อุเบกขา ๑๐ ประเภท

อุเบกขา ๑๐ ประเภท

ปริยัติธรรม

หนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา

อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย ความวางใจ เป็นกลาง

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉยแบบวางใจเป็นกลางๆ โดยไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงและเพราะกลัว เช่น ไม่เสียใจเมื่อคนที่ตนรักถึงความวิบัติ หรือไม่ดีใจเมื่อศัตรูถึงความวิบัติ มิใช่วางเฉยแบบไม่แยแสหรือไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้ เป็นต้น

ลักษณะของผู้มีอุเบกขา คือ เป็นคนหนักแน่นมีสติอยู่เสมอ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ รักษาความเป็นกลางไว้ได้มั่นคงไม่เอนเอียงเข้าข้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องคลองธรรม และเป็นผู้วางเฉยได้ เมื่อไม่อาจประพฤติเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้

 

อุเบกขา ๑๐ ประการ คือ

  1. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖
  2. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาพรหมวิหาร
  3. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์
  4. วีริยุเปกขา อุเบกขาคือวิริยะ
  5. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
  6. เวทนุเบกขา อุเบกขาเวทนา
  7. วิปัสสนุเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
  8. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา อุเบกขาเจตสิก
  9. ฌานุเบกขา อุเบกขาในฌาน
  10. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก


๑. อธิบาย ฉฬังคุเปกขา

ในอุเบกขา ๑๐ ประการนั้น อุเบกขาของพระขีณาสพอันใด คืออาการที่ไม่ละปกติ ภาวะอันบริสุทธิ์ ในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ดีใจ ย่อมไม่เสียใจ เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฉฬังคุเปกขา

 

๒. อธิบาย พรหมวิหารุเปกขา

อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปทางทิศหนึ่งอยู่ อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเปกขา

 

๓. อธิบาย โพชฌังคุเปกขา

อุเบกขาอันใด คืออาการอันเป็นกลาง ๆ ในสหชาตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมยังอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยนิพพานให้เกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า โพชฌังคุเปกขา

 

๔. อธิบาย วีริยุเปกขา

อุเบกขาอันใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และที่ไม่หย่อนยานเกินไป ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้โยคีบุคคล ย่อมมนสิการถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาลโดยกาล อุเบกขานี้ชื่อว่า วีริยุเปกขา

 

๕. อธิบาย สังขารุเปกขา

อุเบกขาอันใด ที่พิจารณาข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้นโดยสภาวะแล้วจึงลงความเห็น ซึ่งมีอาการเป็นกลาง ๆ ในการยึดถือสังขาร อันมาแล้วอย่างนี้ว่า สังขารุเปกขา ทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอํานาจแห่งสมถะมีเท่าไร? สังขารุเปกขาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอํานาจมีวิปัสสนามีเท่าไร? สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอํานาจสมถะมี ๘ สังขารุเปกขาเกิดขึ้นด้วยอํานาจวิปัสสนามี ๑๐ อุเบกขานี้ชื่อว่า สังขารุเปกขา

 

๖. อธิบาย เวทนุเปกขา

อุเบกขาอันใด ที่รู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข (คือเฉย ๆ) ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยใดกามาวจรกุสลจิตอันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนุเปกขา

 

๗. อธิบาย วิปัสสนุเปกขา

อุเบกขาอันใด คือความเป็นกลาง ๆ ในการพิจารณา ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า ขันธ์ ๕ ใดมีอยู่ ขันธ์ ๕ ใดปรากฏชัด โยคีบุคคลย่อมละขันธ์ ๕ นั้น ย่อมได้ อุเบกขาในขันธ์ ๕ นั้น อุเบกขานี่ชื่อว่า วิปัสสนุเปกขา

 

๘. อธิบาย ตัตรมัชฌัตตุเปกขา

อุเบกขาอันใด ที่ยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปเสมอกัน ซึ่งมาแล้วในเยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา

 

๙. อธิบาย ฌานุเปกขา

อุเบกขาอันใด ที่ไม่ให้เกิดความเอนเอียงไปในฝ่าย แม้ในฝ่ายสุขอันเลิศนั้นก็ตาม ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า และเป็นผู้มีสัมปชัญญะเห็นเสมอกันอยู่ อุเบกขานี้ ชื่อว่า ฌานุเปกขา

 

๑๐. อธิบาย ปาริสุทธุเปกขา

แหละอุเบกขาอันใดที่บริสุทธิ์จากข้าศึกทั้งปวงมีนิวรณ์และวิตกวิจารเป็นต้น มีอันไม่ขวนขวายแม้ในการสงบแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกเหล่านั้นสงบไปแล้ว ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า จตุตถฌาน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธุเปกขา

 


พิมพ์