หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

คำสอนพระอริยเจ้า

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ” เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกาย เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)

ปฐมวัย

พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในครอบครัวของชาวนาซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี บิดาชื่อ นายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อนางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน ๕ คน

ก่อนที่พระราชพรหมยานจะเกิดนั้น มารดาของท่านฝันว่า เห็นพระพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งมีฐานะเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า "พรหม" และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน" ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า "เล็ก" ส่วนท่านมารดาและพี่ ๆ น้องๆ เรียกว่า "พ่อกลาง"

อุปสมบท

พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๒๐ ปี อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่พัทธสีมาวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบางนมโคเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค เป็นพระอนุสาวนาจารย์

คำสั่งพระอุปัชฌาย์ ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ (ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า "๓ องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน ๒ องค์นี้พอครบ ๑๐ พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ ๒๐ พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ"

คุณวิเศษส่วนองค์และต่อส่วนรวม

  1. เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก
  2. ทรงอภิญญาสมาบัติและปฏิสัมภิทาญาณ
  3. ทรงเถรธรรม ประกอบด้วย รัตตัญญู (รู้ราตรีนาน), สีลวา (มีศีล), พหุสสุตะ (ทรงความรู้ได้ฟังมาก), สวาคตะปาฏิโมกขะ (วินิจฉัยพระวินัยได้ดี), อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ (ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น), ธัมมกามะ (ใคร่ในธรรม), สันตุฏฐะ (สันโดษ), ปาสาทิกะ (น่าเลื่อมใส), ฌานลาภี (คล่องในฌาน) และ อนาสวเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวกิเลส)
  4. รู้แจ้งในไตรภูมิ
  5. เป็นที่รักของพระ พรหม เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง
  6. สอนคนให้เข้าใจถึงพระนิพพานได้จริง ตามมาตรฐานการปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนาครบถ้วนทั้ง ๔ หมวด อันได้แก่
    1. สุกขวิปัสสโก ปฏิบัติธรรมแบบเรียบ ๆ มีมรรคมีผล แต่ไม่มีความรู้พิเศษ
    2. เตวิชโช หรือเรียกว่า วิชชา ๓ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือ ทิพจักขุญาณ รู้ว่าคนเกิดมาจากไหน ตายไปไหน เป็นต้น มีญาณ ๘ ประการ
    3. ฉฬภิญโญ หรือเรียกว่า อภิญญา ๖ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือแสดงฤทธิ์ได้ ๕ อย่าง หากหมดกิเลสด้วยจะเรียกว่าได้อภิญญา ๖
    4. ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือเรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษครอบคลุมทั้ง ๓ หมวดแรก ปฏิสัมภิทาญาณนั้นคือ ทรงพระไตรปิฎก (แตกฉานในเหตุและผล), รู้ภาษาคนทุกภาษาและภาษาสัตว์ทุกชนิด และคล่องแคล่วในการสอนธรรม (ขยายความให้เข้าใจก็ได้ ย่อความให้เข้าใจก็ได้)

คำกล่าวที่จารึกในแผ่นทองซึ่งบรรจุใต้แท่นพระประธาน เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๙ ในแผ่นทองได้จารึกไว้ดังนี้ เราพระมหาวีระ มีพระราชานามว่า ภูมิพล เป็นผู้อุปถัมถ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปแล้ว ๒๗๐๐ ปีปลาย จะมีพระเจ้าธรรมิกราช นามว่า ศิริธรรมราชา สืบเชื้อสายมาจากเชียงแสนและสุโขทัย ร่วมกับพระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้ สืบพระศาสนาต่อไป คณะของเราขอโมทนา แต่อยู่ช่วยไม่ได้ เพราะไปพระนิพพานหมดแล้ว

อีกทั้งท่านยังได้ตั้งสัตยาธิษฐานฝากลูกหลานของท่านไว้ดังนี้ ฉันขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหมดและพระพรหม และเทพเจ้าทั้งหมด ขอทุกท่านจงกำหนดจิต จดจำลูกหลานของฉันไว้ ว่าบุคคลใดก็ตาม เมื่อเวลาจะตายขอให้สติสัมปัชัญญะสมบูรณ์ มีจิตน้อมไปในกุศลกรรม และขอให้ได้รับผลที่ฉันได้ทำไปแล้วทุกประการแก่ลูกหลานของฉันทุกคน เวลานี้ฉันมองดูแล้วนะ ตรวจดูแล้ว สิ่งที่ฉันต้องการมันสมใจนึกแล้ว ฉันมีความอิ่มใจบอกไม่ถูก ปลื้มใจที่ความปรารถนาสมหวัง ที่ฉันตั้งใจไว้นาน ปรารถนาไว้นานคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่เวลานี้ทำได้แล้ว ลูกหลานของฉันทุกคน มีศรัทธาเป็นอจลศรัทธาแล้ว มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความดีพอสมควรแล้ว อุโบสถหลังใหม่นี้ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศมาลาของสมเด็จพระ พุทธพรมงคล พระประธานในพระอุโบสถ, เททองหล่อรูปหลวงพ่อปาน และทรงตัดลูกนิมิตด้วย ในช่วงพ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๐

 

การรับเป็นศิษย์

“คนที่ต้องการเป็นศิษย์ ไม่ต้องขออนุญาต ขอให้ปฏิบัติตามนี้ อยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็รับเป็นศิษย์ คือ

  1. ศิษย์ชั้น ๓
    พยายามรักษาศีล ๕ เสมอ อาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนให้มากที่สุดที่จะทำได้ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์ชั้น ๓ คือ ศิษย์ขนาดจิ๋ว
  2. ศิษย์รุ่นกลาง มีปฏิปทาดังนี้
    มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงสมาธิเสมอตามสมควร ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์รุ่นกลาง
  3. ศิษย์เอก มีปฏิปทา ดังนี้
    1. รักษาศีล ๕ ครบถ้วนเป็นปกติ
    2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในความดีของท่าน มีอารมณ์ตั้งมั่นว่า ถ้าตายไปจากคนชาตินี้ ขอไปนิพพานจุดเดียว พยายามละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นปกติ”

 

คำสอน

อารมณ์ฌานโลกุตตระ
โลกุตตระ หมายความว่า ความเป็นพระอริยเจ้า

สำหรับพระอริยเจ้า ๒ ขั้น คือ พระโสดาบันกับพระสกิทาคา ทั้ง ๒ ท่านนี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย แล้วก็มีสมาธิเล็กน้อย แต่เป็นผู้มั่นอยู่ในศีล เป็นผู้ทรงอธิศีล

 

คำว่า อธิ นี่แปลว่า ยิ่ง หรือว่า ใหญ่ หรือว่าทับทรงอธิศีล ก็หมายความว่า ทรงศีลอย่างยิ่ง ที่ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด หรือ สำหรับพระโสดาบัน มีอะไรบ้าง ถ้าว่ากันตาม สังโยชน์ ก็คือ

  1. สักกายทิฏฐิ
  2. วิจิกิจฉา
  3. สีลัพพตปรามาส

พระสกิทาคามี ก็มีเท่ากัน

สำหรับปัญญาในด้านสักกายทิฏฐิ เห็นไม่ลึก ยังเห็นตื้น ๆ นั่นก็คือว่ามีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า การเกิดเป็นทุกข์ การทรงชีวิตอยู่นี่มันเป็นทุกข์ และในที่สุดชีวิตของเราก็จะต้องตาย ท่านที่เป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ลืมความตาย แต่ไม่ใช่ว่านึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกอย่างที่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามพระอานนท์ว่า

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง

พระอานนท์ ก็ตอบว่า วันละประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

ในขณะนั้นพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่า อารมณ์ของพระโสดาบันนี่ มีความคิดในด้านปัญญาแค่ว่าชีวิตนี่มันต้องตาย ยังไม่สามารถตัดขันธ์ ๕ ได้เต็มที่ ท่านจึงกล่าวว่า มีปัญญาเล็กน้อย และก็มีสมาธิไม่สูง ก็ได้แค่ปฐมฌาน

และข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา วิจิกิจฉาตัวนี้ พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันว่า มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง มีความเคารพในพระอริยสงฆ์จริง มีความมั่นคงในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ

และข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี สามารถทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์แบบ หมายความว่าไม่มีเจตนาเพื่อจะละเมิดศีล ๕ แค่ศีล ๕ เท่านั้นนะ ตามแบบสังโยชน์ท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ก็เป็นแค่ตัดสังโยชน์เบา ๆ ได้ ๓ และใช้ปัญญาเบา ๆ คือ มีความรู้สึกว่าร่างกายมันจะต้องตาย

ถ้าร่างกายของเราจะต้องตาย อบายภูมิมันมี สวรรค์มันมี พรหมมันมี ท่านก็คิดว่า ถ้าเราจะตายชาตินี้ เราก็ไม่ขอไปอบายภูมิ ถ้าจะไม่ไปอบายภูมิสิ่งที่เราจะเกาะนั่น ก็คือ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระอริยสงฆ์ ก็มั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และก็ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ เพราะว่า ถ้ามั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ อันนี้ไม่ใช่ไปอบายภูมิ นี่ว่ากันตามลักษณะของสังโยชน์

แต่ว่าในอารมณ์ของการปฏิบัติ นั่นตามหนังสือนะ อารมณ์ของการปฏิบัติก็มีความรู้สึกตามนั้นจริง แค่ว่าพอจิตของเราจะก้าวออกจากโลกียฌาน เข้าสู่โลกุตตระ เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตอนนี้จิตจะต้องเข้าสู่ โคตรภูญาณ ก่อน

คำว่า โคตรภูญาณ ก็หมายถึงว่า มีอารมณ์อยู่ในระหว่างท่ามกลางโลกียะกับโลกุตตระ ตอนนี้ก็เห็นจะไม่ต้องอธิบายมาก เพราะมันจะเผือ

เครื่องสังเกตง่าย ๆ สำหรับโคตรภูญาณ ใจของเรามีความรู้สึกว่า เราจะต้องตาย ตายเมื่อไหร่ก็เชิญ ในเมื่อเรามีที่พึ่ง คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เรามีศีล ๕ บริสุทธิ์ เราก็ไม่หนักใจในด้านที่มันจะต้องตาย เพราะ ตายอย่างน้อยเราก็ไปสวรรค์ แต่ว่าถ้าจะถึงสวรรค์อย่างเดียวแล้วกลัวลงอบายภูมิ นี่เราไม่ต้องการ

ฉะนั้น อารมณ์ของท่านที่ปฏิบัติเพื่อที่จะเข้าถึงพระโสดาบัน พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ใครจะมาพูดถึงพรหมก็ดี พูดถึงสวรรค์ก็ดี และความเป็นใหญ่ในเมืองมนุษย์ มีความใหญ่โต มีความร่ำรวยก็ดี จิตไม่พอใจ ไม่ใช่โกรธแต่ก็ไม่เต็มใจ จิตตั้งใจอย่างเดียว คือ ต้องการพระนิพพาน นี่พูดในแนวของสุขวิปัสสโก

ถ้าพูดในแนวของวิชชาสาม วิชชาสามมี ทิพจักขุญาณเป็นเบื้องต้น พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้กำลังของวิชชาสามจะเห็นพระนิพพานแจ่มใสชัดเจนมาก ถ้าจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ มองพระนิพพานเท่าไหร่ก็ไม่เห็น จะเห็นได้ก็แค่พรหม นี่เป็นเครื่องวัด

สำหรับท่านที่ได้อภิญญา ถ้ากำลังจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ ไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณ ไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณขึ้นไป สามารถ ไปถึงพระนิพพานได้ นี่เป็นเครื่องวัด ต่างกันนะ

ที่พูดเมื่อกี้นี้ เป็นแนวของสุขวิปัสสโกว่า ถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ จิตจะมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบันปัตติผล จิตรักพระนิพพานด้วย อารมณ์ธรรมดาก็มีขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา มันสะเทือนน้อย สะเทือนเหมือนกัน ยังมีความโกรธเหมือนกัน แต่มันโกรธช้าหรือไม่มันโกรธเบากว่าปกติ อันนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี

ขอเล่าแบบหยาบ ๆ นะ เพราะเวลามันจำกัด และถ้าเราจะหมุนกันไปอีกทีหนึ่ง พระโสดาบัน แต่ถ้าถึงพระโสดาบันแล้วประพฤติตัวอย่างไร อย่าลืมนะว่าพระโสดาบันมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีการแต่งงาน

ตัวอย่าง นางวิสาขา ท่านเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ ๗ ปี ในที่สุดอายุ ๑๖ ปี ท่านก็แต่งงาน พระโสดาบันก็ยังอยากรวย การแต่งงานของพระโสดาบัน ก็ยังอยู่ในขอบเขต ไม่ละเมิดศีล ๕ คือ มีมีกาเม และก็สำหรับความอยากรวยของพระโสดาบันก็รวยด้วย สัมมาอาชีวะ ไม่คดไม่โกงใคร พระโสดาบันยังมีความโกรธอยู่ ไม่ใช่ว่าจะหมดความโกรธ แต่มันเบาไปหน่อยหนึ่ง แต่ว่าโกรธก็จริงแหล่ แต่ไม่ฆ่าใครตาย ขึ้นชื่อว่าพระโสดาบันยังมีความหลงก็เพราะว่า ยังมีความรัก ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ แต่ทุกอย่างอยู่ในขอบเขตของศีล จะเห็นว่าประเดี๋ยว เอ๊ะ เห็นเขาเป็นพระโสดาบันทำไมแต่งงาน

และมาอีกท่านที่น่าคิดมาก คือ ลูกท่านมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง แค่เห็นพรานกุกกุฏมิตรมาขายเนื้อ อาศัยที่อดีตเคยเป็นสามีภรรยากันมาในกาลก่อน เห็นก็เกิดความรัก ผลที่สุดก็หนีพ่อแม่ไป ติดตามพรานออกไปอยู่ในป่าเป็นสามีภรรยากัน คนนี้ท่านเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ ๗ ปีเหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาไปถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าความรักมันเกิด ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ

  1. บุพเพสันนิวาส ถ้าบุพเพสันนิวาสนี้ เห็นเข้าแล้วมันทนไม่ไหว จะต้องแต่งงานกันแน่
  2. ความรักจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันนี้เบาหน่อย ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ไม่ต้องโดตามเขา ข้อแรกต้องโดแน่ ถ้าเขาไม่ตกลง ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นชอบ เป็นอันว่าพระโสดาบันที่ประพฤติตัวจริง ๆ คือ
    1. ยังมีการครองเรือนแต่งงานกัน มีลูกมีเต้าเหมือนกัน
    2. พระโสดาบันก็ยังอยากรวย ทุก ๆ อย่างอยู่ในขอบเขตของศีล
    3. พระโสดาบันก็ยังมีความโกรธ แต่โกรธช้า กำลังเบา

พระโสดาบันยังมีความหลง ถ้าพูดให้ย่อลงมาอีกนิดเพื่อความเข้าใจง่าย เมื่อถึงพระโสดาบันแล้วอารมณ์อย่างนี้จะทรงตัว คือ

  1. ไม่เคยประมาทในชีวิต มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันจะต้องตาย แต่ก็ไม่ได้คิดทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ลืมคิดว่าถ้าจะตายเราไม่ยอมไปอบายภูมิ จุดที่เราจะไปมีจุดเดียว คือ พระนิพพาน
  2. พระโสดาบันเคารพในพระพุทธเจ้าจริง เคารพในพระธรรมจริง เคารพในพระสงฆ์จริง
  3. พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์
  4. พระโสดาบันมีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ 

จำไว้นะเท่านี้นะและจำไว้ว่าพระโสดาบันยังครองเรือน

สำหรับกำลังของ พระสกิทาคามี ก็มีอารมณ์เบาไปกว่าพระโสดาบันลงไปอีกนิดหนึ่ง คือว่า เรื่องของความรัก ก็ยังมีความรักอยู่ รู้สึกว่า มันเนือยลงไปมาก มันเบาไปมาก ความโกรธหรือความอยากรวยก็บรรเทาลงไปเยอะ ถ้าพูดถึงความหลง ก็เบาลงไปด้วย มีสภาพเหมือนกันกับพระโสดาบัน แต่มันเบากว่า

ต่อมาก็จุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ก็คือ พระอนาคามี สำหรับพระอนาคามี มีจุดสังเกตที่ง่าย ๆ อยู่จุดหนึ่ง จุดที่เราจะสังเกตง่ายที่สุดคือว่า จิตใจของบุคคลใดถ้าก้าวเข้าไปสู่ในเขตของพระอนาคามี จิตของพวกนั้นมีความต้องการศีล ๘ และมีการรักษาศีล ๘ เป็นปกติ

นี่เป็นก้าวแรกของพระอนาคามี และเราจะรู้ตัวได้เลยว่า จิตมันจะพอใจในศีล ๘ เป็นปกติ ใครเขาจะมาแนะนำว่า ใครรักษาศีล ๘ อดข้าวหนึ่งเวลา ทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์ พวกนี้ไม่ยอมรับฟัง มีความพอใจในศีล ๘ และทรงศีล ๘ ได้เป็นปกติ นี่ถือว่าก้าวเข้าเขตของพระอนาคามี

 

สำหรับพระอนาคามี พระพุทธเจ้าตรัสว่า จะต้องทรงอธิจิต คือ หมายความว่า จะต้องทรงจิตถึงฌาน ๔

การเดินมาจากพระโสดาบัน สกิทาคา จะเป็นพระอนาคามีนี่เป็นของไม่หนัก เพราะว่าจิตมันทรงตัวแล้ว เรื่องฌาน ๔ เป็นของไม่ยาก สำหรับท่านที่ฝึกมโนมยิทธิ ได้แล้ว นั่นแหละฌาน ๔ ที่ไปโน่นไปนี่ได้น่ะ ไปด้วยกำลังของฌาน ๔ ซึ่งเป็นของไม่หนัก เมื่อจิตทรงถึงฌาน ๔ แล้ว พระอนาคามีต้องตัดกิเลส อีก ๒ ตัว ตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ

  1. กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย ความสัมผัสระหว่างเพศ และรวมความว่าการครองคู่อยู่ด้วยกันในฐานะสามี ภรรยา
  2. ความโกรธ ความพยาบาท ถ้าหากการก้าวเข้ามาจากพระโสดาบัน สกิทาคา ก็เป็นของไม่ยาก เพราะตอนเป็นพระสกิทาคามี ความโกรธมันเบาบางมาก ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จิตมันให้อภัยเร็ว ที่ เรียกว่า อภัยทาน

นี่เครื่องสังเกตของพระอนาคามี

ถ้าจิตเข้าถึงพระสกิทาคามี ใครเขาทำอะไรให้ไม่ชอบใจ มันไม่ชอบใจเหมือนกัน แต่เกิดช้า โกรธช้า แล้วหายเร็ว ถ้าหายแล้วไม่ผูกพันในด้านของความโกรธ ให้อภัยแก่บุคคลผู้ผิด จิตมันเบาบางมาถึงขนาดนี้แล้ว การก้าวเข้าหาพระอนาคามีก็เป็นของไม่ยาก พระอนาคามีนี่ต้องใช้สมถะและวิปัสสนาควบถึง ๒ จุด คือ

๑.ตอนตัดกามฉันทะ ต้องใช้อสุภกรรมฐานและกายคตานุสสติกรรมฐาน พิจารณาว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันแสนจะสกปรกภายในร่างกายหาอะไรดีไม่ได้เลย ดูก็แล้วกันว่ามันมีอุจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ดูตัวเราไม่ต้องดูชาวบ้าน ถ้าไม่เห็นตัวเราชัดก็น้อมจับวิปัสสนาญาณตัวสำคัญเข้ามาคือ สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ ก็มามองดูร่างกายนี้ นอกจากมันจะสกปรกแล้ว จับร่างกายเป็นอาการ ๓๒ เป็น กายคตานุสสติกรรมฐาน เห็นร่างกายสกปรกเป็นอสุภะกรรมฐาน

ต่อนั้นไปก็จับวิปัสสนาญาณ คือ สักกายทิฏฐิ ได้ตัวร่างกายมันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครกแบบนี้ มันมีสภาพไม่เที่ยง มีอาการไม่ทรงตัว ความจริงนี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ ถ้ามันเป็นของเราจริง เป็นเราจริง มันก็ไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย

แต่ว่ามันสกปรกก็ไม่พอ เลี้ยงดูมันเท่าไรมันก็ไม่เที่ยง กินเท่าไหร่มันก็ไม่อิ่ม ในที่สุดมันก็พัง เป็นอันว่าร่างกายสกปรกด้วย เสื่อมโทรมลงทุกวัน แล้วมันก็พังด้วย ร่างกายของเรามีสภาพน่าเกลียดอย่างนี้ ร่างกายของบุคคลอื่นก็มีสภาพน่าเกลียดเหมือนร่างกายเรา นี่ความปรารถนาในร่างกายซึ่งกันและกัน จะหามาเพื่อประโยชน์อะไร

ตอนนี้ใจมันก็เบื่อ อารมณ์มันก็ตัด ตัดไปเลย คือ ไม่พอใจในกามารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด อันนี้ต้องควบกันนะ

๒. พระอนาคามีไม่มีความโกรธ ตัวนี้มันก็เบามาจากพระสกิทาคามีแล้ว แต่ว่าเพื่อความไม่ประมาทก็ใช้อารมณ์ควบคือ อารมณ์จิตทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ จิตคิดให้อภัยแก่บุคคลผู้มีความผิด จิตอีกดวงหนึ่งก็มาคิดว่า ชีวิตนี้ของเราก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี มันไม่ทรงตัว ไม่ช้ามันก็ตาย ความโกรธเป็นไฟเผาผลาญความดีของจิต ถ้าเราคิดว่าจะโกรธ ประโยชน์ของความโกรธนี่มันไม่มีเลย มันมีแต่โทษ จะทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

การโกรธเขาทำอย่างไร เขาต้องแก้กัน เขาก็ต้องประหัตประหารกัน เพื่อให้คนอื่นมีความทุกข์ หรือว่าคนอื่นตาย แต่ว่าความจริงความทุกข์ของคนทั้งหลายมันมีอยู่แล้ว เราจะทำเพื่ออะไร

อีกประการหนึ่ง ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ที่เราไม่ชอบใจจะทำร้าย มันก็มีการสลายตัวเป็นปกติ เป็นอันว่าขึ้นชื่อว่า ความโกรธประเภทนี้ไม่มีความดี มันต้องไม่มีในกำลังจิตของเรา จิตใจของท่านผู้นั้นจะค่อย ๆ คลาย เพราะว่ามีความรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ดี มีสภาพไม่เที่ยง เกิดขึ้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และปัญญามันก็เกิดมาก มีความรู้สึกว่า ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายของเขาก็ไม่มีเหมือนกัน

เพราะร่างกายมันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม เมื่อสภาวะมันมีอย่างนี้ จะนั่งโกรธเพื่อประโยชน์อะไร โกรธทำให้ใจเร่าร้อน แต่ความเป็นมิตรกัน คือ รักกัน มันทำให้จิตเป็นสุข มีความสงสารซึ่งกันและกัน มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นมิตร ทำให้ใจเป็นสุข

ประการที่สาม การไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นคนอื่นเขาได้ดีพลอยยินดีด้วย และปฏิบัติตามเขาเพื่อความดีของเรา อันนี้ทำให้จิตเป็นสุข

ประการที่สี่ ถ้าบุคคลเพลี่ยงพล้ำลงไปเราก็ไม่ซ้ำเติม ถ้าหากโอกาสจะพึงมี เราจะเข้าประคับประคองให้เขามีความสุข สร้างความเป็นมิตร นี่เพื่อปัจจัยของความสุข เราทำอย่างนี้ดีกว่า

เมื่อจิตมันทรงอารมณ์จริง ๆ ความโกรธมันก็สลาย มีตัวเมตตาเข้ามาแทน ในเมื่อกำลังใจตัดความรักในระหว่างเพศได้ พระอนาคามีเป็นเครื่องสังเกตไม่ยาก ก้าวแรกที่จะเข้ามาถึง นั่นคือ ศีล ๘

และก้าวที่สองที่เข้ามาถึง ก้าวนี้ต้องดูก่อน ไม่แน่ว่าใครจะถนัดขนาดไหน บางคนก็หันมาตัดโทสะก่อน บางคนก็หันไปตัดราคะก่อน ในด้านราคะให้สังเกตดูว่าความรู้สึกระหว่างเพศไม่มีเลยสำหรับพระอนาคามี และต่อมาเรื่องของความโกรธ จริง ๆ มันก็ไม่มีอีกนั่นแหละ แต่การแสดงว่าจะโกรธมันมีอยู่ อย่างคนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ที่เราปกครองคน ถ้าบุคคลประเภทนั้น ถ้าเขาทำความผิดนอกคำสั่ง เห็นว่าจะเสียถ้าเตือนดี ๆ ไม่รับฟัง ก็แสดงท่าเหมือนโกรธ ถ้าขืนทำอย่างนี้จะลงโทษให้สาหัส ถ้าขืนทำจริง ๆ ก็จะต้องลงโทษตามระเบียบวินัยตามกฎข้อบังคับที่วางไว้ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นอารมณ์โกรธ

อย่างที่พระพุทธเจ้าลงโทษพระ พระพุทธเจ้าอย่าลืมว่าท่านเป็นพระอรหันต์นะ แต่มีสิกขาบทลงโทษพระไว้ตั้ง ๓๐๐ กว่าสิกขาบท นี่จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าโกรธพระหรือ ความจริงไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นมันเลว ท่านยับยั้งไม่ให้ทำความเลวต่อไป ก่อนจบ ก็ขอให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายพยายามสังเกตกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า เวลานี้กำลังใจของท่านถึงไหน และถ้ามันยังไม่ถึง จุดไหนบ้างที่เราควรจะทำ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่ได้มโนมยิทธิ เวลาจะก้าวเข้าสู่พระนิพพาน พยายามตัดขันธ์ ๕ ให้เด็ดขาด ไม่สนใจกับความรัก ไม่สนใจกับความโกรธ ไม่สนใจกับความโลภ ไม่สนใจกับวัตถุธาตุใด ๆ ทำอารมณ์ใจให้ผ่องใส แล้วพยายามขึ้นไปบนพระนิพพาน อารมณ์ตอนนั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ แต่เราอาจจะไม่เป็นอรหันต์ แต่ว่าเป็นอรหันต์เฉพาะจุดในเวลานั้น

แต่ก็ยังดี ถ้ามันเป็นทุก ๆ วัน ไม่ช้ามันจะชิน ถ้ามันชินมันก็เกาะติด ถ้าหากจะถามว่า อารมณ์ใจเมื่อเข้าถึงอนาคามี อารมณ์ยังกระสับกระส่ายอยู่ไหม ขอบอกว่ายังมีอยู่ การเจริญสมาธิจิต ตัวแทรกก็ยังมีอยู่ อารมณ์ที่แทรกเข้ามามันเป็นอารมณ์ของกุศลอย่างเดียว อกุศลไม่มี

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เที่ยวนี้ก็พูดถึงอารมณ์ของการปฏิบัติแต่โดยย่อ ขอให้ทุกท่านจงจำไว้ จะได้เป็นกำลังใจหรือเป็นบันไดแห่งการปฏิบัติ หากท่านสงสัยก็ทบทวนดูใหม่ให้เข้าใจ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาพุทธบริษัททุกท่าน สวัสดี


พิมพ์