อัตตาตัวตน คือ เหตุแห่งทุกข์ และทำความเข้าใจกฎธรรมชาติ ไตรลักษณ์

อัตตาตัวตน คือ เหตุแห่งทุกข์ และทำความเข้าใจกฎธรรมชาติ ไตรลักษณ์

สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

อวิชชา คือ ความไม่รู้จริงของจิตหรือธาตุรู้ ซึ่งมีสภาพรู้ เมื่อธาตุรู้หลงปรุงแต่งหรือจิตตสังขาร ทำให้คิดเป็นตัวเป็นตนเป็นตัวเราขึ้นมา เมื่อมีตัวตนแล้วจึงทำให้เกิดกิเลส

กิเลส หมายถึง สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ปรุงแต่งจิตตสังขาร ความคิดนึกต่างๆ ด้วยความไม่รู้จริง เมื่อเกิดกิเลสแล้วจึงทำให้เกิดตัณหา

ตัณหา หมายถึง ความติดใจอยาก ความยินดี ยินร้าย หรือติดในรสอร่อยของโลก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ และ ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติประมาท ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดังนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อตัณหาไม่ได้ เมื่อเกิดตัณหาแล้วจึงทำให้เกิดอุปาทาน

อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น"ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น"ของตน" หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น "ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด ๔ อย่างนี้ว่าเป็น "ของเรา" เมื่อมีอุปทานแล้วจึงมีภพชาติวนเวียนว่ายตายเกิดไม่จบไม่สิ้น เป็นทุกข์ชั่วนิรันดร์

ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง

อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์

ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์

อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ไม่มีอำนาจกำลังอะไร ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ มากมายจึงมีขึ้นได้

ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดา หรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

เมื่อเราปฏิบัติขัดเกล้าจิตใจจนรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ แล้ว เห็นทุกสรรพสิ่งเป็น อนัตตา ไร้ซึ่งตัวตน จึงพ้นทุกข์ทั้งปวง


พิมพ์