก็ใช้พัดใบตาลตีเข้าที่ศีรษะหลวงลุง พระสังฆรักขิตเถระถูกพระหลานตีเข้า ก็หันมาดู เห็นพระหลานชายจะใช้พัดตีอีกจึงหลบ แล้วใคร่ครวญดูก็รู้ว่า พระหลานชายฟุ้งซ่าน ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ จึงพูดขึ้นว่า "สังฆรักขิตะ เธอตีไม่ถูกเมียนะ แต่เธอตีโดนเรา เราผิดอะไรหรือ?" พระภาคิไนยสังฆรักขิตะรู้สึกตัวแล้วตกใจ คิดว่า ตายล่ะ เราตีพระอุปัชฌาย์เข้าให้แล้ว ท่านรู้สิ่งที่เราคิดแล้ว ดีเลยเราจะสึกเหมือนที่เราคิด ไว้นี้แหละ, แล้วทิ้งพัดลงพื้น เดินหนีออกไป

พระเถระบอกให้ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายช่วยกันตามจับตัวพระหลานชายไปเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า...พระศาสดาตรัสถามว่า เธอจะลาสิกขาจริงหรือ? ทูลว่า "จะสึก พระพุทธเจ้าข้า" ตรัสให้โอวาทว่า "กรรมหนักอย่างนี้ เธอกระทำแล้วเพื่ออะไร? (การที่คิดจะลาสิกขา ตรัสเรียกว่า กรรมหนัก) เธอเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีความเพียรที่ปรารภแล้ว เธอบวช ในคำสอนของเราผู้เป็นพระพุทธเจ้ามิใช่หรือ เธอไม่มีความสามารถที่จะให้คนอื่นเขาเรียกเธอว่า พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์หรือ? เธอจะทำกรรมหนักไปเพื่อ อะไร?" (จะสึกไปเพื่ออะไร) ท่านกราบทูลตอบว่า "ข้าพระองค์เกิดความกระสัน พระพุทธเจ้าข้า" ตรัสถามว่า "มีสาเหตุจากเรื่องใดหรือ?" ท่านจึงทูลเล่าเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้า ตรัสปลอบโยนว่า "มาเถิดภิกษุ อย่าคิดลาสิกขาเลย ธรรมดาของจิตเป็นธรรมชาติ รับอารมณ์ที่ มีอยู่ในที่ไกลได้ เธอควรพยายามเพื่อประโยชน์แก่การพ้นจากพันธนาการของราคะ โทสะ และ โมหะเถิด" แล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดำรัส พระภาคิไนยสังฆรักขิตะบรรลุโสดาปัตติผล

 

อธิบายพุทธภาษิต

 

จิตเที่ยวไปในที่ไกล หมายถึง รับรู้อารมณ์ที่อยู่ไกลได้ เช่น รูป ภูเขา และเสียงสัตว์ในป่า เป็นต้น เที่ยวไปดวงเดียว (เอกจรํ) คือ จิตเกิดดับต่อเนื่อง เมื่อเกิด ก็ย่อมเกิดแค่ ๑ จิต แล้วดับไป จิตใหม่ก็เกิดขึ้น เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ท่านจึงเรียกว่า "ดวงเดียว" (จิต เป็นนามธรรม การเรียกว่า "ดวง" เป็นคำสมมติให้เข้าใจง่ายเท่านั้น), จิตเป็นนามธรรม การ เกิดขึ้นจึงไม่มีรูปพรรณสัณฐาน และไม่มีสีปรากฏ จึงตรัสว่า "อสรีรํ" (ไม่มีสรีระ, ไม่มีรูปร่าง), อาศัยอยู่ในคูหา(ถ้ำ) หมายถึง อาศัยมหาภูตรูป ๔ และหทัยรูป (= หัวใจ) จะสำรวม (สญฺญเมสฺสนฺติ) จิต คือ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน ด้วยการมีสติ, วัฏฏะ (การหมุนวนเวียนไป) ใน ภูมิ ๓ (กามภูมิ เช่นมนุษย์และนรก เป็นต้น, รูปภูมิ เช่น ปาริสัชชาพรหมโลก เป็นต้น, อรูปภูมิ เช่น อากาสานัญจายตนพรหมโลก เป็นต้น) ตรัสเรียกว่า มารพันธนา (เครื่องผูกของมาร = ขันธมาร) ซึ่งจะพ้นจากพันธนาการของมาร (ขันธมาร)ได้ ก็เมื่อไม่มีกิเลสพันธนาการ (กิเลสมาร) ดู ธ.อ.๑/๓๐๓-๓๐๖

 

คติธรรมความรู้ ภพภูมิทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มาร (ขันธมาร คือ ขันธ์ ๕, อภิสังขารมาร คือ กรรม และกิเลสมาร คือกิเลส) ผูกบรรดาสัตว์ไว้ให้หมุนวนเวียนไป เมื่อกำจัดกิเลสทั้งปวงได้ ก็พ้นจากพันธนาการของมาร ขันธ์ทั้งหลายก็ปรินิพพาน


พิมพ์